“อีอีซี”สะดุด แรงสนับสนุนลดลง

“อีอีซี”สะดุด แรงสนับสนุนลดลง

เงื่อนไขความสำเร็จของอีอีซีอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่น โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทไทยและต่างชาติ เชื่อว่าอีอีซีจะเกิดขึ้นจริง หลังจากนี้คงต้องรอดูว่ารัฐบาลใหม่จะสนับสนุนอีอีซีเพียงใด

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถูกกำหนดเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเริ่มประกาศนโยบายมาตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2561 ภายหลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งให้อำนาจในการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการที่เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ใช้อำนาจเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตตามกฎหมาย 8 ฉบับ เช่น กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข กฎหมายโรงงาน

การพัฒนาในระยะแรกกำหนดให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 4 โครงการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โดยการพัฒนาท่าเรือ 2 โครงการ เริ่มงานในทะเลแล้ว แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ยังไม่สามารถเริ่มการก่อสร้างได้

โครงการรถไฟความเร็วสูง ลงนามสัญญาร่วมลงทุนในปี 2562 ส่วนโครงการสนามบินอู่ตะเภาได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนในปี 2563 ทั้ง 2 โครงการติดขัดปัญหาหลายประเด็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการและฝ่ายเอกชนในการแก้ปัญหา เพื่อให้โครงการขับเคลื่อนไปได้ แต่ดูเหมือนการแก้ไขปัญหามีความล่าช้าจนดูเหมือนทุกฝ่ายขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนาโครงการให้สำเร็จ โดยเฉพาะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ดำเนินการมามากกว่า 1 ปี

เงื่อนไขความสำเร็จของอีอีซีอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่น โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทไทยและต่างชาติ เชื่อว่าอีอีซีจะเกิดขึ้นจริง รวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนกล้าที่จะลงทุนในอีอีซี แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลขาดการโปรโมตอีอีซีอย่างที่ควรจะเป็น แม้แต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่นายกรัฐมนตรี ในบางช่วงขาดหายไปมากกว่า 4 เดือน สะท้อนให้เห็นถึงความเอาใจใส่ของรัฐบาลในการเร่งรัดขับเคลื่อนอีอีซี

รัฐบาลชุดปัจจุบันจะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 คงไม่มีอะไรฝากกับรัฐบาลที่กำลังจะหมดอายุได้ หลังจากนี้คงต้องรอดูว่ารัฐบาลใหม่จะสนับสนุนอีอีซีเพียงใด เพราะขนาดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสนับสนุนอีอีซีลดลง และถ้ารัฐบาลใหม่ลดการสนับสนุนอีอีซีลงอีก แล้วจะใช้อะไรเป็นจุดขายของประเทศในการเพิ่มการลงทุน และอะไรจะช่วยยกระดับการพัฒนาให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง จึงน่าเป็นห่วงว่าสิ่งที่วางไว้ในอีอีซีจะไม่เป็นตามแผน