จับตา 'กกพ.' ถกปม กฟภ. รับซื้อไฟเอกชน 11.80 บาท หวั่นประชาชนจ่าย 'ค่าไฟแพง'

จับตา 'กกพ.' ถกปม กฟภ. รับซื้อไฟเอกชน 11.80 บาท  หวั่นประชาชนจ่าย 'ค่าไฟแพง'

จับตา บอร์ด 'กกพ.' ถกปม กฟภ. รับซื้อไฟเอกชนแพงถึงหน่วยละ 11.80 บาท ภายหลังแพ้คดีในศาล ทั้งที่ขายเข้าระบบได้แค่ 3.80 บาท หวั่นประชาชนแบกภาระค่าไฟแพง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ดกกพ.) วันที่ 3 พ.ค. 2566 มีวาระที่ต้องตับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวาระที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้เสนอให้บอร์ดกกพ. พิจารณากรณีให้ใบอนุญาตบริษัทแห่งหนึ่ง ที่สร้างโซลาร์ฟาร์มตั้งแต่ปี 2552 เกือบ 1 เมกกะวัตต์ มีราคารับซื้อสูงถึงหน่วยละ11.80บาท แบ่งเป็นราคารับซื้อไฟฟ้าเป็นอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) หน่วยละ 8 บาทรวมค่าไฟฟ้าขายส่งอีกหน่วยละ 3.80บาท เป็นระยะเวลา10ปี 

ทั้งนี้ เนื่องจากราคาดังกล่าวถือเป็นราคารับซื้อที่สูงมาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่กฟภ. ขายส่งหน่วยละ 3.80บาท และราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่หน่วยละ 2.16 บาท รวมทั้ง ขณะนี้เป็นช่วงนี้ที่ประชาชนร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าแพงอย่างหนัก หากมีการอนุมัติ จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงมาก คือ ซื้อหน่วยละ 11.80บาท แต่นำมาขายเข้าระบบได้แค่ 3.80บาท เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการรับซื้อไฟสูงถึงหน่วยละ11.80บาทนี้ เกิดจากข้อพิพาทระหว่างกฟภ. กับเอกชนรายหนึ่ง หลังจากกฟภ.ได้ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแอดเดอร์ 8 บาท เป็นเวลา10ปี แบ่งเป็นสัญญา 5 ปี ต่อสัญญาอัตโนมัติอีก 5 ปี ซึ่งเอกชนรายนี้ต้องขายไฟให้กฟภ.ในปี 2553 แต่เมื่อใกล้ครบกำหนดกฟภ. ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าเอกชนยังไม่ได้ก่อสร้างใด ๆ จึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้เร่งสร้างจนครบกำหนดก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ 

"ตามสัญญาเอกชนรายนี้จะต้องขายไฟให้กับ กฟภ.ปี 2553 แต่ก็ไม่มีการก่อสร้างอะไรเลย ต่อมาในปี 2555 ทางคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจึงมีมติให้กฟภ.ยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้ตามสัญญา จากนั้นกฟภ.มีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญากับเอกชนรายนี้ไป”

ทั้งนี้ ในปี 2560 เอกชนรายนี้ได้ยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการว่ากฟภ.แจ้งยกเลิกสัญญามิชอบ เนื่องจากกฟภ.ส่งหนังสือแจ้งเลิกสัญญาไปยังบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งตามสัญญาระบุว่าการยกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือมายังบริษัทฯ ดังนั้นเมื่อบริษัทฯ ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งยกเลิกเท่ากับว่า ยังไม่มีการยกเลิกสัญญาและในสัญญาระบุว่า หากบริษัทไม่ได้ดำเนินการตามสัญญากฟภ.ต้องมีหนังสือแจ้งเตือน โดยให้แก้ไขตามเวลาที่กำหนดเมื่อครบกำหนดแล้วบริษัทยังไม่ได้แก้ไขถึงจะมีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญา

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 อนุญาตโตตุลาการวินิจฉัยให้กฟภ.ต้องรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนแห่งนี้ เพราะการยกเลิกสัญญามิชอบ ไม่ได้แจ้งยกเลิกสัญญาเป็นหนังสือส่งให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง ไปส่งให้คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องแทนและไม่ได้เตือนให้แก้ไขตามกำหนดเวลาเมื่อไม่ได้แก้ไขถึงจะยกเลิกสัญญาแต่อนุญาโตฯ ให้กฟภ.รับซื้อไฟฟ้าในราคาเดียวกับรายอื่นที่ขายให้กฟภ.ในราคาปี 2562 คือ ราคาขายส่งหน่วยละ 3.80บาท และราคาพลังงานหมุนเวียนหน่วยละ 2.16บาท 

"มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด กฟภ.ไม่นำประเด็นคดีขาดอายุความมาต่อสู้ และยังมีประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายหลายข้อมาต่อสู้ได้ เช่น กำหนดเวลาแก้ไข15วันหรือ30วัน แต่กฟภ.ยืดให้เป็นเวลา12เดือนทำให้เอกชนติดตั้งโซล่าฟาร์มได้ทันเวลา"