7 พรรคโชว์กึ๋นชิง 4 ล้านเสียง "คนท่องเที่ยว" แก้ดราม่า ดันไทยยืนหนึ่งเวทีโลก

7 พรรคโชว์กึ๋นชิง 4 ล้านเสียง "คนท่องเที่ยว" แก้ดราม่า ดันไทยยืนหนึ่งเวทีโลก

นับถอยหลังสู่ “การเลือกตั้ง” ปี 2566 แรงงานกว่า 4 ล้านคนใน “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” คือฐานเสียงขนาดใหญ่ที่กำลังจับจ้องนโยบายและวิสัยทัศน์ของบรรดาพรรคการเมือง ว่าจะเกื้อหนุนผู้ประกอบการและแรงงานในภาคนี้ ที่เคยสร้างรายได้รวมกว่า 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 อย่างไรบ้าง?

วานนี้ (14 ก.พ.) การประชุมสมาชิกร่วมระหว่างสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ครั้งที่ 19 จัดบรรยายพิเศษจากตัวแทนพรรคการเมือง 7 พรรค หัวข้อ “พรรคไหนใส่ใจเรื่องท่องเที่ยวปี 2566” ให้ได้ร่วมประชันวิสัยทัศน์!

 

++ "ก้าวไกล" ดัน กิโยตินกฎหมาย-กระจายอำนาจ

วรภพ วิริยะโรจน์ ตัวแทน “พรรคก้าวไกล” กล่าวว่า ตั้งเป้าส่งเสริมภาคท่องเที่ยวไทยให้เป็น “จุดหมายปลายทางที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดชีวิต” ตั้งแต่เดินทางกับครอบครัว เพื่อการทำงาน ไปจนถึงวัยเกษียณ นโยบายของพรรคก้าวไกลคือการแก้กฎหมายล้าสมัย หรือ “กิโยตินกฎหมาย” เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน พร้อม “กระจายอำนาจ” เปลี่ยนบริบทของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นกลไกขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยว เช่น กฎหมายกำหนดเวลาปิดให้บริการสถานบันเทิง มองว่าไม่สามารถใช้กฎหมายตัวเดียวกำหนดเวลาปิดฯของสถานบันเทิงทั่วประเทศได้ ควรให้หน่วยงานรัฐในแต่ละท้องถิ่นกำหนดเวลาน่าจะเหมาะสมกว่า

ขณะเดียวกันมีนโยบาย “สร้างงาน สร้างอุตสาหกรรม” โดยเฉพาะการต่อยอดสร้างรายได้จากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนวงเงินการสร้างภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ของประเทศไทย เผยแพร่สร้างรายได้ในฟต่างประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชื่นชอบคอนเทนต์ดังกล่าว เดินทางเข้ามาจับจ่ายในไทย นอกจากนี้มองด้วยว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงแรมไทย หากสามารถผลักดันแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agents: OTA) เข้าไปอยู่ใน “ซิงเกิลแพลตฟอร์ม” สำหรับชาวต่างชาติ ที่เป็นผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน น่าจะช่วยโรงแรมไทยแก้ปัญหาภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมแก่ OTA ได้

++ "ประชาธิปัตย์" ชู "เอกชนนำ รัฐบาลหนุน"

พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ตัวแทน “พรรคประชาธิปัตย์” กล่าวว่า ควรมีการต่อยอดแพลตฟอร์ม “เป๋าตัง” ดึงนักท่องเที่ยวมาจองโรงแรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมซึ่งปัจจุบันต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการขายผ่าน OTA ประมาณ 25% ขณะที่นโยบายหลักของพรรคฯคือ “เอกชนนำ รัฐบาลหนุน” ผลักดันให้ภาคท่องเที่ยวไทยแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิด-19 ดิสรัป เช่น เงินกองทุนต่างๆ ควรให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ภาครัฐต้องร่วมยกระดับทักษะแรงงานให้มีคุณภาพในมิติต่างๆ มากขึ้น เช่น ภาษา และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีนโยบาย “แยกกระทรวงท่องเที่ยว” ออกจากกีฬาด้วย

