โควิดฉุดดีมานด์ผู้โดยสารถอยหลัง! "UTA" จ่ออ้อน EEC ปรับแผนพัฒนา "อู่ตะเภา"

โควิดฉุดดีมานด์ผู้โดยสารถอยหลัง!  "UTA" จ่ออ้อน EEC ปรับแผนพัฒนา "อู่ตะเภา"

โควิดฉุดดีมานด์ผู้โดยสารถอยหลัง 25 ปี "UTA" จ่ออ้อนบอร์ด EEC เจรจาปรับแผนพัฒนาสนามบิน "อู่ตะเภา" จาก 4 เฟส ยืดเป็น 6 เฟส ขอลดไซส์อาคารผู้โดยสาร เฟส 1 เริ่มต้นรองรับ 8 ล้านคนต่อปี จากแผนเดิม 15 ล้านคนต่อปี ยืนยันปลายทางยังคงพัฒนาตามเป้าหมายรองรับ 60 ล้านคนต่อปีเช่นเดิม

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งประกอบด้วย BA ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 45%, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ผู้บริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท เตรียมขอปรับแผนการลงทุนจากเดิมที่มี 4 เฟส เป็น 6 เฟส เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน ทำให้แนวโน้มการเติบโตของผู้โดยสารเปลี่ยนไปจากประมาณการณ์เดิม ขณะเดียวกันการส่งมอบพื้นที่ของฝั่งภาครัฐได้เลื่อนจากเดือน ม.ค. 2566 ออกไป

UTA อยู่ในขั้นตอนการเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC  และรอนาย จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ EEC คนใหม่ เข้าทำงาน เพื่อสรุปการปรับแผนงานในการพัฒนาใหม่”

นายพุฒิพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ UTA ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เพราะต้องรอหนังสือให้เริ่มงาน (Notice To Proceed: NTP) จากฝั่งภาครัฐก่อน โดยที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายทั้งการออกแบบ ที่ปรึกษา การเตรียมตัวเพื่อเข้าก่อสร้าง และอื่นๆ โดย UTA ได้ลงทุนไปแล้ว 4.5 พันล้านบาท (เฉพาะฝั่ง BA ลงทุนไปแล้ว 2.2 พันล้านบาท)

UTA อยู่ระหว่างรอหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) จากเดิมฝั่งภาครัฐกำหนดว่าจะออกหนังสือให้ในเดือน ม.ค. 2566 เนื่องจากว่ามีเงื่อนไขทั้งหมด 4 ข้อที่ภาครัฐระบุในสัญญาเอาไว้ ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน”

สำหรับเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อดังกล่าว มีดังนี้

1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และรันเวย์ที่ 2 ต้องผ่านการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้เรียบร้อยก่อน ดำเนินการโดย EEC และกองทัพเรือ

2.ต้องมีความชัดเจนเรื่องการเปิดประมูลก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา ความยาว 3,500 เมตรก่อน ซึ่งทางกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ถ้ากองทัพเรือเปิดประมูล ก็ถือว่าเข้าตามเงื่อนไขแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ทางกองทัพเรือยังไม่ได้เริ่มประมูล

3.ต้องมีการเจรจาข้อตกลงเรื่องตารางการเดินรถไฟไฮสปีด ระหว่าง UTA กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่จะต้องมีตารางเดินรถสอดคล้องกับสนามบินอู่ตะเภาเพื่อให้ความสะดวกกับผู้โดยสาร

4.ต้องมีการเจรจาข้อตกลงการใช้งานสนามบินอู่ตะเภากับรันเวย์ ร่วมกับกองทัพเรือ โดยข้อนี้ UTA ได้ทำความตกลงกับกองทัพเรือเรียบร้อยแล้ว

“ตอนนี้ UTA รอการดำเนินงานตามเงื่อนไข 3 ข้อแรกให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เมื่อครบทั้งหมด 4 ข้อ ถึงจะได้หนังสือ NTP เริ่มก่อสร้างได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร 3 ปี” นายพุฒิพงศ์กล่าว

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี BA กล่าวเสริมว่า UTA กล่าวว่า การปรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เบื้องต้นจะปรับจากเดิม 4 เฟส (แบ่งเป็น เฟส 1 รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี, เฟส  2 รองรับ 30 ล้านคนต่อปี, เฟส 3 รองรับ 45 ล้านคนต่อปี  และเฟส 4 รองรับ 60 ล้านคนต่อปี ) เป็น 6 เฟส

โดย 6 เฟสใหม่ที่จะขอปรับนั้น ในช่วงเฟส 1 เริ่มต้นการรองรับผู้โดยสารที่ 8 ล้านคนต่อปี โดยลดขนาดอาคารผู้โดยสาร (Terminal) เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ดีมานด์ของอุตสาหกรรมการบินถอยหลังไป 25 ปี แนวโน้มจำนวนผู้โดยสารไม่น่าเป็นไปตามคาดการณ์เดิม ประกอบกับเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านการบิน ส่วนเฟส 2 จะเริ่มเมื่อมีผู้โดยสารอยู่ในระดับ 75-80% ของขีดการรองรับเฟส 1 คาดว่าจะเริ่มเห็นได้ภายใน 5 ปี กำลังพิจารณาขีดการรองรับว่าจะเป็นที่ 12 ล้านคนต่อปี หรือ 14 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้คาดด้วยว่าในช่วง 10 ปี การพัฒนาจะกลับเข้าสู่แผนเดิม

“โครงการนี้ยังคงดำเนินการเพื่อรองรับผู้โดยสารที่ 60 ล้านคนต่อปีตามเงื่อนไขเดิม  เพียงแต่ว่าแนวโน้มดีมานด์ผู้โดยสารตอนนี้ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับประเทศไทย แต่เกิดกับทั่วโลก กว่าจะบิลด์ดีมานด์กลับมาได้ ต้องใช้เวลา จึงต้องขอหารือกับ EEC ว่าเราอยากให้ช่วยช่วงเฟสแรกๆ ก่อนได้หรือไม่ เพราะดีมานด์ฟื้นตัวตามไม่ทัน มันจะเป็นการลงทุนที่เสียเปล่า หากลงทุนขนาดใหญ่กว่าดีมานด์ตลาด จะทำให้การลงทุนเสียไป”

อย่างไรก็ตาม ด้านโครงสร้างพื้นฐานหลักของสนามบิน เช่น ลานจอดเครื่องบิน และอื่นๆ ยังต้องลงทุนไว้ก่อนตั้งแต่วันแรก หากจะขยายเฟสต่อไป ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอาไว้ล่วงหน้า

“เมื่อดีมานด์การเดินทางกลับมาเร็ว ก็สามารถพัฒนาเฟสต่อไปได้เร็วขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่าเฟสเดิมมีจำนวนผู้โดยสาร 75-80% ของขีดการรองรับ จะเร่งมือพัฒนาเฟสต่อไปทันที เพื่อให้สอดรับกับจำนวนผู้โดยสารในยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างเหมาะสม”