เฉลิมชัย เล็งเจาะตลาด โทโยสุ วางสินค้าเกษตรไทยใจกลางกรุงโตเกียว

เฉลิมชัย เล็งเจาะตลาด โทโยสุ วางสินค้าเกษตรไทยใจกลางกรุงโตเกียว

เฉลิมชัย ถก CEO ตลาดปลา โทโยสุ ค้าส่งสินค้าเกษตรในกรุงโตเกียว เตรียมดัน ผลไม้-พืชผักไทยได้มาตรฐาน เจาะวางจำหน่าย ในเร็วๆนี้ ด้านมกอช. ร่วม อย. จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย เตรียมชงเข้า ครม. มุ่งไทยมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับ Mr.Tohiyuki Suzuki CEO Tokyo City Seika Co. Ltd. ผู้บริหารตลาด Toyosu (โทโยสุ) ซึ่งเป็นตลาดปลาที่มีชื่อเสียงใจกลางกรุงโตเกียว ที่ย้ายมาจากสึคิจิ พร้อมเตรียมขยายความร่วมมือในการกระกระจายสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้และพืชผัก สู่ตลาดโทโยสุในอนาคต

 

เฉลิมชัย เล็งเจาะตลาด โทโยสุ วางสินค้าเกษตรไทยใจกลางกรุงโตเกียว เฉลิมชัย เล็งเจาะตลาด โทโยสุ วางสินค้าเกษตรไทยใจกลางกรุงโตเกียว เฉลิมชัย เล็งเจาะตลาด โทโยสุ วางสินค้าเกษตรไทยใจกลางกรุงโตเกียว

สำหรับตลาดโทโยสุ ของญี่ปุ่น นอกจากมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะศูนย์กลางตลาดปลาและผลิตภัณฑ์ทางทะเลแล้ว ปัจจุบันยังมีกลุ่มสินค้าผัก ผลไม้ รวมทั้งของชำต่างๆ โดยเป็นตลาดค้าส่งและผลิตผลสำหรับพ่อค้าคนกลาง เป็นศูนย์กลางพบปะระหว่างผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นและต่างประเทศ  ซึ่งจุดเด่นของตลาดโทโยสุ เน้นให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร มีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมกับสินค้าแต่ละชนิด 

โดยการออกแบบโครงสร้างอาคารให้ง่ายต่อการรักษาความสะอาด มีการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานโดยการใช้หลอดไฟ LED และพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) และจัดให้มีพื้นที่สีเขียว มากกว่า 30% ของพื้นที่ตลาด รวมถึงระบบการบําบัดน้ำเสียที่มหานครโตเกียวเป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังจัดเส้นทางคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวก และที่สำคัญเป็นแหล่งเชื่อมโยงกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ ในชุมชนและทั่วประเทศญี่ปุ่น

“การหารือร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของไทย ในการขยายฐานการตลาดสินค้าเกษตรไทยไปสู่ต่างแดน โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีกลุ่มประชากรจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย ซึ่งสินค้าเกษตรไทยนับว่าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในญี่ปุ่น โดยเฉพาะผลไม้ที่ได้รับความนิยม เช่น ทุเรียน มะม่วง กล้วย และสับปะรด โดยทาง Mr.Tohiyuki Suzuki ก็ยินดีและพร้อมขยายความร่วมมือกับประเทศไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งนับเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทั้งสองประเทศ และสร้างความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าเกษตรร่วมกัน” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ด้าน นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าว ภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ (คกอช.) ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่เป็นประธานฯ แทนนายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดย มกอช. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ (คกอช.) ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการฯ ฉบับดังกล่าวขึ้น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) พร้อมเป้าหมายและตัวชี้วัด ซึ่งเชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอาหารจากภาคการเกษตร            การแปรรูป การบริการ สู่โภชนาการและสุขภาพของคนไทย ตลอดจนวัฒนธรรมการท่องเที่ยวและการค้า                  โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดพื้นฐาน ให้เป็นกรอบนโยบายและกลไกบูรณาการ                 การดำเนินการด้านการจัดการอาหารของประเทศไทยให้มีเป้าหมายและทิศทางเดียวกัน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติ และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านความมั่นคงอาหาร 2) ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร 3) ด้านอาหารศึกษา และ 4) ด้านการบริหารจัดการ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายไว้ 6 ด้าน ได้แก่ 1) จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง 2) ปริมาณการสูญเสียและขยะอาหารลดลง 3) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น 4) มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น 5) จำนวนคนที่มีภาวะโภชนาการ (ขาดและเกิน) ลดลง และ 6) มีกลไกประสานงานกลางและบูรณาการดำเนินการ

“สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 - 2570 ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในหลายด้าน เช่น ด้านการเกษตร ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านสาธารณสุข เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ว่า ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม”