โออิชิ กรุ๊ป จัดทัพใหญ่เปิดเกมรุกเร็ว-แรง เร่งโตดับเบิ้ลไซส์เขย่าคู่แข่ง

โออิชิ กรุ๊ป จัดทัพใหญ่เปิดเกมรุกเร็ว-แรง เร่งโตดับเบิ้ลไซส์เขย่าคู่แข่ง

โออิชิ กรุ๊ป ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นแห่งเครือไทยเบฟ ชิงเปิดเกมรุกระลอกใหญ่หลังโควิดคลี่คลาย ยึดเทรนด์ "Health & Wellness" ขยายฐานลูกค้าไทย-ต่างประเทศ เจาะโอกาสใหม่ ปั้นนิวโมเดล คลอดแฟรนไชส์ครั้งแรก “โออิชิ บิซโทโระ" ดันเรือธง เร่งโตดับเบิ้ลไซส์

โออิชิ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่อาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น หนึ่งในธุรกิจหลักแห่งอาณาจักรไทยเบฟ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ภายใต้การขับเคลื่อนของแม่ทัพหญิง นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ฉวยจังหวะตลาดดีดตัว! รับสัญญาณบวกโควิด-19 คลี่คลาย ผู้คนออกมาใช้ชีวิตในวิถีปกติมากขึ้น 

ผนวกกับความพร้อมขององคาพยพ!  ที่ซุ่มเตรียมการ (ใหญ่) มาก่อนหน้า ประมวลบทเรียนจากมหันตภัยโควิดสะเทือนโลกครั้งใหญ่ เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ นำสู่การพัฒนา สร้างสรรค์กลยุทธ์ โปรดักต์ และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เมื่อตลาดเปิด เป็นห้วงเวลาสำคัญของ โออิชิ กรุ๊ป ชิงเปิดเกมรุกก่อนใคร! 

“เราเป็นมาร์เก็ตลีดเดอร์ การทำอะไร และแรง!  จะเป็นการขับเคลื่อน (Drive) ตลาด ซึ่งเวลานี้เราเป็นผู้นำที่แข็งแรงในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มด้วยมาร์เก็ตแชร์ 48% (NielsenIQ (ประเทศไทย) ทำให้แก็ป (ช่องว่าง) ระหว่างคู่แข่งเบอร์ 2 ห่างกันไปเรื่อยๆ”

ขณะที่ธุรกิจอาหาร ภาพชัดในความเป็นเจ้าตำรับอาหารญี่ปุ่น หรือ KING OF JAPANESE FOOD ก้าวต่อจากนี้ คือ การ "ต่อยอด" ขยายอาณาจักรกว้างไกล เพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มได้มากขึ้น 

นงนุช กล่าวถึง กลยุทธ์โต! โออิชิ กรุ๊ป ทั้งธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร มุ่งตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ตามเทรนด์ "Health & Wellness" 

นับเป็นความได้เปรียบจากความแข็งแรงของโปรดักต์ในมือ โออิชิ กรุ๊ป ที่ฉายภาพชัดในความเป็นเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้ง ชาเขียว และ อาหารญี่ปุ่น ที่จะมีการนำ "นวัตกรรม" เข้ามาขยายไลน์ให้แต่ละสินค้า สร้างเซ็กเมนต์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

รองรับแผนขยายฐานลูกค้าใหม่ สร้างตลาดใหม่ โดยเฉพาะการส่งออก ที่มีการขยายไปจับจองพื้นที่ราว 33 ประเทศ โดยเบื้องต้นจะมุ่งเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดหลัก กัมพูชา ลาว เมียนมา ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งคือเป้าหมายแห่งอนาคต 

ในกลุ่มเครื่องดื่ม โออิชิ ได้มีโปรดักต์เรือธงมาเสริมความครบเครื่องยิ่งขึ้น นั่นคือ "ชาเขียวน้ำตาล 0%" เซ็กเมนต์ใหม่ที่โออิชิแจ้งเกิด! และมีการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในช่วงเวลาเพียง 1 ปี สัดส่วนการขายถึง 3% นงนุช ย้ำว่า สินค้าตัวนี้มั่นใจว่าจะโตได้ยาวๆ แน่นอน!  

สำหรับ ปี 2566 นี้ โออิชิ กรุ๊ป  จัดสรรงบกว่า 675 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 220% ลงทุนในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 

โออิชิ กรุ๊ป จัดทัพใหญ่เปิดเกมรุกเร็ว-แรง เร่งโตดับเบิ้ลไซส์เขย่าคู่แข่ง  

ชู 4 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจเครื่องดื่ม

ศักราชใหม่ ปี 2566 ธุรกิจเครื่องดื่ม โออิชิ กรีนที ยังคงครองแชมป์เจ้าตลาดชาพร้อมดื่มหลังกวาดส่วนแบ่งตลาด 48% (NielsenIQ (ประเทศไทย) ตั้งแต่เดือนตุลาคม– กันยายน 2565) ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ขับเคลื่อน โออิชิ กรีนที คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพผ่านการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และขยายฐานผู้ดื่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ พร้อมสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดใหม่ๆ ปลุกกระแสการดูแลสุขภาพ พร้อมตอกย้ำคุณค่าชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชิน

โดย  4 กลยุทธ์หลักขับเคลื่อน โออิช กรีนที ประกอบด้วย

1. มุ่งสื่อสารประโยชน์ของชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชิน

2. ขยายฐานกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความผูกพันกับกลุ่มวัยรุ่น

3. ขยายเซ็กเมนต์น้ำตาล 0% สร้างการเติบโตให้กับสินค้ากลุ่มน้ำตาล 0% เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ เช่น โออิชิ ฮันนี่ เลมอน น้ำตาล 0% ที่ได้รับการตอบรับดีมากจากผู้บริโภคหลังจากเปิดตัวไปในปีก่อน รวมถึง โออิชิ โกลด์ ยังคงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่รักสุขภาพ ผลิตจากใบชานำเข้าจากไร่ชามัตสึดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รางวัล The Emperor’s Cup ชารางวัลจักรพรรดิญี่ปุ่นปี 2015 และรางวัล ต่างๆ มากมาย

โออิชิ กรุ๊ป จัดทัพใหญ่เปิดเกมรุกเร็ว-แรง เร่งโตดับเบิ้ลไซส์เขย่าคู่แข่ง

สำหรับ "ไร่มัตสึดะ" ตั้งอยู่ที่เมืองโอมาเอซากิ เป็นเมืองที่เหมาะแก่การเพาะปลูกชา ภูมิประเทศชุ่มชื้นจากสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์มาก ประกอบกับน้ำที่ได้จากเทือกเขาเจแปนแอลป์เป็นน้ำบริสุทธิ์ อุดมด้วยแร่ธาตุมากมายมาหล่อเลี้ยงต้นชา

โออิชิ กรุ๊ป จัดทัพใหญ่เปิดเกมรุกเร็ว-แรง เร่งโตดับเบิ้ลไซส์เขย่าคู่แข่ง

เจ้าของไร่ชา "สึโยมิ มัตสึดะ" เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาจากประสบการณ์ที่ตกทอดมา 5 ชั่วอายุคน จึงมีกรรมวิธีการผลิตชาที่พิถีพิถัน ใบชาทั้งหมดถูกเลือกเก็บจากยอดอ่อนใบชา หลังจากนั้นนำใบชาไปนึ่งด้วยไอน้ำ เพื่อหยุดการเปลี่ยนสีของใบชาและ คงคุณภาพชาไม่ให้เสียไป แล้วนำมานวดในทันที เพื่อให้ชาเกิดกระบวนการทางเคมี ใบชาจะมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เพื่อคงความสดของชาให้มากที่สุด หลังจากนั้นโออิชิจึงนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยนวัตบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ Cold Aseptic Filling หรือ CAF เป็นเทคโนยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในการผลิตเครื่องดื่มในปัจจุบัน ได้มาตรฐานระดับโลกสามารถควบคุมความสะอาดอีกทั้งยังคงรสชาติและคุณประโยชน์ของชาเขียวต่อร่างกายไว้ให้ดีที่สุด

4. ขยายตลาดส่งออก โดยเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดหลัก คือ กัมพูชา ลาว และพม่า ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน

 

ก้าวใหญ่ธุรกิจอาหารลุย "แฟรนไชส์" ครั้งแรก ดัน โออิชิ บิซโทโระ เรือธง! 

ผลจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ประกอบกับแคมเปญการตลาดที่ตอบโจทย์และได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค รวมทั้งการควบคุมการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธุรกิจอาหารของโออิชิ กรุ๊ป  มียอดขายเติบโต 51.5% และมีกำไรสุทธิเติบโต 121% (เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564)

"เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ด้านกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ด้วยการขยายสาขาและช่องทางการขายในรูปแบบ Multi Format และธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมเพิ่มความหลากหลายของช่องทางจำหน่ายแบบไร้รอยต่อ (Omni Channel) และการบริหารจัดการร้านอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ"

กลุ่มธุรกิจร้านอาหารของโออิชิ นับว่ามีการปรับเปลี่ยนไม่น้อย!  โดยเฉพาะการลงทุนขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น "เท่าตัว" จากห้วงก่อนโควิดขยายสาขาเฉลี่ย 15 แห่งต่อปี ซึ่ง 3 ปีจากนี้เตรียมเปิดสาขาใหม่อย่างน้อย 30 สาขาต่อปี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 สาขาภายในปี 2568 ส่งผลสาขารวมทะยานมากกว่า 400 สาขา

"บทเรียนจากโควิดที่มีการล็อกดาวน์ ร้านอาหาร 90% ของเราอยู่ในศูนย์การค้าปิดหมด ฉะนั้นต้องบาลานซ์พอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่นเดียวกับบุฟเฟต์ที่มีถึง 80-90% มีการปรับโมเดล รีเฟรชแบรนด์ เพิ่มความหลากหลาย คงคุณภาพ และการวางโครงสร้างราคาที่เหมาะสม"

นงนุช ขยายความต่อว่า การพัฒนาโมเดลใหม่ๆ  เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดีมานด์มากขึ้น ต้อง "Value for Money" เป็นโจทย์ใหญ่ของทุกๆ ผู้ประกอบการในห้วงที่กำลังซื้อยังเปราะบาง แต่ต้องการเติมเต็มไลฟ์สไตล์ ได้ประสบการณ์ใหม่ไปพร้อมๆ กัน 

"ไทยยังเป็นตลาดศักยภาพสูงและมีโอกาสมหาศาลจากการเปิดประเทศ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะมีทัวริสต์กลับมาเยือนไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราต้องมีอะไรใหม่ๆ และก้าวให้ทันความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด" 

โออิชิ กรุ๊ป จัดทัพใหญ่เปิดเกมรุกเร็ว-แรง เร่งโตดับเบิ้ลไซส์เขย่าคู่แข่ง

เป็นที่มาของการปลุกปั้นแบรนด์ "โออิชิ บิซโทโระ" อร่อยครบจนมื้อแบบญี่ปุ่น จะเป็นหัวหอกหลักในกลุ่มร้านอาหาร พร้อมนำร่อง "ขายแฟรนไชส์" เป็นครั้งแรกของพอร์ตร้านอาหารโออิชิ กรุ๊ป  ติดสปีดในการขยายสาขา และเข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมพื้นที่ ด้วยสเกลการลงทุนเล็กลงกว่าเดิม 3-4 เท่า  หาทำเลง่าย สามารถเจาะหัวเมืองรอง ชุมชนขนาดย่อมได้ คาดจะเห็น 10-15 สาขาในปีนี้  

จำนวนสาขาของร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิ รอบปีงบประมาณ 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565)
 
ร้านอาหารระดับพรีเมียม
- OISHI GRAND (โออิชิ แกรนด์) จำนวน 1 สาขา
- HOU YUU (โฮว ยู) จำนวน 4 สาขา
- SAKAE (ซาคาเอะ) จำนวน 1 สาขา
 
ร้านอาหารระดับพรีเมียม แมส
- OISHI EATERIUM (โออิชิ อีทเทอเรียม) จำนวน 9 สาขา
- OISHI BUFFET (โออิชิ บุฟเฟต์) จำนวน 7 สาขา
- NIKUYA By OISHI (นิกุยะ) จำนวน 5 สาขา
- SHABU By OISHI (ชาบู บาย โออิชิ) จำนวน 2 สาขา
 
ร้านอาหารระดับแมส
- Shabushi By OISHI (ชาบูชิ) จำนวน 162 สาขา
- OISHI RAMEN (โออิชิ ราเมน) จำนวน 52 สาขา
- KAKASHI By OISHI (คาคาชิ) จำนวน 16 สาขา
- OISHI BIZTORO (โออิชิ บิซโทโระ) จำนวน 8 สาขา

ไม่เพียงการขยายสาขา หากแต่การยกระดับมาตรฐานสินค้า/บริการ และคุณภาพ ยังเป็นหัวใจสำคัญของร้านอาหารญี่ปุ่น ที่ โออิชิ กรุ๊ป เน้นการคัดสรรและเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สะอาด สดใหม่ และได้มาตรฐานจากแหล่งผลิตชั้นนำทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อเรื่องวัตถุดิบอาหารคุณภาพสูง ซึ่งหนึ่งในแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ "ตลาดโทโยสุ" (TOYOSU MARKET) ตลาดปลาและอาหารทะเลชั้นนำที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของวัตถุดิบทางทะเลที่สด ใหม่ และสะอาด มีการควบคุมอุณหภูมิและความเย็นภายในตลาดให้พอเหมาะ เพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพและความสดของปลาและสินค้าอื่น ๆ ได้ตามที่ต้องการ

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารจากประเทศญี่ปุ่นในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ครอบคลุมทั้งอาหารทะเล เนื้อสัตว์ และเบเกอรี่ โดยกลุ่มอาหารทะเลมีปริมาณการนำเข้ามากที่สุด โดยเฉพาะปลาทูน่าญี่ปุ่น จากตลาดโทโยสุ เฉลี่ยนำเข้าสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง โดยมีการควบคุมอุณหภูมิระหว่างการจัดส่งอย่างเข้มงวด พร้อมกันนั้นยังดูเเลการจัดเก็บวัตถุดิบอาหารอย่างมีมาตรฐาน เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสถึงความสด ใหม่ และรสชาติที่ดีที่สุดของวัตถุดิบได้อย่างแท้จริง

โออิชิ กรุ๊ป จัดทัพใหญ่เปิดเกมรุกเร็ว-แรง เร่งโตดับเบิ้ลไซส์เขย่าคู่แข่ง

พร้อมปรุงพร้อมทานดาวรุ่งตอบไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่

ในช่วงก่อนและหลังสถานการณ์แพร่ระบาด อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงพร้อมทาน ได้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น จากความสะดวกในการบริโภค และมีความหลากหลายของประเภทอาหาร

บริษัทฯ จึงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้าอาหารสำเร็จรูปฯ โดยชูจุดแข็งด้านรสชาติ คุณค่าโภชนาการ และคุณภาพ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของฐานตลาดผู้บริโภคและยอดขาย ประกอบกับการพัฒนาสินค้าทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนตามกระแสความต้องการของผู้บริโภค เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรส (รวมทั้งน้ำซุปสุกี้ยากี้เข้มข้น), กลุ่มอาหารพร้อมทาน (ข้าวกล่องพร้อมรับประทาน) และกลุ่มหมูปรุงรส (หมูสับผสมข้าวโพดปรุงรส - แช่แข็ง) โดยวางจุดขายให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานสไตล์ญี่ปุ่นที่มอบความสะดวก อร่อย ได้มาตรฐาน ตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นและรักการทำอาหารกินเองที่บ้าน

"โอกาสทางการตลาดจากเทรนด์สุขภาพมาแรง จึงพัฒนาสินค้าอาหารสำเร็จรูป ที่มีคุณประโยชน์และดีต่อสุขภาพให้มากขึ้นอีกด้วย"

เคลื่อน PASSION 2025 สู่เป้าหมายโตดับเบิ้ลไซส์ปี 2030

โออิชิ กรุ๊ป มุ่งเคลื่อนธุรกิจภายใต้ “PASSION 2025” เพื่อบรรลุเป้าหมายผลักดันธุรกิจโตดับเบิ้ลไซส์! ในปี 2030

จากผลงานปีที่ผ่านมา (1 ต.ค. 2564-30 ก.ย.2565) การตั้งรับของ โออิชิ กรุ๊ป ท่ามกลางปัจจัยลบ สร้างรายได้จากการขาย 12,696 ล้านบาท เติบโตสูง 29.3% เทียบปีก่อนหน้า มาจากธุรกิจเครื่องดื่ม 7,292 ล้านบาท เติบโต 16.7% จากธุรกิจอาหาร 5,404 ล้านบาท ขยายตัว 51.5% ขณะที่กำไรสุทธิรวม 1,199 ล้านบาท เติบโต 120%