บอร์ด EV’ ชง ครม.ก่อนยุบสภาฯ ปรับมาตรการดึง ‘ค่ายรถ’ ลงทุนรถไฟฟ้าในไทยเพิ่ม

บอร์ด EV’ ชง ครม.ก่อนยุบสภาฯ ปรับมาตรการดึง ‘ค่ายรถ’ ลงทุนรถไฟฟ้าในไทยเพิ่ม

บอร์ดอีวี เตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้า เคาะแพคเกจฉบับปรับปรุง เร่งเสนอก่อนยุบสภา รองรับค่ายรถทุกค่ายในโลกลงทุนไทย เล็งยืดเวลาผลิตรถทดแทนการนำเข้าจาก 2 ปี เป็น 3 ปี ค่ายรถกลุ่มเดิมไม่เสียเปรียบ เปลี่ยนมาเข้ามาตรการใหม่ได้ พร้อมซอยประเภทรถที่รับเงินอุดหนุนให้ละเอียดขึ้น

Key Points

  • มาตรการจ่ายเงินอุดหนุนการซื้อ EV ที่ออกมาเมื่อปี 2565 ได้ผลตอบรับที่ดี
  • ภาครัฐคาดว่ายอดจองรถ EV ในปี 2566 จะมากกว่า 20,000 คัน
  • บอร์ด EV จะเสนอ ครม.ปรับมาตการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
  • จะผ่อนหลักเกณฑ์การผลิต EV สำหรับค่ายรถที่นำเข้ารถมาจำหน่ายในประเทศ

มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ (EV) ได้รับผลตอบรับที่ดี โดยเฉพาะมาตรการรอบแรก หรือ EV1 ที่เป็นการอุดหนุนเงินให้ผู้บริโภคผ่านค่ายรถ โดยอุดหนุนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันละ 18,000 บาท รวมทั้งอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะไม่เกินคันละ 150,000 บาท ในระหว่างปี 2565-2568 และล่าสุดได้มีมาตรการ EV2 เพื่อสนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่วงเงิน 24,000 ล้านบาท

ขณะนี้ได้มีการจัดทำมาตรการ EV3 ที่จะเป็นใช้ในปี 2567 โดยคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้ประชุมเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 เห็นชอบมาตรการส่งเสริม EV ชุดที่ 3 หรือ EV3 โดยเป็นการปรับรายละเอียดจากมาตรการ EV2 ดังนี้

1.ปรับวงเงินสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า จากเดิมที่กำหนดสูงสุดไม่เกินคันละ 150,000 บาท รวมทั้งจะมีการปรับประเภทรถที่รับการอุดหนุนเงินให้ละเอียดมากขึ้น โดยเทียบกับมาตรการปัจจุบันที่รถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 kWh ได้รับอุดหนุน 70,000 บาท และรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ขนาดเกิน 30 kWh ได้รับการสนับสนุนคันนะ 150,000 บาท ซึ่จะปรับรายละเอียดประเภทรถที่รับการอุดหนุน

 

2.การปรับเงื่อนไขการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งมาตรการปัจจุบันกำหนดให้บริษัทรถนำเข้าที่ขอรับเงินอุดหนุนต้องเริ่มผลิตรถชดเชยใน 2 ปี เท่ากับจำนวนการนำเข้า CBU ในอัตราการนำเข้าต่อการผลิตในประเทศที่ 1.0 ต่อ 1.5 คัน 

ทั้งนี้ จะปรับให้การผลิตทดแทนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยจากเดิมกำหนดให้มีการผลิตทดแทนภายใน 2 ปี ปรับเป็นภายใน 3 ปี แต่มีเงื่อนไขอัตราส่วนการผลิตทดแทนที่สูงขึ้น

3.ปรับมาตรการสนับสนุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่กำหนดวงเงินไว้ 24,000 ล้านบาท โดยจะลงรายละเอียดงบประมาณที่สนับสนุนในแต่ละปี และกำหนดวงเงินที่สนับสนุนตั้งแต่ระดับ 1-8 กิกะวัตต์

“สรรพสามิต-อุตฯ”หารือเพิ่ม

แหล่งข่าวจากบอร์ด EV กล่าวว่า กรมสรรพสามิตและกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังหารือรายละเอียดในการปรับมาตรการดังกล่าวให้เป็นมาตรการ EV3 เพื่อเสนอนายสุพัฒนพงษ์ ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 มี.ค.2566 โดยที่ประชุมบอร์ด EV เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการ แต่ยังมีรายละเอียดบางส่วนที่ยังเห็นไม่ตรงกันจึงให้กรมสรรพสามิตและกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกันอีกครั้ง