“อีกหนึ่งความน่ากังวลของภาคท่องเที่ยวไทยตอนนี้คือ ทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมมาก จากเข้ามาตั้งรกราก ทำธุรกิจแบบครอบครัวแล้วส่งต่อถึงลูกหลาน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ ทุนจีนเข้ามาเพื่อซื้อกิจการ เช่น โรงแรม หรือตั้งบริษัท ทำร้านอาหาร แล้วโกยเงินกลับเข้าประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องออกกฎกติกาเพื่อปกป้องธุรกิจท่องเที่ยวให้อยู่ในมือคนไทย”

 

++ "ชาติไทยพัฒนา" หนุนจัดตั้งกองทุนอุ้มท่องเที่ยว

สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ตัวแทน “พรรคชาติไทยพัฒนา” กล่าวว่า สโลแกนการพัฒนาภาคท่องเที่ยวไทยของพรรคฯคือ “ท่องเที่ยวไทยยั่งยืน ฟื้นคืนสมดุลทุกภาคส่วน” ด้วย 5 นโยบาย ได้แก่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน, การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, การส่งเสริมท่องเที่ยวตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) และการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในยามวิกฤติ หลังช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการท่องเที่ยวประสบปัญหาสายป่านสั้น และมีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

“ที่ผ่านมารัฐบาลอาจกำลังเอาเปรียบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อปี 2562 สร้างรายได้รวมกว่า 3 ล้านล้านบาทแก่เศรษฐกิจไทย คิดเป็นกำไรประมาณ 10% หรือ 3 แสนล้านบาท และเสียภาษีให้ภาครัฐ 30% หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจึงควรจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศไทย”

 

++ "ชาติพัฒนากล้า" มุ่งเพิ่มจำนวน-วันพัก-รายได้

เทมส์ ไกรทัศน์ ตัวแทน “พรรคชาติพัฒนากล้า” กล่าวว่า นโยบายของพรรคฯ คือ “เพิ่มจำนวน เพิ่มวัน เพิ่มรายได้” สำหรับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาประเทศไทยสู่ 80 ล้านคนในปี 2570 เทียบเคียงกับที่ประเทศฝรั่งเศสทำได้นั้น จากปี 2562 ประเทศไทยเคยได้ 40 ล้านคน และปี 2566 คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวอยู่ที่ 25 ล้านคน มองว่ามีศักยภาพจากฐานตลาดในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และตลาดใหม่อย่างซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการเจาะไลฟ์สไตล์น่าสนใจ เช่น กลุ่มดิจิทัลนอแมด กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มสายมู และกลุ่ม LGBTQ

ขณะที่การเพิ่มวัน ตั้งเป้าเพิ่มจากวันพักเฉลี่ย 10 วัน เป็น 12 วัน พร้อมเพิ่มรายได้ ตั้งเป้าเพิ่ม 40% จากเฉลี่ยใช้จ่ายวันละ 5,000 บาทต่อคน เป็น 7,000 บาทต่อคน ผ่านการชูเอกลักษณ์ด้านซอฟต์พาวเวอร์ การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่า รวมถึงปรับปรุงระบบคมนาคม ทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟ สนามบิน และอื่นๆ พร้อมกำกับดูแลแท็กซี่ให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้เกิด “ดราม่า” ตามมา โดยพรรคฯมีนโยบายให้งบประมาณแก่ทุกจังหวัด จังหวัดละ 1,000 ล้านบาทเพื่อนำไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยว

 

++ "ไทยสร้างไทย" ลุยนโยบาย "แก้-เพิ่ม-สร้าง"

สรเทพ โรจน์พจนารัช ตัวแทน “พรรคไทยสร้างไทย” กล่าวว่า พรรคฯมีนโยบาย “แก้ เพิ่ม สร้าง” อาทิ แก้กฎหมายหลายอย่างที่กำลัง “กดทับ” ประเทศไทย เนื่องจากกฎหมายบางฉบับนั้นล้าสมัย อย่าง พรบ.โรงแรม พ.ศ.2547 ต้องเร่งดึงโรงแรมขนาดเล็กเข้าระบบ นอกจากนี้ต้องแก้ค่าไฟซึ่งเป็นต้นทุนหลักของโรงแรม ก่อนยุคโควิด-19 ค่าไฟคิดเป็นต้นทุน 7% ของต้นทุนทั้งหมด ปัจจุบันสัดส่วนเพิ่มเป็น 10% นับเป็นต้นทุนที่สาหัสมากสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมในตอนนี้

ทั้งนี้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” (ล่าสุด ครม.อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 โดยอัตราสำหรับการเดินทางทางอากาศ จัดเก็บ 300 บาทต่อคน เดินทางทางบกและทางน้ำ จัดเก็บ 150 บาทต่อคน) อยากจะขอแบ่ง 100 บาทจากอัตราดังกล่าวมาจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการท่องเที่ยว” ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถกู้เงินได้โดยตรง

“ขณะเดียวกันจะมุ่งเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว มากกว่าการเพิ่มปริมาณ เพราะมีคำถามว่าทำไมเราต้องแข่งกับประเทศฝรั่งเศสในเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80 ล้านคนนั้นอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย”

 

++ "เพื่อไทย" ทวงคืนจุดยืนท่องเที่ยวไทย-ตั้งธนาคารท่องเที่ยว

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ตัวแทน “พรรคเพื่อไทย” กล่าวว่า นโยบายของพรรคฯคือ “การทวงคืนจุดยืนของภาคท่องเที่ยวไทยในตลาดโลก” หากปล่อยให้ภาคท่องเที่ยวไทย “กินบุญเก่า” มันก็จะมีวันหมดไป จำเป็นต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา ด้วยการเพิ่มโซนธุรกิจ “1 อำเภอ 1 แลนด์มาร์กใหม่” เพื่อแข่งขันกับนานาประเทศที่ได้ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในช่วง 3 ปีที่โควิด-19 ระบาด

นอกจากนี้จะก่อตั้ง “ธนาคารท่องเที่ยว” เพื่ออำนวยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งเงินทุนนำไปพลิกฟื้นธุรกิจ ควบคู่กับการดำเนินกลยุทธ์ “ทะเล 5 สี” เช่น ทะเลสีแดง พัฒนาการแข่งขันเชิงคุณภาพ ไม่ใช่ราคา, ทะเลสีเขียว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดูแลสิ่งแวดล้อม และ ทะเลสีรุ้ง ส่งเสริมการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ รวมถึงกลุ่มที่มีศักยภาพอื่นๆ อย่างดิจิทัลนอแมด และกลุ่มเดินทางตามรอยภาพยนตร์และซีรีส์

 

++ "ภูมิใจไทย" สานต่อ "พลิกฟื้นท่องเที่ยว" สู่ "วาระแห่งชาติ"

เขมพล อุ้ยตยะกุล ตัวแทน “พรรคภูมิใจไทย” กล่าวว่า พรรคฯมีนโยบาย “พลิกฟื้นการท่องเที่ยว” ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งเป้ายกระดับการทำงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อสร้างรายได้การท่องเที่ยวให้ได้ 25% ของจีดีพีประเทศไทยในปี 2570 เพิ่มจากปี 2562 ซึ่งเคยสร้างสัดส่วนรายได้ที่ 17% ของจีดีพี ฟื้นตัวจากปี 2566 ซึ่งตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาประเทศไทย 20-25 ล้านคน ฟื้นรายได้ 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ด้วยการดึงตลาดใหม่ และกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยจากสถิติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 ก.พ.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสะสมแล้วกว่า 3 ล้านคน