“ตะวันออกกลาง”การค้าทางเลือก เมื่อภูมิรัฐศาสตร์โลกป่วนไม่เลิก

“ตะวันออกกลาง”การค้าทางเลือก   เมื่อภูมิรัฐศาสตร์โลกป่วนไม่เลิก

บอลลูนลูก ลูกใหญ่ ลอยไป ลอยมา จากจีนไปโผล่ที่สหรัฐ ด้วยเหตุผลความผิดพลาดด้านการควบคุม เหตุผลนี้“ไม่ใกล้คำว่าพอเข้าใจกันได้”เอาซะเลย แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร บอลลูกเจ้าปัญหาก็ถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้ว แต่ดูเหมือนปัญหาสหรัฐจีนไม่น่าจะจบง่ายๆ

“ภูมิรัฐศาสตร์”กับการค้าและการลงทุน กำลังจะเป็นเรื่องเดียวกัน หากสถานการณ์สหรัฐและจีนยังตึงเครียดอยู่อย่างนี้ แล้วประเทศเล็กๆอย่างไทยจะเป็นอย่างไร

ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงตลาด“ซาอุดีอาระเบีย” ทั้งในบริบทการค้าและการลงทุนสูงมาก เพราะเป็นตลาดที่ทำตัวเองให้มี

ศักยภาพด้วยนโยบายใหม่ๆ  ผ่านวิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน ) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่าผลประกอบการของ ซีพีเอฟ ในปี 2565 มียอดเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มียอดรวม 512,704 ล้านบาท ซึ่งเติบโตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เนื่องจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ส่งผลกระทบให้หลายประเทศไม่สามารถผลิตอาหารได้อย่างพอเพียง 

“แต่ในปี 66 คาดว่าความต้องการของตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่ายอดขายของซีพีเอฟจะขยายอยู่ที่ 8-10 %”

ด้านการลงทุน ซีพีเอฟอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อร่วมลงทุนในซาอุดีอาราเบีย เพื่อกระจายสินค้าไปยังประเทศในตะวันออกกลาง เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มากหลักพันล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานผลิตสินค้าที่เป็น Core Business ของซีพีเอฟ อาทิ เลี้ยงไก่ กุ้ง คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธุรกิจจะเติบโต

 ทั้งนี้ยังต้องระวังปัจจัยลบในการดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟในปี 2566 มีต้นทุนข้าวโพดที่สูง ขณะนี้อยู่ที่ 13.40 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าสูงมาก โรคระบาดและความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่วนปัจจัยบวกคือจีนมีการเปิดประเทศให้เดินทางท่องเที่ยว คาดว่าจะสร้างความคึกคักให้ไทยและทั่วโลก การเลือกตั้งในประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี คาดว่าจะทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเติบโตดีขึ้น และการส่งออกสินค้าประเภท หมู ไก่ น่าจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัท

สอดคล้องกับ ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้เล่าถึง การลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและลดต้นทุนให้กับผู้ส่งออกของไทยผ่านโครงการ World Logistics Passport (WLP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยผู้ส่งออกไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ ทั้งการสร้างโอกาสทางการค้าในตลาดใหม่ผ่านเครือข่ายของ WLP ทั่วโลก อาทิ เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์และแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญทางการค้า และเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับเครือข่ายผู้ประกอบการและภาครัฐที่เป็นสมาชิกของ WLP ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ 

รวมถึงการสร้างทางเลือกในการขนส่งสินค้ารูปแบบใหม่ อาทิ Sea-to-Air จากท่าเรือในประเทศไทย-ท่าเรือ Jebel Ali-ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ-ท่าอากาศยานประเทศปลายทาง เป็นต้น 

นอกจากนี้ยัง ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานพันธมิตรของ WLP เมื่อเข้าเป็นสมาชิกของโครงการ อาทิ จะได้รับการบริการโหลดตู้สินค้าก่อน (Priority Handling) และ บริการอำนวยความสะดวก Fast Track Document Submission เมื่อใช้บริการทิฟฟาไอซีดีลาดกระบัง ได้รับส่วนลดค่าอบรมหลักสูตรที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานพันธมิตรของ WLP รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับผู้ส่งออกไทยในการทำการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยขยายตลาดการค้าและเพิ่มความมั่นใจตลอดการขนส่งจากต้นทางสู่ปลายทาง เป็นต้น

ในส่วนภาคเอกชนได้เร่งตัวเองเพื่อหาทางเลือกด้านการค้าใหม่ อย่างภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีทั้งศักยภาพและไม่ใช่คู่ขัดแย้งในเวทีสหรัฐ-จีน ที่เป็นปัจจัยทำให้สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังปั่นป่วน ซึ่งไทยจะต้องมีแผนรับมือกับความท้าทายต่างๆที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า หากไม่มียุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศที่ชัดเจน ปล่อยให้ลอยไปลอยมาเหมือนบอลลูน เชื่อว่าไม่ช้าไม่นานเศรษฐกิจไทยคงถูกยิงตกเหมือนบอลลูนลูกหนึ่งแน่นอน