'CENTEL' ตีปีกท่องเที่ยวฟื้น Q1/66 กำไร 629 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่โควิดระบาด

'CENTEL' ตีปีกท่องเที่ยวฟื้น Q1/66 กำไร 629 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่โควิดระบาด

‘CENTEL’ เผยไตรมาส 1/2566 ทำกำไร 629 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เริ่มโควิด พลิกฟื้นชัดเจนทั้งแบบ YOY และเติบโตต่อเนื่อง QOQ ได้รับปัจจัยบวกจากนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/2566 มีรายได้รวม 5,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 1,672 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากไตรมาส 1/2565 โดยเปอร์เซ็นต์ EBITDA Margin อยู่ที่ 29% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการดำเนินงานธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรงแรมในประเทศไทยตามแหล่งท่องเที่ยวหลักซึ่งมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 629 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2566 จากขาดทุนสุทธิ 44 ล้านบาทในไตรมาส 1/2565

“แม้ว่าการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นในปี 2566 จากปัจจัยบวกหลายด้านรวมถึงการเข้ามาของนักท่องเที่ยวประเทศจีนที่เร็วกว่าคาด อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยยังคงมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนเที่ยวบินที่ยังต่ำกว่าปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถฟื้นตัวแบบก้าวกระโดดได้ในไตรมาส 1/2566 คาดว่าจำนวนเที่ยวบินจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้”

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมยังคงมีความท้าทาย ทั้งในเรื่องจำนวนเที่ยวบิน ต้นทุนค่าเดินทางที่สูงขึ้น สถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอย บริษัทจึงยังคงดำเนินแผนธุรกิจและควบคุมต้นทุนทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแผนการจ่ายคืนเงินต้นก่อนกำหนดสำหรับเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าสกุลบาทเพื่อลดผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยรวม รวมถึงมีแผนการออกหุ้นกู้เพื่อเพิ่มสัดส่วนอัตราดอกเบี้ยคงที่แทนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 คาดว่าจะมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมเป็นสำคัญ สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ธุรกิจอาหารได้เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ปีที่ผ่าน ทั้งนี้คาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ย (รวมโรงแรมร่วมทุน) 68% - 72% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) อยู่ที่ 3,350 – 3,650 บาท โดยการเติบโตของ RevPar มาจากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรงแรมในประเทศไทยเป็นสำคัญ

'CENTEL' ตีปีกท่องเที่ยวฟื้น Q1/66 กำไร 629 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่โควิดระบาด

ขณะที่ธุรกิจอาหาร ประมาณการอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) ไม่รวมกิจการร่วมค้าเติบโต 7% - 9% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 13% - 15% เทียบปีที่ผ่านมา สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทฯ คาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิรวมแบรนด์ร่วมทุน ประมาณ 120-150 สาขา (รวมสาขา shop-in-shop อาริกาโตะในมิสเตอร์โดนัท) เทียบกับปี 2565 โดยแบรนด์ที่เน้นการขยายสาขาเพิ่มได้แก่ เค เอฟ ซี,  อานตี้ แอนส์, สลัดแฟคทอรี, ส้มตำนัว และ ชินคันเซ็น ซูชิ 

'CENTEL' ตีปีกท่องเที่ยวฟื้น Q1/66 กำไร 629 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่โควิดระบาด

ทั้งนี้บริษัท ได้ให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้เป้าหมายระยะยาว 2563-2572 ลดการใช้พลังงาน การใช้น้ำ ของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 20 จากปีฐาน 2562

โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นสมาร์ทโฮเทล (Smart Hotel) มุ่งเน้นการลดการใช้พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการติดตั้งระบบทำน้ำร้อนแบบประหยัดพลังงานสำหรับสระจากุสซี่ ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานจากเดิม 2-3 เท่า, โครงการติดตั้ง Chiller optimizer ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 10%-15 % เป็นต้น และในปี 2565 โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา 12 แห่งพร้อมสำนักงานใหญ่ผ่านการประเมินและตรวจสอบมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกประเภทโรงแรมจาก Vireo SLR หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบที่ผ่านการรับรองจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราทุกแห่งจะต้องผ่านการรับรองจาก GSTC

 

 

ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566

 

ธุรกิจโรงแรม: ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 114% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4,187 บาท จากการเพิ่มของอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (OCC) จาก 35% ในไตรมาส 1/2565 เป็น 78% ในไตรมาส 1/2566 ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) ลดลง 5% เทียบปีก่อน อยู่ที่ 5,380  บาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรายได้โรงแรมในประเทศไทยซึ่งมีราคาห้องพักเฉลี่ยต่ำกว่าโรงแรมต่างประเทศ จึงทำให้ราคาห้องพักเฉลี่ยรวมลดลงเพราะคำนวณด้วยวิธีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average)

ไตรมาส 1/2566 ธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,832 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 127% จากปีก่อน โดยมีกำไรขั้นต้นจำนวน 1,648  ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 162% และมี EBITDA จำนวน 1,122 ล้านบาท โดย % EBITDA Margin ที่ 40% เพิ่มขึ้นเทียบปีก่อน (ไตรมาส 1/2565: 26%) ธุรกิจโรงแรม มีกำไรสุทธิ 538 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 149 ล้านบาท

 

ธุรกิจอาหาร: มีการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม (%SSS) 8% และภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS) อยู่ที่ 15% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2566 มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,599 สาขา เพิ่มขึ้น 201 สาขา (กรณีรวมบริษัทร่วมทุน)  เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 1/2565 รายได้จากธุรกิจอาหารรวม 3,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เทียบปีก่อน มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย  ดอกเบี้ยจ่าย  และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 550 ล้านบาท ลดลง 12% เทียบกับปีก่อน โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) อยู่ที่ 18% ลดลงเทียบปีก่อน (ไตรมาส 1/2565: 24%)  และมีกำไรสุทธิ 91 ล้านบาท ลดลง 14 ล้านบาท หรือลดลง 13% จากอัตราการทำกำไรที่ปรับตัวลงเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน