แม่ทัพ "AWC" ชี้ยุคท่องเที่ยวเกิดใหม่! เร่งเพิ่มคนรับแผนลงทุน 5 ปีแสนล้าน

แม่ทัพ "AWC" ชี้ยุคท่องเที่ยวเกิดใหม่! เร่งเพิ่มคนรับแผนลงทุน 5 ปีแสนล้าน

“ภาคท่องเที่ยว” เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยกลับมาติดเครื่อง ส่งสัญญาณฟื้นตัว! พร้อมทวงบท “พระเอก” ซึ่งเคยสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศถึง 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ครองสัดส่วนเกือบ 18% ของจีดีพี

หลังจาก “จีนเปิดประเทศ” ประกาศยกเลิกมาตรการกักตัวขาเข้า มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 และล่าสุดอนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวเริ่มดำเนินการนำร่องการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ไปยัง 20 ประเทศปลายทางแรก โดยมีชื่อของประเทศไทยติดลำดับที่ 1 มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.2566

แน่นอนว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการย่อมใจชื้นไปตามๆ กัน หมายรวมถึง “บิ๊กคอร์ป” อย่างบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ยืนยันเดินหน้าลงทุนตามแผน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2569 วางงบลงทุนรวมไว้ที่ 1 แสนล้านบาท

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC ฉายภาพว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2566 เติบโต 2 หลักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และถ้าเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด เรียกว่าเป็นปีที่น่าจะตอบโจทย์จากการกลับมาของภาคท่องเที่ยวและภาคธุรกิจโดยรวม หวังว่า “แรงส่ง” เหล่านี้จะช่วยผลักดันและเป็นปัจจัยบวกแก่บริษัท

โดยปัจจุบัน “กลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการ” ในเครือ AWC มีโรงแรมทั้งหมด 20 แห่ง คิดเป็นห้องพักรวม 5,409 ห้องพัก บริหารงานโดยพันธมิตรเชนโรงแรมระดับโลก

สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่จะเห็น “นักท่องเที่ยวคุณภาพ” ใช้จ่ายสูง ทำให้ธุรกิจโรงแรมสามารถขยับราคาห้องพักได้สูงขึ้นตามไปด้วย เห็นการจัดกิจกรรมและอีเวนต์ต่างๆ กลับมา ทั้งงานไมซ์ (MICE: การจัดประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) งานปาร์ตี้จัดเลี้ยง และงานแต่งงาน

รวมถึงเทรนด์การเติบโตด้าน “รายได้ของพนักงาน” ในวงการท่องเที่ยวและบริการ เรียกได้ว่าตอนนี้เป็นช่วงไฮไลต์รายได้ของ “เซอร์วิสชาร์จ” (Service Charge) หลังจากธุรกิจท่องเที่ยวกลับมา ต่างจากช่วง 3 ปีนับตั้งแต่เจอการระบาดของโควิด-19 ทำให้พนักงานกลุ่มหนึ่งไม่มีเซอร์วิสชาร์จ ทั้งนี้บริษัทได้เตรียมแพ็คเกจค่าตอบแทนและเซอร์วิสชาร์จทั้งหลายซึ่งจะมีการปรับ โดยได้จัดเตรียมงบประมาณเอาไว้ มีส่วนช่วยเรื่องการสร้างงานและกระตุ้นความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในภาพรวม

“ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานรวมกว่า 5,000 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดซึ่งมีราว 4,000-5,000 คน โดยในแผน 5 ปีเราเตรียมความพร้อมพนักงาน 10,000 คนจากการขยายพอร์ตธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”

และหลังจากจีนเปิดประเทศ พบว่าโรงแรมในเครือ AWC มียอดจองห้องพักจาก “นักท่องเที่ยวจีน” ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ดีขึ้น พร้อมประเมินว่าแนวโน้ม “ราคาห้องพัก” ตลอดปีนี้น่าจะสูงขึ้น 20-30% เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนอัตราการเข้าพักน่าจะยังไม่สูงนัก เพราะขึ้นกับปัจจัยการฟื้นตัวของเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าไทยด้วย

ส่วนแผนการซื้อโรงแรมมาเสริมพอร์ตโฟลิโอของบริษัท หากพูดถึงสถานการณ์ตอนนี้บางแห่งก็เริ่มกลับมารีวิวแผนกันแล้ว จึงต้องค่อยๆ ดูไป โดยยังมีโรงแรมกระจายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเสนอขายกิจการเข้ามา แต่ที่ AWC คัดขึ้นมาจะเป็นโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลัก

แม่ทัพ \"AWC\" ชี้ยุคท่องเที่ยวเกิดใหม่! เร่งเพิ่มคนรับแผนลงทุน 5 ปีแสนล้าน

วัลลภา เล่าเพิ่มเติมถึง “กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์” ของบริษัทด้วยว่า ปัจจุบันตลาด “อาคารสำนักงาน” เผชิญความท้าทายจากทั้งพฤติกรรมการใช้งานที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ต้องการสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนเหมือนอยู่ที่บ้าน บทบาทของอาคารสำนักงานจึงต้องปรับเพื่อรองรับความต้องการในมุมที่หลากหลายยิ่งขึ้น รวมถึงภาวการณ์แข่งขันของ “ซัพพลาย” อาคารสำนักงานเกิดใหม่ที่มีเข้ามาจำนวนมาก

บริษัทจึงปรับคอนเซ็ปต์ของอาคาร “เอ็มไพร์” (Empire) อาคารสำนักงานแบบมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ 20,000 ล้านบาท เจ้าของความสูง 58 ชั้น และพื้นที่อาคารรวม 314,800 ตารางเมตร สู่แนวคิดใหม่ Co-Living Collective: Empower Future” ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท เริ่มปรับปรุงเมื่อปลายปี 2564 มุ่งยกระดับอาคารให้เป็น “ไลฟ์สไตล์สเปซ” แห่งใหม่ รองรับเทรนด์อนาคตในการผสมผสานการทำงานและการใช้ชีวิตเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ สร้างมาตรฐานใหม่ และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นจุดหมายขององค์กรและพนักงานจากทั่วโลก!

แม่ทัพ \"AWC\" ชี้ยุคท่องเที่ยวเกิดใหม่! เร่งเพิ่มคนรับแผนลงทุน 5 ปีแสนล้าน ไฮไลต์อยู่ตรงที่เป็นครั้งแรกของการนำพื้นที่ "Co-Living Space" ในรูปแบบการใช้ชีวิตที่บ้านมาเชื่อมต่อกับการทำงานให้ผู้เช่าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยอาคารเอ็มไพร์เตรียมพื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตร บนชั้น 53 สร้าง The Residence at Empire Co-living” มีการออกแบบตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้มีบรรยากาศอบอุ่นและผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้าน เตรียมเผยโฉมให้บริการส่วนนี้ในไตรมาส 3 ปี 2566

สำหรับองค์ประกอบต่างๆ ของ Co-Living Space มีทั้งห้องนั่งเล่น พื้นที่สันทนาการเพื่อการพักผ่อน เกมคอนโซล โต๊ะพูล และโต๊ะปิงปอง ห้องครัวแบบเปิดส่วนกลางและพื้นที่รับประทานอาหาร ห้องสำหรับเด็ก และพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง ห้องเปลี่ยนผ้าอ้อม สำหรับโซนพื้นที่ทำงานร่วมกัน ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่ทำงานส่วนตัว พื้นที่สำหรับสนทนากลุ่มและประชุม ตลอดจนโซนเพื่อการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ประกอบด้วย Nap Lounge สำหรับการพักผ่อนเติมพลัง ห้องอาบน้ำ และห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า

นอกจากนี้ อาคารเอ็มไพร์ยังเตรียมเปิด EA Rooftop” (เอ-ยา รูฟท็อป) แลนด์มาร์กด้านอาหารและเครื่องดื่มบนยอดตึกแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย! ด้วยพื้นที่กว่า 8,460 ตารางเมตร บนชั้น 55-58 รวบรวมประสบการณ์การรับประทานอาหารจากหลายหลายแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกไว้ในที่เดียว ชูแนวคิดการออกแบบ EA” (เอ-ยา) ซึ่งแปลว่า “เสรีภาพ อากาศ การเฉลิมฉลอง” นำโดยภัตตาคารโนบุ และร้านอาหารนานาชาติหลากหลาย อาทิ ร้าน % Arabica ที่จะเปิดเป็นสาขาแบบ Sky Café แห่งแรกของโลก และ The Cassette Music Bar แฮงเอาต์คลับยอดนิยมของชาวกรุงเทพฯ

“บริษัทคาดว่า EA Rooftop จะช่วยเพิ่มทราฟฟิกแก่อาคารเอ็มไพร์อีก 5,000 คนต่อวัน ด้วยการดึงคนจากอาคารสำนักงานรอบๆ มาใช้บริการ จากปกติมีทราฟฟิกประมาณ 20,000 คนต่อวัน โดยจะทยอยเปิดให้บริการบางส่วนในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเดือน พ.ย.2566”

แม่ทัพ \"AWC\" ชี้ยุคท่องเที่ยวเกิดใหม่! เร่งเพิ่มคนรับแผนลงทุน 5 ปีแสนล้าน แม่ทัพ \"AWC\" ชี้ยุคท่องเที่ยวเกิดใหม่! เร่งเพิ่มคนรับแผนลงทุน 5 ปีแสนล้าน

การปรับคอนเซ็ปต์ของอาคารเอ็มไพร์ จะตอบโจทย์ชีวิตการทำงานรูปแบบใหม่ที่มีส่วนผสมทั้ง Work – Home – Hotel - Retail” เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เสริมจุดแข็งให้กับอาคารเอ็มไพร์ที่โดดเด่นทั้งเรื่องขนาดและตั้งอยู่โลเกชั่นในกลางเมืองย่านสาทร สู่การเป็น “เวิลด์คลาส เดสติเนชั่น” สร้าง WOW Future” เพื่อแข่งขันในภาวะซัพพลายอาคารสำนักงานเกิดใหม่จำนวนมาก

“บริษัทตั้งเป้าหมายอาคารเอ็มไพร์ดึงผู้เช่าใหม่เป็นบริษัทข้ามชาติและตลาดแรงงานระดับโลก (Global Workforce) โดยเฉพาะกลุ่มออฟฟิศนิวเจนที่มีรายได้สูง เช่น บริษัทสตาร์ทอัพ โซเชียลแพลตฟอร์ม ไลฟ์สไตล์ และบริษัทยา ที่ต้องการเลือกเมืองไทยเป็นฐานธุรกิจ”

ปัจจุบันอาคารเอ็มไพร์มีอัตราการใช้พื้นที่ประมาณ 70% สามารถรักษาระดับได้เท่ากับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด โดยผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ 74% ของผู้เช่าทั้งหมด ตอนนี้มีพื้นที่เช่าเหลือประมาณ 40,000 ตารางเมตร

ส่วนอาคารสำนักงานในเครือ AWC อีก 3 แห่ง เตรียมเพิ่มเลานจ์ในอาคารแอทธินี ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการใช้พื้นที่ 96% กับในอาคาร 208 วายเลสโร้ด ซึ่งมีอัตราการใช้พื้นที่ 92% ด้านอาคารอินเตอร์ลิงก์ มีอัตราการใช้พื้นที่ 70% ตอนนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงครั้งใหญ่ คาดแล้วเสร็จในปี 2567

แม่ทัพ \"AWC\" ชี้ยุคท่องเที่ยวเกิดใหม่! เร่งเพิ่มคนรับแผนลงทุน 5 ปีแสนล้าน