กลุ่มเลือกตั้ง ‘เฟิร์สโหวต’ คาดหวังนโยบายแก้คอร์รัปชั่นมากสุด

กลุ่มเลือกตั้ง ‘เฟิร์สโหวต’  คาดหวังนโยบายแก้คอร์รัปชั่นมากสุด

ม.หอการค้า เผย ผลสำรวจคนไทยต้องการให้แก้ปัญหา “คอร์รัปชัน” เป็นอันดับ 1 ชี้พรรคการเมืองควรเสนอนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุกลุ่มเฟิร์สโหวต 18-19 ปี คาดหวังให้นักการเมืองแก้ปัญหาทุจริตมากที่สุด ยืนยันไม่เลือกนักการเมืองซื้อเสียง

Key Points

  • ผลการสำรวจความเห็นประชาชนต้องการให้มีให้นโยบายแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น
  • กลุ่มอายุ 18-19 ปี มีคาดหวังให้นักการเมืองแก้ปัญหาทุจริตมากที่สุด
  • ประชาชน 67% มองว่านโยบายแก้ปัญหาทุจริตมีผลต่อการลงคะแนนเลือกตั้ง
  • มีพรรคการเมืองเพียง 3 พรรค ที่นำเสนอนโยบายต่อต้านการคอรัปชั่น

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดทำผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยในการเลือกตั้ง 2566 โดยยังคงเห็นว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นนโยบายอันดับ 1 ที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทย ได้มีการสำรวจความเห็นประชาชน 2,255 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 5-25 ม.ค.2566

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การสำรวจครั้งนี้พบว่าการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัญหาสำคัญอันดับ 1 ที่ประชาชนต้องการให้แก้ไขมากที่สุด ตามด้วยปัญหาการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยคอร์รัปชันขึ้นมาเป็นอันดับ 1 จากการสำรวจการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อปี 2562 ที่ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 และคอร์รัปชันเป็นอันดับ 3

กลุ่มเลือกตั้ง ‘เฟิร์สโหวต’  คาดหวังนโยบายแก้คอร์รัปชั่นมากสุด

ส่วนปัญหาคอรัปชั่นที่ส่งผลเสียและต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ ทุจริตในระบบราชการ, ทุจริตในกระบวนการยุติธรรม, เงินบริจาคแก่สถาบันศาสนา, การศึกษา, สิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ ,การดูแลผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กด้อยโอกาส, ระบบขนส่งมวลชนและโครงสร้างสาธารณูปโภค, ภาคเกษตร, กระบวนการนำเข้าส่งออก

“ที่น่าสนใจคือคนอายุ 18 ปี ที่เลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกเห็นว่าปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องแก้ไขมากที่สุด คือ ปัญหาคอร์รัปชั่นสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นอันดับ 1 โดยต้องการให้พรรคการเมือง นักการเมือง มีความชัดเจนในการนโยบายนี้"

เมื่อพิจารณารายละเอียดความเห็นของกลุ่มอายุ 18-19 ปี สอดคล้องกับกลุ่มอายุอื่น ดังนี้อันดับ 1 จำนวน 33.3% เห็นว่านักการเมืองควรมีความซื่อสัตย์ ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น มีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการทำงาน สามารถรักษาสัญญาและเน้นการปฏิบัติที่แก้ปัญหาให้กับประชาชน

อันดับ 2 จำนวน 24.9% เห็นว่านักการเมืองควรมีความเป็นผู้นำพร้อมด้วยความสามารถรอบด้านที่จะแก้ปัญหาต่างๆ และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสาธารชน

อันดับ 3 จำนวน 16.9% เห็นว่านักการเมืองควรมีการทำงานอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใสและตรวจสอบได้

ถึงแม้กลุ่มอายุ 18-19 ปี จะมีความเห็นสอดคล้องกับกลุ่มตามอายุอื่น แต่พบว่าเป็นกลุ่มที่มีความคาดหวังต่อนักการเมืองในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นมากที่สุดถึง 87.5% รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 40-49 ปี คาดหวังกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นถึง 86.5%

กลุ่มเลือกตั้ง ‘เฟิร์สโหวต’  คาดหวังนโยบายแก้คอร์รัปชั่นมากสุด

 

นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถาม 67% มองว่านโยบายการต่อต้านคอรัปชั่น มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง ที่ควรจะมีมาตรการชัดเจน รวมทั้งกลุ่มความเห็น 83.6% จะไม่เลือกพรรคที่ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น 16.4% ตอบว่ายังคงเลือกเพราะอย่างไรก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย และหากนักการเมืองใช้เงินซื้อเสียง จะเลือกหรือไม่ ส่วน 86.2% ตอบไม่เลือก เพราะทุจริตตั้งแต่เริ่มต้น ผิดกฎหมาย และอีก 13.8% เลือกเพราะแค่เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศก็พอ ทุกพรรคก็ทำเหมือนกัน ถือเป็นการกระจายเงินถึงประชาชน จ่ายหรือไม่จ่ายก็เลือก เพราะเป็นคนและพรรคที่ชอบ

คนส่วนใหญ่ไม่เลือกพรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน และไม่เลือกคนซื้อเสียง ไม่ว่าจะจ่ายเงินเท่าไรก็ตาม ไม่เหมือนในอดีตอีกแล้ว”

นายวิเชียร พงศธรประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ชัดว่าประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและอยากให้แก้ปัญหาคอร์รัปชัน อยากได้นักการเมืองซื่อสัตย์ ถ้าไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันจะไม่เลือก ซึ่งมองว่านักการเมืองเป็นกลุ่มที่ทุจริตมากที่สุด ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้นักการเมืองที่เป็นฝ่ายบริหาร 

ทั้งนี้การทุจริตของไทยไม่ได้อยู่เฉพาะในระบบราชการเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งบางประเด็นรุนแรงขึ้นซึ่งผลสำรวจนี้สะท้อนความต้องการของประชาชนชัดเจนแล้ว ดังนั้นควรออกนโยบายแก้ไขปัญหาให้ชัดเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการคัดเลือกพรรคและผู้แทนที่แก้ปัญหานี้ได้

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การทุจริตมีกว้างขวาง การแก้ปัญหายังไม่ดีขึ้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี คนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับการแก้ปัญหามากขึ้น ที่สำคัญ ไม่ทานทนกับการทุจริต และอยากเห็นการต่อต้านการทุจริต” นายวิเชียร กล่าว

นายมานะ นิมิตมงคลเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า คนไทยต้องการแนวทางแก้ปัญหาทุจริตที่จับต้องได้ โดยการเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมือง 3 พรรคเสนอนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน แต่นำเสนอแบบลอยๆ เช่น ยึดมั่นในอุดมการณ์ ทำอย่างโปร่งใส ซึ่งทำให้ 5 ปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาทุจริตล้มเหลว ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้มี 3 พรรค ที่นำเสนอนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน

“ผู้นำรัฐบาลและผู้นำหน่วยงานต่างๆ เพียงแค่บอกมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ส่วนการทำข้อตกลงคุณธรรมกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการไม่ได้การันตีว่าจะช่วยให้ปัญหาหมดไป เพียงแค่ทำให้ใช้งบคุ้มค่า และ 8 ปีที่ผ่านช่วยทำให้งบไม่รั่วไหล 90,000 ล้านบาท”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของไทย เพราะไทยกำลังทะยานจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศพัฒนา ที่ผ่านมา ไทยเสียความสามารถด้านการแข่งขัน กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และรัฐมีภาระค่าใช้จ่ายกับคนกลุ่มนี้มาก 

ขณะที่แรงงานวัยทำงานลดลง อัตราการเกิดลดลง ความโดเด่นด้านกำลังซื้อ ที่จะเป็นตัวดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ลดลง แล้วยิ่งมีการทุจริต จะยิ่งดึงเงินที่น้อยอยู่แล้วในระบบให้น้อยลงไปอีก

ไทยกำลังต้องการเม็ดเงินจากลงทุนจากต่างประเทศ จึงต้องทำกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน หรือการมาพักอาศัยของชาวต่างชาติระยะยาว ถ้ากฎระเบียบไม่เอื้ออำนวย จะนำไปสู่การคอร์รัปชัน นอกจากนี้ คนไทยต้องการให้พรรคการเมืองวางรากฐานแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบันไม่ว่าใครถ้ามีเงินแล้วทำผิดจะหลุดจากคดี พรรคการเมืองต้องทำให้ไทยเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว