'เชฟรอน' ขอต่ออายุ 'แหล่งไพลิน' สยบข้อกังขาถอนธุรกิจพ้นไทย

'เชฟรอน' ขอต่ออายุ 'แหล่งไพลิน' สยบข้อกังขาถอนธุรกิจพ้นไทย

เมื่อกล่าวถึงธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยนานถึง 6 ทศวรรษ อย่าง บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ย่อมมีผูกพันและเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ กำลังท้าทายการอยู่ต่อของธุรกิจ

Key Points

  • เชฟรอน รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลง G2/65
  • แปลง G2/65 ช่วยสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
  • ขอขยายอายุสัมปทานแหล่งไพลินอีก 10 ปี
  • แปลง G2/65 สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

จากการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น เพื่อเข้าซื้อธุรกิจปั๊มน้ำมัน CALTEX จากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด มูลค่าการเข้าซื้อกิจการ อ้างอิงตามที่ SPRC ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ปลายปีที่แล้ว 5,562.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักธุรกิจด้านพลังงานต่างจับตาว่าเชฟรอนจะเริ่มยุติแผนการลงทุนในประเทศไทยหรือไม่

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มี.ค. 2566 มีมติอนุมัติ ให้บริษัท ปตท. สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515 ตารางกิโลเมตร และอนุมัติให้บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร

ทั้งนี้ ครม. ได้อนุมัติให้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีอำนาจลงนามกับผู้ได้รับสิทธิ พร้อมกำหนดการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 หมายเลข G1/65 G2/65 และ G3/65 นี้ ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558 ทั้งนี้ สิทธิในการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมของทั้ง 3 แปลง ในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต มีกำหนดระยะเวลาสำรวจ 6 ปี

สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศ ตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจ 6 ปีเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท และได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทยและอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไร

\'เชฟรอน\' ขอต่ออายุ \'แหล่งไพลิน\' สยบข้อกังขาถอนธุรกิจพ้นไทย “พื้นที่แปลงสำรวจที่ประมูลครั้งนี้ติดกับแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพของประเทศ โดยการประมูล 3 แปลงมีบริษัทยื่นขอสำรวจ 4 ราย จาก 6 บริษัทที่สนใจเข้าขอรับเอกสาร โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้พิจารณาคำขอสิทธิสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าว โดยยึดหลักความโปร่งใสและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ทั้งจากคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ”

รณรงค์ ชาญเลขา กรรมการ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า บริษัทฯ ยินดีที่ได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐให้เป็นผู้รับสัญญาของแหล่ง G2/65 ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการส่งมอบพลังงานที่สะอาดขึ้น เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาวต่อไป ดังที่ได้ดำเนินงานมากว่า 6 ทศวรรษ

“ด้วยการผสานความรู้ความเชี่ยวชาญในธรณีวิทยาของอ่าวไทย เข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และแนวทางปฏิบัติงานที่เป็นเลิศจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เชฟรอนเชื่อมั่นว่าเราสามารถพัฒนาปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งขับเคลื่อนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050)”

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หลังจากที่ เชฟรอน ได้ส่งมอบพื้นที่สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งเอราวัณ, แหล่งปลาทอง, แหล่งสตูล และแหล่งฟูนาน ให้กับ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เชฟรอนเหลือแหล่งผลิตปิโตรเลียมหลัก ๆ อยู่ 2 แหล่ง คือ แหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลิน กับแหล่งผลิตปิโตรเลียมเบญจมาศ

ทั้งนี้ มีกำลังการผลิตก๊าซรวมประมาณ 400-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, ก๊าซธรรมชาติเหลวราว 15,000-16,000 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบราว 7,500 บาร์เรลต่อวัน เหลือสัดส่วนราว 30% ของปริมาณการผลิตเดิม โดยขณะนี้เชฟรอนได้ยื่นข้อเสนอมาที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อขอขยายอายุสัมปทานแหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลินซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2571 ออกไปอีก 10 ปี

เชฟรอนยื่นขอขยายเวลามายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินานแล้ว ซึ่งการขยายเวลาตามกฎหมายแล้วสามารถดำเนินการได้ แต่คณะกรรมการจะหารืออย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐและประเทศชาติมากที่สุด โดยอาจจะมีการทบทวนเพิ่มเงื่อนไขต่าง ๆ เพิ่มเติม ซึ่งหากทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ก็สามารถขยายเวลาออกไปได้ตามกฎระเบียบข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจ”

อย่างไรก็ตาม จากการเข้ารับขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยของเชฟรอนครั้งนี้ ถือได้ว่าทลายข้อกังขาว่าเชฟรอนจะยุติการลงทุนธุรกิจในประเทศไทย เพราะหากสำรวจพบปิโตรเลียมจะทำให้เชฟรอนสามารถผลิตปิโตรเลียมในแปลงดังกล่าวได้ถึง 20 ปี และสามารถขอขยายระยะเวลาตามกฎหมายได้อีก 10 ปี