ลดภาษีที่ดิน 15% รายได้ท้องถิ่น ‘หด’ 6.2 พันล้าน

ราชกิจจาฯ ประกาศลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในปีภาษี 2566 ลง 15% มีผลตั้งแต่ 18 มี.ค.นี้ คลังประเมินท้องถิ่นสูญรายได้ 6.28 พันล้านบาท

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. พรชัย ฐีระเวช ระบุ พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง มีผลใช้บังคับแล้ว โดยลดลงอีก 15% ของภาระที่ต้องจ่าย ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศเรื่องพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ( ฉบับที่ 3) ปี 2566 โดยลงประกาศตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.นี้ และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กำหนดให้ลดจำนวนภาษีในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ ตามมาตรา 42

สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี 2566 สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทเกษตรกรรม,ที่อยู่อาศัย ,สิ่งปลูกสร้างประเภทอื่น นอกเหนือจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย (เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

สำหรับประเภทที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างบางประเภทที่ได้รับการลดหย่อนภาษีในอัตรา 50% เป็นการถาวรตามที่ได้ออกพระราชกฤษฎีกาก่อนหน้านี้ เช่น ที่ดินของเขื่อนที่ใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ให้ลดลงอีก 15% หรือ on top ของอัตราที่ลดลงแล้ว 50%

ส่วนที่ดินที่มีพระราชกฤษฎีกาลดหย่อนให้ 90% เป็นการถาวรตามกฎหมาย จะไม่ได้รับการลดภาษีลงอีก 15% ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เช่น โครงการจัดสรรที่ดินที่ได้รับใบอนุญาต จะได้รับการลดหย่อนภาษีลง 90% นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต แต่ไม่เกิน 3 ปี รวมถึง ที่ดินที่ใช้เพื่อกิจการโรงเรียน ก็ได้รับการลดหย่อนภาษีที่ดิน 90% เป็นต้น

การลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 15 %ในครั้งนี้ จะทำให้ท้องถิ่น ขาดรายได้ไปประมาณ 6.28 พันล้านบาท ซึ่งเป็นภาระที่สำนักงบประมาณ จะต้องจัดสรรงบเพื่อชดเชยให้กับท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงปี 2563-2564 กระทรวงการคลัง ได้ประกาศลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างลง 90% เพื่อบรรเทาภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด ส่วนปี 2565 รัฐบาลไม่ได้ประกาศลดภาษี ให้ใช้อัตราปกติตามกฎหมาย ซึ่งเหตุผลที่มีการประกาศลดภาษีดังกล่าวในปีนี้นั้น เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดความต่อเนื่อง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์