ย้อนดู 4 ชาติ เศรษฐกิจพังเพราะ ‘ประชานิยม’ รัฐบาลโหมกู้ – แจกเงินไม่ยั้งคิด

ย้อนดู 4 ชาติ เศรษฐกิจพังเพราะ ‘ประชานิยม’  รัฐบาลโหมกู้ – แจกเงินไม่ยั้งคิด

ย้อนดู 4 ประเทศเศรษฐกิจพังเพราะประชานิยม รัฐบาลโหมแจก อัดสวัสดิการ ใช้เงินจนหมดคลัง ลุยกู้เพิ่มหนี้สาธารณะเพิ่มเงินเฟ้อพุ่ง ต้องแบกหน้ากู้ไอเอ็มเอฟ พบหลายประเทศเมื่อเศรษฐกิจพังเพราะประชานิยม ปัญหาสังคมจะตามมา บางประเทศคนอพยพออกนอกประเทศหลายล้านคน

การแข่งขันกันทางการเมืองเพื่อให้สามารถเข้าสู่อำนาจได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ พรรคการเมืองและนักการเมืองจะมีกลยุทธ์ และนโยบายที่นำมาแข่งขันกันเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งลงคะแนนให้ โดยนโยบายที่พรรคการเมืองใช้กันมาต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศคือ “นโยบายประชานิยม” ที่เน้นไปที่การแจกเงิน หรือให้สวัสดิการเพิ่มขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หรือเพิ่มรายได้ กำลังซื้อของประชาชนในระยะเวลาที่สั้นที่สุด

"นโยบายประชานิยม" เกิดขึ้นครั้งแรกในละตินอเมริกาเพื่อแก้ปัญหาช่วยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929 และเริ่มขยายไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงระยะแรกของการใช้นโยบายนี้สามารถสร้างความคึกคักทางเศรษฐกิจได้ในวงกว้าง

แต่ในระยะเวลาต่อมาพบว่าหลายประเทศที่ดำเนินนโนบายประชานิยมต่อเนื่องยาวนาน และเพิ่มขนาดนโยบายประชานิยมด้วยงบประมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆมักจะพบเจอกับวิกฤติการเงินการคลัง ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย เกิดปัญหาสังคม และการอพยพออกนอกประเทศของประชากรในเวลาต่อมา

4 ประเทศที่เศรษฐกิจพังทลายเพราะการดำเนินนโยบายประชานิยม ของรัฐบาล ดังนี้

1.อาร์เจนตินา

ในอดีตอาร์เจนตินาเคยเป็นประเทศที่มีอนาคตทางเศรษฐกิจสดใส ติด 1 ใน 10 ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลก แต่ด้วยนโยบายประชานิยมมาต่อเนื่องยาวนานจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศค่อยๆอ่อนแอลง และเผชิญภาวะวิกฤตมาแล้วหลายระลอก  

นายพล Domingo Peron (britannica.com)

ย้อนไปในทศวรรษ 1940 อาร์เจนตินาภายใต้การนำของ ประธานาธิบอาร์เจนตินา ดีฮวน โดมิงโก เปรอง (Domingo Peron) และภรรยาซึ่งเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ คือมาริอา เอวา ดัวเต้ (Maria Eva Duarte) หรือเอวิต้า เปรอง (Evita Peron) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการบริหารประเทศใช้นโยบายประชานิยมแบบเข้มข้นเพื่อสร้างความนิยมอย่างมหาศาล มีการตั้งชื่อรูปแบบการปกครองในยุคนี้ว่า “ลัทธิเปรอง” (Peronism) โดยนอกจากมีนโยบายลด แลก แจกแถมจำนวนมาก มีการนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาใช้จ่ายเพื่อดูแลประชาชนภายในประเทศ จนเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) อีกครั้งจนประเทศเกิดหนี้สินเป็นจำนวนมหาศาล จนเงินคงคลังหมด

ปัญหาเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา รวมกับปัญหาการคอร์รัปชั่น และเงินเฟ้อที่พุ่งสูง เป็นปัญหาที่เรื้อรัง อาร์เจนตินาต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)หลายครั้ง โดยการกู้เงินครั้งใหญ่ที่สุดจาก IMF เกิดขึ้นในปี 2018 รัฐบาลในสมัยของประธานาธิบดีเมาริซิโอ มากริ ลงนามกู้เงินจาก IMF คิดเป็นมูลค่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 2 ล้านล้านบาท

การกู้เงินต่อเนื่องทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของอาร์เจนตินาอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยปัจจุบันอาร์เจนตินามีหนี้สาธารณะ89.4%  ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกประเทศที่มีการกู้ยืมอย่างต่อเนื่อง และยังมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงในช่วงภาวะดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงอย่างในปัจจุบัน 

ทั้งนี้เงื่อนไขการปล่อยกู้ของ IMF กำหนดให้อาร์เจนตินารัดเข็มขัดทางการคลัง ทำให้การทำนโยบายประชานิยมที่เคยดำเนินมาทำต่อไปไม่ได้ แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาคือความไม่พอใจของประชาชน มีการชุมนุมประท้วงและความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มสูงขึ้นมากจนเป็นปัญหาสังคมมาถึงปัจจุบัน

