‘ซีอีโอ’ หนุน ‘เศรษฐา’ นั่งนายกฯ ‘เพื่อไทย’ แกนนำตั้งรัฐบาล

‘ซีอีโอ’ หนุน ‘เศรษฐา’ นั่งนายกฯ ‘เพื่อไทย’ แกนนำตั้งรัฐบาล

ซีอีโอ เทคะแนน “เศรษฐา” นั่งนายกฯ​ คนต่อไป “พรรคเพื่อไทย” แกนนำจัดตั้งรัฐบาล “พิธา” มาอันดับ 2 และ “ประยุทธ์” อันดับ 3 ขณะที่ “แก้ปัญหาเศรษฐกิจ” เป็นนโยบายใหญ่ที่นักธุรกิจให้ความสำคัญมากที่สุด

“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น “200 ซีอีโอ” องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก ท่องเที่ยว ภาคบริการ ไอทีดิจิทัล สตาร์ตอัป ในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่ “นักธุรกิจ” ชั้นนำในประเทศมองว่า ควรเป็น “แกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาล รวมไปถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่ควรได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและในระยะยาว ใช้เวลาสำรวจตั้งแต่วันที่ 21-25 มี.ค.ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

หนุน “เศรษฐา” นั่งนายก

จากผลสำรวจ พบว่า นักธุรกิจเลือก “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งนายกรัฐมนตรี โดยคิดเป็นสัดส่วน 24.2% อันดับ 2  คือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” 15.2% อันดับ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 14.1% ขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นอันดับ 4 ที่ 11.6% และ กรณ์ จาติกวณิช​ รั้งอันดับ 5 ที่ 9.1%

สำหรับรายชื่อนายกรัฐมนตรี ที่ “กรุงเทพธุรกิจโพล” ยกขึ้นมาเป็นตัวเลือก มีดังนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร, อนุทิน ชาญวีรกูล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์,วราวุธ ศิลปอาชา, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ กรณ์ จาติกวณิช อย่างไรก็ตาม ยังมีนักธุรกิจบางรายให้คำตอบว่า “ยังไม่ตัดสินใจ” รวมถึงนำเสนอชื่อนักธุรกิจ นักการเมืองคนอื่นเป็นตัวเลือก เช่น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, บัณฑูร ล่ำซำ, เสรี เตมียเวส

ขณะที่ พรรคแกนนำในจัดตั้งรัฐบาล นักธุรกิจเทคะแนนให้กับ “พรรคเพื่อไทย” ให้พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด 44.3% รองลงมา คือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” 17% ตามมาด้วย “พรรคก้าวไกล” 16% ตามมาด้วย “พรรคพลังประชารัฐ” 5.2% และ พรรคภูมิใจไทย 4.1%

พรรคการเมืองหลักๆ ที่ “กรุงเทพธุรกิจโพล” ยกขึ้นมาเป็นตัวเลือก ได้แก่ เพื่อไทย, พลังประชารัฐ, ก้าวไกล, ภูมิใจไทย, ประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา, เสรีรวมไทย, ประชาชาติ, ชาติพัฒนากล้า, ไทยสร้างไทย, และ รวมไทยสร้างชาติ

แก้ปัญหาศก-ปรับปรุงกม.ให้ทันสมัย

“นโยบาย” ที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ ผลสำรวจพบว่า “นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” เป็นนโยบายที่ซีอีโอต้องการให้รัฐบาลใหม่ทำมากที่สุด คิดเป็น 82% ขณะที่ รองลงมา คือ การปรับปรุงกฎหมายเศรษฐกิจให้มีความทันสมัย 46.5% การแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ 43% การดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ 42.5% และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก 37.5%

ขณะที่ นโยบายถัดๆ มาเช่น รัฐบาลควรสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ให้ความสำคัญ นโยบาย Sustainability เร่งยกระดับรายได้เกษตรกร มองไทยให้เป็นฮับ Wellness โลก เร่งนโยบายรับมือด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitic) รวมไปถึง นโยบายสร้าง Soft Power

รวมไปถึงข้อเสนออื่น ไม่ว่าจะเป็น ปฏิรูปการศึกษาไทยให้ดีขึ้น มีแผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติร่วมระหว่างภาครัฐ และเอกชน แก้ไขกฎหมายภาษีทั้งในรูปนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา สนับสนุนเอสเอ็มอีสัญชาติไทย ทั้งภาคผลิต และบริการให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นต้น

เมื่อถามลงลึกว่า “นโยบายเศรษฐกิจ” ด้านใดที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และทำอย่างเร่งด่วน” นโยบายที่มาเป็นอันดับหนึ่ง คือ นโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 62.4% รองลงมา คือ นโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ,หนี้เสีย 56.3% และ นโยบายดึงการลงทุนจากต่างประเทศ 44.7% นโยบายเร่งการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ 44.2% ลำดับถัดมาเช่น ให้ความสำคัญนโยบายด้าน Sustainability การเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ ในต่างประเทศ รวมถึงนโยบายรับมือด้านภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับความคาดหวังต่อเศรษฐกิจไทย ซีอีโอ 37.7% มองว่า ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีควรอยู่ที่ 4-5% รองลงมาคือ จีดีพี 2-3%

เร่งแก้ปัญหายาเสพติด พนันออนไลน์

ส่วน “นโยบายเชิงสังคม" ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซีอีโอ เลือก “ปัญหายาเสพติด” 71.5% ที่รัฐบาลใหม่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รองลงมา คือ อาชญากรรมออนไลน์​ การพนันออนไลน์ 65.5% และปัญหาฝุ่น pm2.5 61% ปัญหาค่าครองชีพ 50% แก๊งมาเฟียข้ามชาติ 49.5% ถัดมาเป็นเรื่อง ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ “กลุ่มเปราะบาง และ กลุ่มผู้สูงอายุ” ปัญหาแรงงานไม่ตรงตามความต้องการตลาด ปัญหาเรื่องความเท่าเทียม เช่น การสมรสเพศเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนออื่น เช่น การยกเลิกกัญชาเสรี การแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน การศึกษาที่ทั่วถึงและเท่าเทียม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.112 เป็นต้น

ไม่เห็นด้วย ยกเลิกเครดิตบูโร

ขณะที่ เมื่อถามว่า “นโยบายพรรคการเมืองด้านใด ที่ “ไม่เหมาะ” กับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืน” ซีอีโอ เลือก “ยกเลิกแบล็คลิสต์​ เครดิตบูโร” มาเป็นอันดับหนึ่ง 53.8% อันดับ 2 คือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 41.1% อันดับ 3 คือ พักชำระหนี้ 38.6% นอกจากนั้นเป็นเรื่อง มาตรการแจกเงิน เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย ลดราคาพลังงานอย่างไม่สมเหตุสมผล การประกันรายได้เกษตรกร รวมไปถึงเรื่อง กัญชาเสรี เป็นต้น

‘ซีอีโอ’ เปิดข้อเสนอแนะรัฐบาลใหม่

การสำรวจครั้งนี้ ยังเปิดให้ ซีอีโอธุรกิจ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้งโดยข้อเสนอแนะส่วนใหญ่ ให้น้ำหนักไปที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาปากท้อง แก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ หนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการเร่งการลงทุน แก้ปัญหาพลังงาน สิ่งแวดล้อม แก้ไขระบบการศึกษา ลดงบประมาณการซื้ออาวุธ ลดการคอร์รัปชัน การทุจริต ยุติความแตกแยกในสังคม และเตรียมรับมือกับปัญหาโลกร้อน ฯลฯ

เร่งลงทุน ดูแลพลังงาน

โดยระบุรายละเอียดว่า รัฐบาลใหม่ควร เร่งการลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยว ปรับแก้กฎหมายการลงทุนด้านพลังงานทดแทน เร่งอนุมัติโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม พลังงาน ให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ให้เท่ากับกลุ่มทุนใหญ่ เพราะประเทศไทยมีฐานธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย เอสเอ็มอี ในขณะที่ยอดพีระมิดของเศรษฐกิจ คือ กลุ่มทุนใหญ่ที่สามารถประคับประคองตัวเองได้แม้ช่วงเศรษฐกิจขาลง

