'เลือกตั้ง’ ปลุกเศรษฐกิจ-โฆษณาเงินสะพัด “พรรคการเมือง” เร่งโกยฐานเสียง

'เลือกตั้ง’ ปลุกเศรษฐกิจ-โฆษณาเงินสะพัด “พรรคการเมือง” เร่งโกยฐานเสียง

ไตรมาส 2 อุตสาหกรรมโฆษณาคึกคัก ขานรับปัจจัยบวกทั้งหน้าร้อนไฮซีซั่นสินค้าเครื่องดื่ม และ "การเลือกตั้ง" ครั้งใหญ่ ดันเศรษฐกิจเลือกตั้งเงินสะพัดเข้าสู่ระบบหมื่นล้าน ฟากโฆษณาได้อานิสงส์ด้วย แต่คาดดันเติบโตไม่ถึงร้อยล้าน

อุตสาหกรรมโฆษณาสตาร์ทต้นปีด้วยสถานการณ์ “ติดลบ” เนื่องจากแบรนด์ยังชะลอใช้จ่ายเม็ดเงิน ประกอบกับไตรมาส 4 ไฮซีซั่น เปย์ไปมากแล้ว ทำให้ส่งผลต่อภาพรวมเดือนมกราคม 2566

ทว่า ตลอดทั้งปี นักการตลาด เอเยนซี ยังมองโมเมนตัม “บวก” ด้วยสารพัดแรงส่งจะผลักดันการเติบโต

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัดหรือเอ็มไอ(MI) ให้มุมมองภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปี 2566 จะเติบโตได้ 4.7% สร้างมูลค่าตลาด 85,790 ล้านบาท อัตราการขยายตัวถือว่า “ต่ำ” กว่าปี 2565 ซึ่งทั้งปีปิดตัวเลข 81,939 ล้านบาท เติบโต 7.6%

“ช่วง 2 เดือนแรก การใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาซึมมาก เนื่องจากมีปัจจัยลบกระทบธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไม่เป็นไปตามคาด”

ทว่า ปัจจัยบวกปี 2566 มีมากพอจะฟื้นแบรนด์งบโฆษณา โดยเฉพาะ “การท่องเที่ยว” เห็นนักเดินทางเข้ามาไทยแบบ “ก้าวกระโดด” กระตุ้นการบริโภค รวมถึงหน้าร้อน ไฮไซซีซั่นที่สินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม จะทำกิจกรรม ปล่อยแคมเปญสื่อสารการตลาดมากขึ้น แม้ไม่คึกคักเท่าช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ถือว่าช่วยปลุกตลาด

\'เลือกตั้ง’ ปลุกเศรษฐกิจ-โฆษณาเงินสะพัด “พรรคการเมือง” เร่งโกยฐานเสียง ฐานเสียงคนรุ่นใหม่ 3.9 ล้านคน

ขาดไม่ได้คือ “การเลือกตั้ง” ที่จะมีขึ้นกลางปี ส่งผลให้ “พรรคการเมือง” ต่างๆ เตรียมอาวุธในการสื่อสาร ทำแคมเปญ “หาเสียง” ประกาศนโยบายประชันกันเต็มที่ โดยเฉพาะการมุ่งไปยังผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงหน้าใหม่หรือ New Voter บรรดาเจนเนอเรชั่นใหม่มีราว 3.9 ล้านราย

ทั้งนี้ สถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้สมัคร และพรรคการเมืองต่างๆ ดันเม็ดเงินโฆษณาสะพัดจำนวนมาก เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ปี 2557 เงินสะพัดกว่า 90 ล้านบาท ปี 2562 สะพัดกว่า 28 ล้านบาท และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2565 เงินสะพัดกว่า 31 ล้านบาท

โดย “สื่อ” ที่คาดว่าจะโกยพื้นที่ในการหาเสียง ยกให้แพลตฟอร์ม “ออนไลน์” แม้หลายแบรนด์จะไม่ให้ใช้เป็นพื้นที่หาเสียง วางตัว “เป็นกลาง” ทางการเมือง แต่กลเม็ดในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ฐานเสียง ยังมีแนวทางทำได้ เช่น ยูทูปเบอร์ เหล่าคนดังบนโลกออนไลน์หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ ที่ประกาศตัวชัด “เลือกข้าง” สนับสนุน อาจสร้างคอนเทนท์ ให้เกิดกระแสบนโลกออนไลน์

\'เลือกตั้ง’ ปลุกเศรษฐกิจ-โฆษณาเงินสะพัด “พรรคการเมือง” เร่งโกยฐานเสียง

พรรคการเมืองเปย์งบโฆษณาหาเสียง เช่น ปี 57 ชาติพัฒนาใช้กว่า 16 ล้านบาท

นอกจากนี้ “สื่อหลัก” จะนำไปต่อยอด ทั้งการนำเสนอ ทำให้ได้พื้นที่โฆษณาฟรีหรือ Earn Media ด้วย

ย้อนการเลือกตั้งหลายปีก่อน สื่อทีวี สิ่งพิมพ์ และสื่อโฆษณานอกบ้าน เช่น ป้ายต่างๆ จะมีอิทธิพลต่อการสื่อสารนโยบาย ประกาศแคมเปญ โกยฐานเสียงค่อนข้างมาก เมื่อดิจิทัล มีบทบาท จึงแทนที่สื่อดั้งเดิมมากขึ้น

ทว่า ช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งโค้งสุดท้าย “ทีวี” ยังมีบทบาท โดยเฉพาะ “รายการข่าว” จะได้รับความนิยมมากขึ้นและอาจทำให้เม็ดเงินโฆษณาถูกผันมายังช่องทีวีดิจิทัลค่ายๆต่างๆเพิ่มเล็กน้อย

“เศรษฐกิจการเลือกตั้งคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดหลักหมื่นล้านบาท เพราะแต่ละพรรคต้องลงพื้นที่โกยคะแนนเสียง แต่เม็ดเงินโฆษณาอาจไม่ขยายตัวมากนัก ส่วนสินค้าที่จะได้อานิสงส์จากการเลือกตั้ง คาดว่าจะเป็นทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น”

ปี 2566 ยังมี “ซีเกมส์” เกิดขึ้น แต่กลับไม่ใช่แรงส่งต่อการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณา เพราะกระแสค่อนข้างแผ่ว ยิ่งเจ้าภาพบรรจุรายการกีฬาในการแข่งขันกลับไม่เป็นที่นิยม ดึงดูดคนดูด้วย

\'เลือกตั้ง’ ปลุกเศรษฐกิจ-โฆษณาเงินสะพัด “พรรคการเมือง” เร่งโกยฐานเสียง ทิศทางอุตสาหกรรมโฆษณาปี 66 โต 4.7%

ทั้งนี้ 5 หมวดอุตสาหกรรมจะคึกคักในปี 2566 ได้แก่ 1.หมวดยานยนต์ จักรยานยนต์ โดยเฉพาะ ยานยนต์พาณิชย์ ยานยนต์พลังงานสะอาด (EV, HEV, PHEV) คาดเม็ดเงินมากกว่า 5,800 ล้านบาท 2.หมวดงานอีเวนท์ กิจกรรมคอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า คาดเม็ดเงินปีนี้มากกว่า 1,000 ล้านบาท 3.อีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะ มาร์เก็ตเพลสที่ตอบโจทย์การเดินทางและท่องเที่ยว รถยนต์มือสอง, ประกัน ดีลและส่วนลดพิเศษ คาดเม็ดเงินปีนี้มากกว่า 1,800 ล้านบาท 4.อาหาร เครื่องดื่ม และบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อสุขภาพและความงาม คาดเม็ดเงินรวมปีนี้มากกว่า 9,800 ล้านบาท และ5.ผลิตภัณฑ์ในหมวดความสวยและความงาม คาดเม็ดเงินรวมปีนี้มากกว่า 9,300 ล้านบาท

อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลจะแผ่วใช้เงินทำการตลาด เนื่องจาก “ผู้บริโภคเป็นหนี้” เช่น บัตรเครดิตเต็มวงเงิน ไม่สามารถกู้เพิ่มได้อีก สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกกฎเข้มคุมการปล่อยสินเชื่อ หลังคนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูง และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)มหาศาล