“บอร์ด EV จะเสนอชุดมาตรการใหม่เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ก่อนที่จะมีการยุบสภา เพื่อให้ชุดมาตรการที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.สามารถนำไปให้หน่วยงานต่างๆ เดินหน้าต่อเพื่อเป็นแนวทางรองรับการลงทุนการผลิตรถ EV และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV ในไทย”

มั่นใจยอดยอดจองรถปีนี้พุ่ง

แหล่งข่าว กล่าวว่า เหตุผลสำคัญของการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้ เพราะบอร์ด EV พิจารณาเห็นว่าหลังจากที่ออกมาตรการอุดหนุนการซื้อรถไฟเมื่อปี 2565 ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และความต้องการภายในประเทศยังมีอีกมาก 

ทั้งนี้ ในปี 2565 มียอดจองรถ EV มากกว่า 20,000 คัน และในเดือน ก.พ.2566 มียอดจดทะเบียนรถ EV มากถึง 5,000 คัน ซึ่งฝ่ายนโยบายมั่นใจว่าปีนี้ยอดจองรถรถยนต์ไฟฟ้าจะมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะเริ่มเห็นสัญญาณจากงานมอเตอร์โชว์ที่จะถึงในเดือน เม.ย.นี้

สำหรับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ทำให้หลายค่ายรถเริ่มเห็นโอกาสในการลงทุนผลิตรถรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และต้องการที่จะเข้าร่วมโครงการส่งเสริมของภาครัฐ 

รวมทั้งรัฐบาลได้ประเมินว่าผลจากนโยบายที่สนับสนุนมีส่วนสำคัญ เช่น การให้เงินอุดหนุนกับค่ายรถที่จำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าคันละ 70,000-150,000 บาท รวมทั้งมาตรการทางด้านภาษีที่สนับสนุนเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญ และมาตรการสนับสนุนอื่นถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ค่ายรถตัดสินใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ หากมีการเปิดส่งเสริมรอบใหม่ก็ควรมีการปรับเงื่อนไขและรายละเอียดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและกำหนดการส่งเสริมในแพคเกจการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าชุดใหม่จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มาจากค่ายรถยนต์ทั่วโลก

ชี้ค่ายรถกลุ่มแรกไม่เสียเปรียบ

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 มี.ค.2566 บอร์ด EV จะนำมติที่ประชุมเรื่องมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพราะเป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายจึงต้องนำเสนอก่อนการยุบสภา เพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้ การปรับมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้จะปรับให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีการผลิตรถเพื่อทดทนการนำเข้า เช่น ขยายเวลาให้ผู้ผลิตรายใหม่ที่เข้ามาจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใน 3 ปี จากเดิมภายใน 2 ปี ซึ่งเป็นการยืดเวลาให้แต่ต้องผลิตเพิ่มขึ้น โดยจะไม่ทำให้บริษัทที่เข้าร่วมรอบแรกได้เปรียบหรือเสียเปรียบ และอยู่บนหลักการที่แต่ละบริษัทมีความพร้อมไม่เหมือนกัน แต่รายเดิมปรับมาขอเข้าโครงการรอบใหม่ได้

นอกจากนี้จะเสนอขอให้ ครม.อนุมัติในหลักการที่รัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุนเงินสำหรับการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยขอเป็นหลักการเพื่อให้สามารถไปเจรจาต่อได้ โดยมั่นใจว่าไทยจะสามารถดึงผู้ผลิตรายใหญ่มาได้

สำหรับมาตรการที่นำเสนอเพื่อดึงบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานผลิต เพื่อไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ภายหลังช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย แล้วจุดติดเร็วมาก ปัจจุบันมีวิ่งในท้องถนนแล้วกว่า 10,000 คัน และที่จองแล้วรอรับรถอีก 36,000-37,000 คัน

“ขณะนี้มีความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 300 กิโลวัตต์ สูงในระดับที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงได้ ขณะที่อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศคู่แข่งเพิ่งมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งในท้องถนนเพียง 600 คันเท่านั้น”