ส่องนโยบายประชานิยม – สวัสดิการ นโยบายไหน – พรรคการเมืองใดใช้เงินมากที่สุด

ส่องนโยบายประชานิยม – สวัสดิการ  นโยบายไหน – พรรคการเมืองใดใช้เงินมากที่สุด

เปิดตัวเลขงบประมาณที่ต้องใช้ในแต่ละนโยบายประชานิยม - สวัสดิการ 5 อันดับ สวัสดิการถ้วนหน้าของก้าวไกลใช้เงินมากสุด 6.5 แสนล้าน รองลงมาเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อไทย 5.5 แสนล้าน ตามด้วยเพิ่มเงินคนแก่เป็นขั้นบันไดของพลังประชารัฐ 5.2 แสนล้าน บำนาญประชาชน 3.4 แสนล้าน

 เหลือเวลาอีกเพียงประมาณ 1 เดือนเท่านั้นที่การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2566 โดยภาพรวมในการหาเสียงทั้งการเปิดตัวผู้สมัครและนโยบายนั้นคงใกล้จะครบถ้วนทั้งหมดแล้ว จากนี้ไปเป็นช่วงเวลาของการเดินหน้าลงพื้นที่หาเสียง และการตอกย้ำ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายที่ได้หาเสียงไว้

ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในแง่นโยบายของพรรคการเมืองที่ประกาศออกมามีทั้งนโนบายประชานิยม แจกเงิน รวมทั้งเพิ่มสวัสดิการ ซึ่งมีทั้งในลักษณะของการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น การให้สวัสดิการผู้สูงอายุ และการเติมเงินในบัตรสวัสดิการ หรือกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อเพิ่มกำลังการใช้จ่ายโดยหากหยิบเอาเฉพาะนโยบายที่เป็นเสมือ “ท่าไม้ตาย” ในการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองที่หวังว่าจะใช้จูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้มากางดูถึงวงเงินที่ใช้ของนโยบายดังกล่าวของแต่ละพรรคการเมืองจะต้องใช้วงเงินหลายแสนล้านบาท

 “กรุงเทพธุรกิจ” จัดอันดับ 5 นโยบายที่ใช้วงเงินในการจัดทำนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองจากมากไปน้อยเพื่อให้ผู้อ่านได้เปรียบเทียบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการติดตามนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองก่อนที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้

 อันดับ 1 นโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า ของพรรคก้าวไกล นโยบายนี้ใช้งบประมาณ 6.5 แสนล้านบาทต่อปี

ศิริกัญญา ตันสกุล  รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวว่าสวัสดิการถ้วนหน้าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือคนในแต่ละช่วงวัยครอบคลุมตั้งแต่เกิด ทำงาน สูงวัย จนถึงเสียชีวิต

ส่องนโยบายประชานิยม – สวัสดิการ  นโยบายไหน – พรรคการเมืองใดใช้เงินมากที่สุด

ที่มาของวงเงิน 6.5 แสนล้านบาทมาจาก

1.ลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพกองทัพ และเรียกคืนธุรกิจกองทัพ 5 หมื่นล้านบาท

2.ลดงบกลางฯ 3 หมื่นล้านบาท

3.ปรับลดโครงการที่ไม่จำเป็น 1 แสนล้านบาท

4.เงินปันผลที่รัฐจะได้จากรัฐวิสาหกิจเพิ่ม 1.3 หมื่นล้านบาท

5.เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินโดยเก็บจากทรัพย์สินของคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รายได้ 6 หมื่นล้านบาท

6.เก็บภาษีที่ดินรายแปลง รวมแปลง ซึ่งจะได้รายได้เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท

7.เก็บภาษีนิติบุคคลทุนใหญ่วงเงินรวม 9.2 หมื่นล้านบาท

8.ปฏิรูปสิทธิประโยชน์บีโอไอให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับ OECD คาดว่าได้เงินเข้ารัฐเพิ่มอีก 8,000 ล้านบาท

9.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีภาครัฐตั้งเป้าเพิ่มรายได้เข้ารัฐอีก 1 แสนล้านบาท และ 10.นโยบายหวยบนดินที่จะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี


ส่องนโยบายประชานิยม – สวัสดิการ  นโยบายไหน – พรรคการเมืองใดใช้เงินมากที่สุด อันดับ 2 นโยบายแจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย นโยบายนี้ใช้เงินประมาณ 5.4- 5.5 แสนล้านบาท

เศรษฐา ทวีสิน ที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัลให้คนไทยที่อายุ 16 ปีขึ้นไปใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ทั้งนี้ตัวเลขงบประมาณที่ต้องใช้ในนโยบายนี้อยู่ที่ประมาณ 5.4 – 5.5 แสนล้านบาท มาจากฐานข้อมูลประชากรของกรมการปกครอง ณ สิ้นปี 2565 ประเทศไทยมีประชากร 66,090,475 คน เป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 15 ปี 11,413,543 คน เท่ากับว่าจะเหลือประชากรที่อยู่ในเกณฑ์รับเงินดิจิทัล 10,000 บาทตามนโยบายนี้อยู่ 54,676,932 คน หรือคิดเป็นวงเงินกว่า 5.4 – 5.5 แสนล้านบาท

ที่มาของเงินที่ใช้นโยบายนี้พรรคเพื่อไทยมีการชี้แจงว่าจะมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ใหม่ ตัดงบประมาณบางส่วนจากส่วนราชการ รวมทั้งรายได้จากการเก็บภาษีที่สามารถเก็บได้เพิ่มขึ้น และเงินคงเหลือจากการที่ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการบางส่วนมาเลือกรับเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลแทนการรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น  

             

