คลังห่วง ‘ประชานิยม’ ใช้เงินเกินงบประมาณ

หากพรรคการเมืองใดได้เข้ามาเป็นรัฐบาล การจะใช้งบประมาณเพื่อจ่ายตามนโยบายที่หาเสียงไว้ คงไม่สามารถทำได้ภายในปีงบประมาณ 66 ที่จะสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนกันยายน นี้แล้ว ซึ่งรัฐบาลใหม่ อาจจะต้องใช้จ่ายตามรายการในงบประมาณปี 66 ไปก่อนราว 3 เดือน

ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. พรชัย ฐีระเวช กล่าวถึงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ระบุว่า หากพรรคการเมืองใดได้เข้ามาเป็นรัฐบาล การจะใช้งบประมาณเพื่อจ่ายตามนโยบายที่หาเสียงไว้ คงไม่สามารถทำได้ภายในปีงบประมาณ 66 ที่จะสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนกันยายน นี้แล้ว ซึ่งรัฐบาลใหม่ อาจจะต้องใช้จ่ายตามรายการในงบประมาณปี 66 ไปก่อนราว 3 เดือน ก่อนที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้นการใช้จ่ายตามนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาล จึงไม่ทันภายในปีงบประมาณนี้

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อย่างแรกต้องทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จากการหารือกับสำนักงบประมาณ ตามแผนการคลังระยะปานกลางที่ใช้ในปี 2566-2570 มีการกำหนดงบรายจ่ายประจำปี 2567 ไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งกำหนดสัดส่วนใช้จ่ายงบประจำ งบลงทุนไว้หมดแล้ว เท่าที่ติดตามข่าวนโยบายพรรคการเมือง มีหลายโครงการ ใช้งบประมาณอยู่หลายแสนล้านบาท ค่อนข้างจะเกินจากรายจ่ายที่กำหนดเอาไว้ ดังนั้นต้องดูว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่ เมื่อแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร ต้องดูว่าจะใช้งบประมาณจากแหล่งใด ต้องมีการปรับแผนการคลังหรือไม่

กระทรวงการคลัง ได้กำหนดเป้าหมายการคลังระยะปานกลางในช่วงปี 2566-2570 โดยเป้าหมายลดการขาดดุลต่อจีดีพีลงมาให้ไม่เกิน 3% ของ GDP ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยคาดว่าปีงบประมาณ 2567 จะคาดดุลที่ 3% ของจีดีพี ปี 2568 ขาดดุล 2.84% ปี 2569 ขาดดุล 2.81% และปี 2570 ขาดดุล 2.79%

การกำหนดให้รัฐบาลขาดดุลไม่เกิน 3% ของจีดีพีนั้น ถือเป็นหลักสากลที่หลายประเทศใช้ เนื่องจากในช่วงโควิดรัฐบาลมีการใช้จ่ายงบประมาณสูง ทำให้เกิดภาระการคลัง จำเป็นต้องลดภาระทางการคลังในอนาคต ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด รัฐบาลไทยได้กู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจรวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นภาระทางการคลังของรัฐบาล ที่จะต้องหารายได้มาชำระหนี้เหล่านั้น ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม ก็ควรคำนึงถึงประสิทธิภาพของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นภาระของคนรุ่นหลัง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์