ดอกเบี้ยนโยบาย ใกล้ถึงจุดกลับตัว?

ดอกเบี้ยนโยบาย ใกล้ถึงจุดกลับตัว?

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า กนง. น่าจะขยับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมา 1.75-2.00% แต่ก็มีบางสำนักวิจัยมองว่า กนง. อาจจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับ 1.25 - 1.50% เพราะมองว่านโยบายการเงินใกล้ถึง ‘จุดอิ่มตัว’ แล้ว

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นัดแรกของปี 2566 ซึ่งจะมีขึ้นในวันนี้ (25 ม.ค.) ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า กนง. จะยังขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.50% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี 4 เดือน แต่การประชุมครั้งนี้เราอาจเห็นคะแนนเสียงของคณะกรรมการซึ่งมีด้วยกัน 7 คน ออกมาแบบ ‘ไม่เอกฉันท์’ โดยมีบางคนอาจโหวตให้ ‘คงดอกเบี้ย’ ไว้ระดับเดิมก็เป็นได้

เท่าที่สำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้ ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าน่าจะเห็น กนง. ขยับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่บริเวณ 1.75-2.00% หมายความว่าเราอาจเห็น กนง. ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องติดกันอีก 2-3 ครั้ง แต่ก็มีบางสำนักวิจัยที่เริ่มมองว่า กนง. อาจจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับ 1.50% หรืออาจจะ 1.25% เลยก็ได้ ...มุมมองของสำนักวิจัยกลุ่มนี้สะท้อนว่า นโยบายการเงินใกล้ถึง ‘จุดอิ่มตัว’ แล้ว

เหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้มองว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยใกล้แตะจุดสูงสุดแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น เงินเฟ้อเริ่มโตต่ำกว่าการคาดการณ์ และที่สำคัญ ‘เงินบาท’ แข็งค่าเร็วเกินไปแล้ว เพราะเมื่อเดือน ต.ค. 2565 เงินบาทเพิ่งทำสถิติอ่อนค่าในระดับ 38.47 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี

เวลานั้นทุกคนยังกังวลอยู่เลยว่า เงินบาทจะอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์หรือไม่ แต่มาวันนี้เงินบาทกลับแข็งค่าอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 32.65 บาทต่อดอลลาร์ โดยแข็งค่าขึ้นถึง 15% หรือเกือบๆ 6 บาทต่อดอลลาร์ 

การแข็งค่าของเงินบาทเรียกได้ว่า แข็งเร็วจนผู้ประกอบการตั้งตัวแทบไม่ทัน ซึ่งถ้าเทียบเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เงินบาทถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากสุด เป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย และยังนำโด่งสกุลเงินอื่นๆ ไปพอสมควร 

...การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท ไม่ใช่เรื่องดีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งจะฟื้นตัวจากพิษโควิดและเป็นการฟื้นตัวที่ช้ากว่าหลายประเทศทั่วโลก เศรษฐกิจไทยจึงจำเป็นต้องการแรงส่งให้การฟื้นตัวชัดเจนมากกว่านี้ แต่การแข็งค่าของเงินบาท อาจทำให้การฟื้นตัวต่ำกว่าคาดได้ ทั้งจากผลกระทบด้านการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อวานนี้กระทรวงพาณิชย์เพิ่งประกาศตัวเลขการส่งออกเดือน ธ.ค. ที่หดตัวลงถึง 14.6% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้รอบการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. จบเร็วกว่าที่หลายๆ สำนักวิจัยประเมินกันไว้ คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีในระดับ 0.40% ซึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มนำเงินส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) โดยดอกเบี้ยเงินกู้ที่ขยับขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังไม่ทันจะฟื้นตัวดีจากพิษโควิด ดังนั้นแล้วการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ในห้วงเวลาแบบนี้ จึงไม่น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วยประการทั้งปวง!