สงกรานต์ 2566 ซอฟต์พาวเวอร์แสนล้าน ฝ่าฝุ่นพิษ-ฮีทสโตรก

สงกรานต์ 2566 ซอฟต์พาวเวอร์แสนล้าน ฝ่าฝุ่นพิษ-ฮีทสโตรก

จับกระแส สงกรานต์ 2566 ซอฟต์พาวเวอร์แสนล้าน ฝ่าฝุ่นพิษ-ฮีทสโตรก

เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นหนึ่งใน 5F เทศกาลประเพณี (Festival) ที่ประเทศเราผลักดันและส่งเสริม กลายซอฟต์พาวเวอร์ไทย (Thai Soft Power)  อันมีศักยภาพสูง นับเป็นเฟสติวัลระดับโลกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างมาก

สงกรานต์ 2566 ทอท. คาดจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 1.4 หมื่นเที่ยวบิน ซึ่งเที่ยวบินระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้น 219% ปริมาณผู้โดยสารประมาณ 2.37 ล้านคน เพิ่มขึ้น 137% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 1.37 ล้านคน เพิ่มขึ้น 561%

ด้านยอดจองห้องพักโรงแรมภาคใต้คึกคักมาก ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) คาดว่านับตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ ราคาห้องพักจะเพิ่มขึ้น บางโรงแรมที่ติดชายหาด ติดทะเลปรับราคาขึ้น

การท่องเที่ยวในประเทศ ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ททท.คาดรายได้ 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปี 2565 ถือว่าทั้งจํานวนและรายได้ของตลาดในประเทศกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

ขณะที่ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า บรรยากาศสงกรานต์ปี 2566 สนุกสนานมากกว่าปีที่แล้ว คาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจราว 1.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เทียบกับปีที่แล้วที่มีเงินสะพัด 1.06 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน กรณีหากมีข่าวการระบาดของโควิด-19 อีกครั้งก็เชื่อว่าไม่รุนแรง หรือหากในพื้นที่ท่องเที่ยวยังมีปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ผู้คนจะไปท่องเที่ยวทำกิจกรรมในช่วงสงกรานต์เหมือนเดิม

ที่ผ่านมาเราเคยเจอวิกฤติโควิดระบาดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนไทยในประเทศอัดอั้นไม่ได้เที่ยว ไม่ได้ฉลองปีใหม่ของไทย พอปีนี้โรคระบาดคลี่คลาย บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศคึกคัก

หน่วยงานรัฐและเอกชน จัดงานกิจกรรมทั่วประเทศ ซึ่งการฉลองแบบคนไทยคือการสังสรรค์ร้องรำทำเพลงในครอบครัวและชุมชน ทำให้มีการแห่ซื้อเครื่องเสียงจนขาดตลาดในช่วงก่อนวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่า บรรยากาศงานรื่นเริงสนุกสนานสาดน้ำช่วงหน้าร้อนของไทยจะกลับมาคึกคัก

ทว่า ปัญหาและอุปสรรคที่อาจทำเทศกาลสงกรานต์ไม่คึกคักปีนี้และอนาคต นั่นเรื่องของ "สภาพอากาศ" ที่เป็นเรื่องใหญ่อยู่ในขณะนี้

ประการแรก สภาพอากาศแย่กระทบสุขภาพที่คนไทยพื้นที่ภาคเหนือกำลังเดือดร้อนคือควันและฝุ่นพิษ PM 2.5 จากการเผาป่า โดยเฉพาะเชียงใหม่และเชียงรายที่ติดอันดับอากาศแย่ที่สุดในโลก จนต้องประกาศงดออกจากบ้านและเวิร์กฟรอมโฮม

ซึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงถือเป็นพื้นที่เป้าหมายของการเล่นสาดน้ำของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ แต่ปีนี้คงต้องจัดงานฝ่าฝุ่นอย่างน่าเห็นใจ ซึ่งไม่ต้องพูดถึงด้านการท่องเที่ยวที่กระทบอย่างหนัก

ประการที่สอง สภาพอากาศร้อนจัด ภาคเหนืออุณหภูมิสูงสุด 37-42 องศาเซลเซียส ส่งผลให้การจัดงานทำกิจกรรมกลางแจ้งต้องระมัดระวังในการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ท่ามกลางเหตุมีผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรก หรือ อาจเกิดภาวะลมแดด เนื่องจาก ระดับ 32-41 องศาเซลเซียส จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ  เกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

กล่าวคือ สงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนาน เป็นประเพณีที่มีเงินสะพัดระดับแสนล้านในแต่ละปี สร้างซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้านการท่องเที่ยวมายาวนาน แต่อนาคตถ้าอากาศยังร้อนจัดกว่าเดิม ควันและฝุ่นพิษ PM 2.5 จากการเผาป่า ยังไม่ช่วยกันแก้และไม่ตระหนัก จะเกิดผลกระทบด้านสุขภาพและรายได้ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนอยู่ไม่ไหว ซึ่งเลือกตั้ง 2566 หากใครเป็นรัฐบาลไม่วางแผนแก้ปัญหาก็อยู่ยากเหมือนกัน

...

อ้างอิง

บทความที่เกี่ยวข้องกับ soft power ทั้งหมด

บทความของนิติราษฎร์ บุญโย ทั้งหมด