เร่งแก้ปัญหา เหลื่อมล้ำ, ลดหนี้ครัวเรือน, ลดราคาน้ำมันตามราคาโลกไม่ใช่ตรึงไว้แบบนี้ ลดราคาน้ำมันลดเงินเฟ้อได้เลย, มีนโยบายกองทุนลดหย่อนภาษีที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยเพื่อสนับสนุน ตลาดหุ้น และ force ให้คนออมผ่านตลาดทุน เพราะคนออมในประเทศมีน้อยมากในขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย หันมาให้ความสำคัญ เศรษฐกิจรากฐานประชาชนตัวเล็กแก้ไขหนี้สินให้ที่ดินทำกิน แหล่งเงินทุนและกองทุนฉุกเฉิน ที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างง่ายและรวดเร็ว แก้กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจทุกประเภท

วินัยชำระหนี้-หนุนเอสเอ็มอีสตาร์ตอัป

ซีอีโอ บางรายให้ความเห็นในประเด็น หนี้ ด้วยว่า เรื่องหนี้และวินัยในการชำระหนี้ ไม่ควรนำมาใช้เป็นประเด็นในการหาเสียงสนับสนุน รวมถึงเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ควรนำมาใช้หาเสียงเช่นกัน รัฐบาลควรใช้ฝีมือจริงๆ ทำงานบนบริบทขอประเทศไทย ไม่ใช่ลอกเลียนแบบอย่างจากประเทศที่ไม่ได้มีบริบทเหมือนไทย แล้วใช้เป็นมาตรฐานวัดความสำเร็จ

“ควรเข้าใจในบริบทของประเทศจริงๆเพราะเป็นที่ๆประชาชนใช้ชีวิตอยู่จริงๆ การเมืองควรบริหารนโยบายที่เป็นประโยชน์ของประชาชนจริงๆโดยให้ประชาชนทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้”

ในทางการจ้างงานต้อง ไม่มองข้ามว่า นายจ้างเป็นประชาชนเช่นกัน แต่อาจเป็นเสียงข้างน้อยซึ่งควรได้รับการเคารพในสิทธินี้เรื่องหนี้เช่นกัน stakeholders ไม่ได้มีเพียงลูกหนี้ แต่ยังมีอีกหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นโยบายใดๆ ควรนำทุกอย่างมาพิจารณาร่วมในการร่าง อยากให้รัฐบาลเข้าใจในเรื่องระบบนิเวศที่ทุกฝ่ายต้องอยู่กันได้

ปัจจุบันในระบบนิเวศที่ผู้ประกอบการรายเล็กและใหญ่อยู่รวมกัน ความเหลื่อมล้ำอยู่ที่การบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ ในระดับเดียวกัน ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กหรือผู้ที่ริเริ่มเป็นผู้ประกอบการ ไม่สามารถมีทีมงานและเครื่องมือหรือตัวช่วยในการบรรลุตามกฎเกณฑ์ที่นำมาใช้ ทำให้ต้นทุนในการเข้าสู่ธุรกิจสูงโดยไม่สร้างสรรค์ เป็นการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการอยู่แบบ corporate มากกว่า ควรสนับสนุนเอสเอ็มอี และ สตาร์ตอัปรายใหม่ รัฐบาลต้องคิดให้ดีๆ ว่า อยากให้มีเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่แล้วให้ประชาชนไปเป็นลูกจ้าง หรือให้ประชาชนแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจของตนเอง

ลดแจกเงิน -ลงทุนอินฟราดิจิทัล

ซีอีโอ ยังมองว่า รัฐบาลใหม่ ควรลดการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เช่น แจกเงิน ให้ใช้งบที่มีอยู่ทำในสิ่งยั่งยืนและเหมาะสม เช่น ทำเรื่องน้ำให้เกษตรกรทั่วประเทศ, ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของหน่วยราชการทั้งหมด เช่น การดูงานต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ต้องเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ที่สามารถให้การทำธุรกรรมระหว่างภาคประชาชนและเอกชนและภาคราชการสามารถทำได้อย่างสะดวก เป็น digital end to end จริงๆ เร่งสร้างเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศเอาเทคโนโลยีและคนเก่งทุกแขนงมาพัฒนาประเทศเราก้าวขึ้นเป็นผู้นําของเอเชียให้ได้