สถานการณ์ภาพยนตร์ไทย 2566 ลงทุนชนโรง ต้องอ่านให้ขาด?

สถานการณ์ภาพยนตร์ไทย 2566 ลงทุนชนโรง ต้องอ่านให้ขาด

ภาพยนตร์ไทยถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่รัฐบาลพยายามสร้างพลังให้ดีขึ้น แต่ในสภาพการณ์ปัจจุบันดูไม่ดีนัก ซึ่งปี 2565 ประมาณ 40 กว่าเรื่อง ซึ่งมีไม่กี่เรื่องที่พอทำเงิน อย่าง บุพเพสันนิวาส 2 และ บัวผันฟันยับ เป็นต้น

คงไม่ต้องเท้าความเดิม ภาพยนตร์ไทย ช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางดิจิทัลดิสรัปชันตามด้วยโรคระบาดอย่าง โควิด-19 ทำให้ผู้กำกับฯ ผู้สร้างหนังไทย ตกอยู่ขวัญหนีดีฝ่อ กลัวที่จะออกมาจาก "พื้นที่ปลอดภัย" (Comfort Zone) ในการลงทุนสร้างผลงานออกมา แต่ในวิกฤติก็ย่อมมีคนมองหาโอกาสอยู่เสมอ

ทว่า การลงทุนเสี่ยงโอกาสก็ไม่ง่าย ซึ่งช่วงสิ้นปี 2022 ภาพยนตร์ "วัยอลวน 5" ค่ายเอ็ม พิคเจอร์ส ของผู้กำกับฯและนักแสดงรุ่นใหญ่ "ไพโรจน์ สังวริบุตร" ที่ออกมาเปิดใจลงทุนเองกว่า 30 ล้าน หนังเรื่องนี้เข้าโรงฉายครั้งแรกเมื่อเมษายน 2565 ฉายได้เพียงวันเดียว แต่ถูกหยุด และเลื่อนฉายเพราะสถานการณ์โควิด

ตอนนั้นรายได้เปิดตัววันแรกดีพอสมควร และได้นำกลับมาฉายใหม่ไม่กี่วัน ทางโรงหนังก็ลดรอบ ปรับจำนวนโรงฉายเหลือแค่โรงเดียว "ช่วยผมด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นผมล้มละลาย" ผกก.บอกแฟนหนัง แต่คนดูก็ยังน้อยอย่างน่าเห็นใจ

ใครได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับหนังวัยอลวน 5 คงมองสถานการณ์ภาพยนตร์ไทย ก้าวสู่ปีกระต่าย 2566 จะจับกระต่ายทองไม่ง่ายนัก เริ่มจาก ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ ค่ายไอยารา หนังจากแดนใต้ใช้งบประมาณ 40 ล้าน ตามด้วย สะพานรักสารสิน 2216 ของ เอกชัย ศรีวิชัย ซึ่งภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง เข้าโรงภาพยนตร์ 19 ม.ค. พร้อมกัน โดยเนื้อหาจากถิ่นภาคใต้ แตกต่างตรงระหว่างความเชื่อกับความรัก อย่างไหนจะขายได้โดนใจ

นักร้องดังหวังว่า หนังสะพานรักสารสิน 2216 เป็น Soft Power ด้วยการเสนอแหล่งท่องเที่ยวภูเก็ตและพังงา เผยแพร่ประเพณีท้องถิ่น เช่น ลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของชาวมอแกน การละเล่นลิเกป่า ถูกสอดแทรกถ่ายทอดไปต่างประเทศจากภาพยนตร์เรื่องที่จะนำไปฉายทั่วโลก ซึ่งจะได้ทั้งเงินยอดรายได้และรางวัลด้านศิลปะหรือไม่กี่ไม่ก็รู้

ตามด้วย ทิดน้อย ที่มีตัวชูโรง อย่าง เท่ง เถิดเทิง และ อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ ชนโรง 25 ม.ค. เป็นหนังคอมเมดี้สไตล์ถนัดของซุปตาร์ตลกคนดัง ทุ่มทุนสร้างแต่จะเอาอยู่กับคอหนังคงลุ้นหนักจะเห็นกำไร

ส่วนภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ จะทยอยเข้าโรงภาพยนตร์ในไตรมาสแรกปีนี้มีคิวดังนี้ คือ ปรากฏการณ์, เธอกับฉันกับฉัน, ปลายทางฝัน..ฉันมีเธอ, บังเอิญฮัก ข่อยฮักเจ้า, ขุนพันธ์ 3, Start It Up สูตร รัก รวย เละ, หุ่นพยนต์, เกม/ล่า/ตาย, My Precious รักแรก โคตรลืมยาก, รักได้แรงอก และ แสงกระสือ 2

หากประเมินเบื้องต้น ภาพยนตร์ไทยปีนี้ครบรสเหมือนเคย หลากหลายประเภท แต่ที่เคยมีการสำรวจมาแล้ว คนไทยชอบภาพยนตร์คอมเมดี้ (ตลก) และ แอ็กชัน (บู๊-ต่อสู้) เป็นอันดับแรก ซึ่งไม่แปลกที่ผู้สร้างและผู้กำกับจะมิกซ์แอนด์แมทช์ ผสมผสานคอมเมดี้กับแอ็กชันบวกดราม่า มาเป็นแนวทางสร้างภาพยนตร์ให้ถูกรสนิยมคนไทยส่วนใหญ่

กระนั้น การทำหนังตามกระแส อาจไม่ใช่สูตรความสำเร็จของ "คนทำภาพยนตร์ไทย" เพราะการลงทุนเอาหนังเข้าโรงภาพยนตร์ ต้องศึกษาการตลาด กระแส และช่องทางจัดจำหน่ายเผยแพร่ เนื่องจากสตรีมมิ่งเป็นความท้าทายกับโรงภาพยนตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มากไปกว่านั้น ต้องมองให้ขาดสำหรับ 1.ต้นทุน 2.เนื้อหนัง 3.การสร้างกระแส และ 4.จัดการเผยแพร่ ทั้งสี่ข้อต้องสอดประสานเอื้อหนุนกันจะทำให้ไม่เจ็บตัว ได้ทุนมีเครดิตในการทำผลงานชิ้นต่อไป และจะเป็นการดียิ่งถ้าได้แรงภาครัฐและเอกชนมาทำการตลาดแบบ win-win แม้ว่า สถานการณ์ภาพยนตร์ไทย 2566 ดูทรงหวั่นทรุด สู้ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ทุ่มทุนสร้างจากต่างประเทศไม่ได้ก็ตามที.

 

เรื่องเกี่ยวกับ soft power ของไทย

บทความของ นิติราษฎร์ บุญโย