 

2.กรีซ 

กรีซเป็นอีกประเทศที่มีการดำเนินนโยบายประชานิยมเต็มขั้นมาอย่างยาวนานจนทำให้ประเทศประสบภาวะวิกฤตทางการเงินอย่างรุนแรง และวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศกรีซช่วงปี 2014 เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปเป็นอย่างมากเนื่องจากความกังวลการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่

การแข่งขันประชานิยมในกรีซมีจุดเริ่มต้นนั้นมาจากการที่สองพรรคการเมืองใหญ่ คือ "พรรค Panhellenic Socialist Movement" ซึ่งเรียกพรรคนี้ว่า "พรรค PASOK" และ อีกพรรคหนึ่งคือ "พรรคประชาธิปไตยใหม่" ถูกเรียกว่า "พรรค ND" มีการแข่งขันโดยใช้นโยบายประชานิยม เพื่อมุ่งหวังฐานความนิยมทางการเมืองจากประชาชน โดยเมื่อพรรค PASOKได้รับการเลือกตั้งและมีการดำเนินนโยบายการเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขึ้นปีละ 3% การลดภาษีและยกเว้นภาษีสำหรับการซื้อรถยนต์คันใหม่ และมอบเงินบำเหน็จแก่ผู้เกษียณก่อนวัย

ต่อมาเมื่อ พรรค ND ได้รับเลือกตั้งบ้างก็มีนโยบายการเพิ่มค่าแรง การให้ระบบอินเทอร์เน็ตสาธารณะ รวมไปถึงการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปีกที่ต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล

ประชาชนอยู่ในภาวะเสพติดนโยบายประชานิยมจากพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรค มาอย่างยาวนานมากกว่า 30 ปี อีกทั้งการได้รับค่าแรงสูงกว่าความเป็นจริง สวัสดิการที่ดีจากรัฐ และการ กู้ยืมเงินอย่างง่ายดาย ประเทศเข้าสู่ภาวะการขาดดุลงบประมาณ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่สามารถแก้ไขได้

  จอร์จ ปาปันเดรอู อดีตนายกรัฐมนตรีกรีซ

จนกระทั่งเมื่อปี 2010 รัฐบาลของจอร์จ ปาปันเดรอู (George Papandreou) ประสบปัญหาการบริหารการเงินเพื่อจ่ายพันธบัตรของกรีซที่ครบอายุ เป็นผลทำให้ต้องขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) โดยทั้งสององค์กรได้ให้เงินกู้แก่ประเทศกรีซเป็น จำนวนเงินทั้งสิ้น 110,000 ล้านยูโร

 แต่มีเงื่อนไขสำคัญว่าให้ประเทศกรีชจะต้องมีการลดการขาดดุลงบประมาณครั้งใหญ่ และมีมาตรการในการรัดเข็มขัดอย่างเข้มข้น เช่น การไม่ขึ้นเงินเดือนทั้งภาครัฐ เอกชน งดการจ่ายเงิน โบนัสเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 21% เป็น 23% และการเพิ่มภาษีสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 10 % เพื่อหารายได้เข้ารัฐ จนนำมาสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ และนัดหยุดงานของประชาชน

 

3.เวเนซุเอลา

เวเนซุเอลาเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก และมีปริมาณสำรองน้ำมันมากถึง 3 แสนล้านบาร์เรล ซึ่งปริมาณน้ำมันที่มากขนาดนั้นทำให้รัฐบาลหันมาทำนโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจประชาชนเนื่องจากมองว่าประเทศมีความร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมัน โดยน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนประมาณ 90% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ

ฮูโก ชาเวช อดีตประธานาธิบดีเวเนซูเอลา

ในปี พ.ศ. 2542 นายฮูโก ชาเวช  ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ซึ่งมีแนวคิดการจัดตั้งรัฐสวัสดิการ จึงได้มีการนำเงินงบประมาณ มาลงทุนกับโครงการประชานิยม เพื่อมุ่งหวังเอาใจประชาชนและสร้างฐานคะแนนนิยมทางการเมือง เช่น การอุ้มราคาสินค้าให้ถูกลงกว่าความเป็นจริง การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทดแทนการผลิตภายในประเทศ การจ่ายเงินสร้างบ้านให้ประชาชน การอุ้มราคาน้ำมันและราคาไฟฟ้าให้ถูกลงเป็นเวลานาน

นโยบายดังกล่าวได้นำไปสู่จุดเริ่มต้นของค่าเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ในเวลาต่อมา นิโกลัส มาดูโร (Nicolas Maduro) ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แทน รัฐบาลก็ยังคงดำเนินนโยบายประชานิยมอย่างต่อเนื่อง

แต่แล้วความหายนะก็เริ่มเข้ามาเยือน เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันโลกตกต่ำ ในระหว่างปี พ.ศ. 2557- 2559 ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล รายได้หลักของรัฐบาลเวเนซุเอลาจึงค่อยๆ ลดลงและไม่เพียงพอต่อการนำมาเลี้ยงดู ประชาชนดังเช่นในอดีตอีกต่อไป

โครงการประชานิยมต่างๆ เริ่มเข้าขั้นวิกฤตแต่กระนั้นก็ไม่สามารถหยุดดำเนินการได้ เนื่องจากประชาชนที่มีรายได้น้อยเป็นจำนานมากเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการเหล่านี้

รัฐบาลเวเนชุเอลาแก้ไขปัญหาด้วยการพิมพ์ธนบัตรออกมาเพิ่มโดยไม่อิงกับระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ค่าเงินโบลิวาร์เกิดเฟ้อมากขึ้นแบบขั้นสุด โดยภายในระยะเวลาอันสั้นเงินเฟ้อพุ่งกว่า 83,000% ต่อปี เศรษฐกิจหดตัวลงเกิน 30%   ผู้คน 90% ตกสู่ความยากจน  เงินด้อยค่าลงจนไม่สามารถนำมาซื้อสินค้าได้ ประชาชนจึงต้องแลกเปลี่ยนสินค้ากันเองโดยตรง อีกทั้งค่าครองชีพก็พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนรัฐต้องขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นผลทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปอีก

ประเทศเวเนซุเอลาจึงเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมไปถึงของใช้ที่จำเป็น

ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม การปล้นสะดม จนทำให้ประชากรมากกว่า 2.3 ล้านคน ต้องอพยพออกจากประเทศเพื่อขอลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงและทวีปอื่นๆ ได้แก่ บราซิล โคลัมเบีย เปรู ชิลี ปานามา เอกวาดอร์ อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา และสเปน ถือเป็น "หนึ่งในการโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ภูมิภาคละตินอเมริกา

 

4.ศรีลังกา

ประเทศศรีลังกาตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของ 2 ตระกูลมาอย่างยาวนานคือ ตระกูล “สิริเสนา” และ “ราชปักษา” นอกจากการนำเอาการเมืองระบบเครือญาติมาบริหารประเทศ ยังมีการใช้นโยบายประชานิยม และมีปัญหาคอร์รัปชั่นภายในรัฐบาลในปี 2562 ตระกูลราชปักษากลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคเดียว มีการประกาศนโยบายประชานิยม โดยเริ่มจากลดภาษีครั้งใหญ่ให้กับประชาชน และภาคธุรกิจ ทำให้รายรับของรัฐลดลงไปถึง 35%

รวมทั้งมีโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่โดยกู้ยืมเงินจากต่างปะเทศทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นและมีการทุจริตในโครงการต่างๆ

ขณะที่รายได้สำคัญจากการส่งออกสินค้าเกษตรก็ลดลงมากเนื่องจากนโนบายปฏิรูปภาคเกษตร โดยห้ามไม่ให้ใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก แต่การปรับเปลี่ยนทันทีทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหายขาดรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรไปมาก การส่งออกชาที่เคยสร้างรายได้อย่างมากให้ศรีลังกาก็ลดลง

ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวที่เป็นสัดส่วน 10% ของจีดีพีก็หายไปเพราะเป็นช่วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ศรีลังกาเริ่มเผชิญปัญหาขาดแคลนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อรัฐบาลต้องดึงเงินสำรองเงินตราต่างประเทศมาใช้จ่ายค่าเงินของศรีลังกาดิ่งลง 80% ทำให้การนำเข้ามีราคาแพงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงอย่างมาก

วิกฤติศรีลังกา ถูกซ้ำเติมด้วยหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจากการกู้ยืมเงินต่างประเทศปัจจุบันอยู่ที่ 86.9%  และเมื่อขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และทุนสำรองระหว่างประเทศลดต่ำลงเรื่อยๆทำให้ไม่มีเงินในการซื้อพลังงานไฟฟ้าและอาหาร ทำให้สินค้าขาดแคลนอย่างหนัก จนเกิดวิกฤติภายในประเทศ

 

โกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา

 

ชาวศรีลังกากว่า 22 ล้านคนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส รัฐบาลต้องขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟเพื่อมาแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น ขณะที่นายโกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ลี้ภัยออกนอกประเทศหลังการออกมาเดินขบวนขับไล่ครั้งใหญ่ของประชาชน 

 

ทั้งหมดเป็นบทเรียนการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อเอาชนะกันทางการเมือง รวมทั้งใช้นโยบายประชานิยมครองอำนาจทางการเมืองเป็นเวลายาวนาน โดยใช้ทรัพยากรของประเทศทั้งเงินงบประมาณ เงินคงคลัง รวมทั้งกู้เงินมาตอบสนองนโยบายในรูปแบบนี้ ซึ่งหากประเทศไทยใช้นโยบายในรูปแบบนี้มากขึ้นก็อาจจะเดินตามรอยประเทศที่เศรษฐกิจพังพินาศแบบเช่นเดียวกับ 4 ประเทศที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้ว