สารพัดปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเอสเอ็มอี!

เครือเนชั่นจัดสัมมนา “อนาคตประเทศไทย : SME จะไปทางไหน” โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการเงินร่วมนำเสนอแนวทางผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อให้มีพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แสงชัย ธีรกุลวาณิช ระบุ โครงสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไม่ได้มีแค่ 3.2 ล้านคน แต่ยังมีกลุ่มเอสเอ็มอีแฝงอยู่ในส่วนอื่น คือกลุ่มเกษตรกร 10 ล้านคน รวมทั้งเอสเอ็มอีที่มีการจ้างงาน 11 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศ วันนี้ยังมีความเสี่ยงที่รายล้อมหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่จบ เศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งเรามองทางรอดของเอสเอ็มอี คือ เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล โมเดลบีซีจี และการยกระดับสู่ S-Curve ถัดไป

นอกจากนี้ เอสเอ็มอี ยังมีปัญหาที่ต้องตระหนักประกอบด้วย วิกฤติ 5 ด้านคือ สุขภาพ, สงคราม, เศรษฐกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมี 7 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ รายได้ลด, ต้นทุนเพิ่ม-พลังงานแพง, ค่าครองชีพสูง, เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจฝืด, หนี้เพิ่ม, คนว่างงานเพิ่มและค่าแรงเพิ่ม-ขาดแรงงานที่มีทักษะ นอกจากนี้ยังมี 3 ระเบิดเวลาที่กำลังรอระเบิด คือ หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ ซึ่งทำให้กลุ่มเอสเอ็มอียังฟื้นกลับมาไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย

ปัญหาหนี้บางส่วนเป็นหนี้ด้อยคุณภาพที่ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มหนี้เสียกว่า 2.1 ล้านราย ตรงนี้รัฐจะมีกลไกอย่างไรเพื่อเข้าไปช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้ฟื้นตัวกลับมา และทบทวนกลไกให้กลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงมีแต้มต่อและได้รับดอกเบี้ยต่ำ ปัจจุบันดอกเบี้ยของกลุ่มรายย่อยสูงกว่ารายใหญ่หลายเท่าตัว ทำให้กลุ่มนี้เป็นเพียงการทำงานหาใช้หนี้ การผลักดันนโยบายต่างๆ ของภาครัฐสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีต้องแก้ปัญหาเป็นรายเซคเตอร์และเป็นโฟกัสกลุ่มซึ่งแต่กลุ่มมีความต้องการที่ต่างกัน ให้เอสเอ็มอีไม่เจอทางตัน

สำหรับแนวทางที่เอสเอ็มอีมองเป็นทางรอด ประกอบด้วย เศรษฐกิจบีซีจี เน้นกลไกเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งลดการพึ่งพาการนำเข้า การสร้างความยั่งยืนร่วมกับนวัตกรรมใส่ในธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งเชื่อมโยงกลไกทางการเงินและแผนการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาช่องทางในการพึ่งพาตนเองมากยิ่งขึ้น เช่น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สนับสนุนให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างกลุ่มผู้ประกอบการ SME เป็นต้น

ด้านรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. โมกุล โปษยะพิสิษฐ์ ระบุ ระยะต่อไปหากต้องการขยายธุรกิจต้องพิจารณาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งไม่ควรที่จะพึ่งพาเพียงสถาบันการเงินใดการเงินหนึ่ง ซึ่งเอสเอ็มอีอาจจะมีข้อดีในเรื่องความไวในการปรับตัว แต่ยังมีความเปราะบาง แหล่งเงินทุนจำกัด การบริหารธุรกิจยังไม่เป็นระบบ ซึ่งจะต้องมีการปรับตัว

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในไทยมีมากกว่า 3 ล้านราย โดย 95% เป็นเอสเอ็มอี แต่มีสัดส่วนของจีดีพีเพียง 35% เท่านั้น สื่อให้เห็นว่าประเทศยังขับเคลื่อนด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ หากต้องการผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ต้องมีการสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง

 

ด้านรองผู้อำนวยการ กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ ธนาคารออมสิน วีระชัย อมรถกลสุเวช ระบุ เอสเอ็มอีต้องปรับตัวจากเพื่อรองรับกับต้นทุนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยส่วนตัวมองเรื่องแหล่งเงินทุนนั้นเป็นปัจจัยรองหลังจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาสนับสนุน

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันแนวทางดำเนินธุรกิจไม่ได้พิจารณาเฉพาะกำไร โดยต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลควบคู่กันไปเพื่อให้สอดคล้องกับกติกาโลก ทั้งโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ BCG ซึ่งผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อมุ่งเน้นการทำธุรกิจให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และการพัฒนาประเทศไทยที่ต้องรับผิดชอบใน 3 เรื่องทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับด้านธรรมาภิบาล (ESG)