ส่องนโยบายประชานิยม – สวัสดิการ  นโยบายไหน – พรรคการเมืองใดใช้เงินมากที่สุด

อันดับ 3 นโยบายแจกเงินผู้สูงอายุ ตามขั้นบันได 3 ของพรรคพลังประชารัฐ นโยบายนี้ใช้งบประมาณ 5.2 แสนล้านบาทต่อปี

นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ถือว่าเป็นหมัดเด็ดของพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีใช้หาเสียง โดยกำหนดว่าจะเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุเป็นแบบขั้นบันได

 วิรัช รัตนเศษฐ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่านโยบายเพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยเริ่มจากอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับ 3,000 บาท อายุ 70 ปีขึ้นไปได้รับ 4,000 บาท และอายุ 80 ปีขึ้นไปได้รับ 5,000 บาท

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลประชากรไทย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า  ณ ปี 2565 ผู้สูงอายุไทย มีจำนวน 12.1 ล้านคน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งประเทศ โดยสามารถแบ่งตามกลุ่มอายุ และคำนวณตัวเลขงบประมาณที่จะใช้ในแต่ละช่วงวัยของผู้สูงอายุและคำนวณเป็นงบประมาณทั้งปีได้ ดังนี้

1.ผู้สูงอายุ 60 – 69 ปี  จำนวน 6.84 ล้านคน  ได้รับเงิน 3,000 บาทต่อเดือน ต้องใช้งบประมาณ 246,240 ล้านบาทต่อปี

2.ผู้สูงอายุ 70 – 79 ปี จำนวน 3.52 ล้านคน ได้รับเงิน 4,000 บาทต่อเดือน  ต้องใช้งบประมาณ 168,960 ล้านบาทต่อปี  

และ3.ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 1.75 ล้านคน ได้รับเงิน 5,000 บาทต่อเดือน  ต้องใช้งบประมาณ  1.05 แสนล้านบาทต่อปี  

รวมนโยบายดังกล่าวของพรรคพลังประชารัฐต้องใช้เงินประมาณ 5.202 แสนล้านบาทต่อปี

ส่องนโยบายประชานิยม – สวัสดิการ  นโยบายไหน – พรรคการเมืองใดใช้เงินมากที่สุด

อันดับ 4 นโยบายบำนาญประชาชนเดือนละ 3,000  บาท นโยบายนี้ใช้งบประมาณ 4.32 แสนล้านบาทต่อปี โดยนโยบายนี้เป็นของพรรคไทยสร้างไทย รวมทั้งมีพรรคการเมืองอื่นๆที่เสนอให้มีการให้บำนาญผู้สูงอายุที่ 3,000 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกคน

จากฐานข้อมูลประชากรไทย ณ ปี 2565 ที่มีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 12.1 ล้านคน  เมื่อคำณวนจากจำนวนผู้สูงอายุของไทยที่จะได้เงินบำนาญเดือนละ 3,000  บาทตามนโยบายนี้ จะเป็นจำนวนงบประมาณที่ต้องใช้ต่อเดือน เป็นเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นงบประมาณที่ใช้ต่อปีเป็นวงเงินทั้งสิ้น 4.32 แสนล้านบาทต่อปี

 

ส่องนโยบายประชานิยม – สวัสดิการ  นโยบายไหน – พรรคการเมืองใดใช้เงินมากที่สุด

และ อันดับที่ 5 นโยบาย บัตรสวัสดิการพลัส ของพรรครวมไทยสร้างชาติ นโยบายนี้ใช้เงินงบประมาณ 1.75 แสนล้านบาทต่อปี

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับ 2 ของพรรคชี้แจงว่า  “บัตรสวัสดิการพลัส” เป็นโครงการ “ทำต่อ” จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่แล้ว  โดยให้สิทธิเพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจัดสรรจากเงินงบประมาณที่รองรับโครงการนี้อยู่แล้ว 

ขณะเดียวกัน ผู้ถือบัตรยังมีสิทธิกู้ฉุกเฉินในวงเงิน 10,000 บาทต่อคน โดยสามารถนำบัตรนี้ไปเป็นหลักประกันเงินกู้กับธนาคารออมสินซึ่งมีโครงการให้สินเชื่อรายย่อยในวงเงิน 10,000 บาทอยู่แล้ว

ทั้งนี้หากคำนวณจากผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีการตรวจสอบสิทธิ์ในปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมาที่จำนวน 14.6 ล้านราย พบว่าหากมีการเพิ่มวงเงินการใช้จ่ายในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปเป็น 1,000 บาทต่อราย จะต้องใช้งบประมาณ 1.46 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 1.752 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมากจากวงเงินที่เคยใช้ในการใช้จ่ายในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงรัฐบาลปัจจุบันที่วงเงินอยู่ที่ประมาณ 3.4 – 4.7 หมื่นล้านบาท  

ในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครทช. กล่าวถึงนโยบายบัตรสวัสดิการพลัส ว่าการจะออกนโยบาย ต้องพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีการหารือกับบุคคลที่มีความรู้ในด้านนี้ ปัจจุบันผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีประมาณ 15 ล้านคน ใช้งบราว 40,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่พอจะหาได้

“ผมหาเสียงในสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะรู้ว่าบริหารอย่างไร การเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องรู้กลไกขั้นตอนของงบประมาณ ต้องสนใจด้วยว่ามีเท่าไร อย่างไร ถ้าพูดปากเปล่า คูณตัวเลขแล้วเป็นแสนล้าน จะเอามาจากไหนไม่รู้ ผมไม่พูด มั่นใจว่านโยบายที่พูดออกไปทำได้ เพราะมีการปรึกษาและมีข้อมูลตรงนี้อยู่แล้ว การเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่พูดแล้วไม่มีหลักการหรือหลักเกณฑ์อะไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว