จับเทรนด์ปี66 โฆษณาใช้เงินคุ้มค่า! สินค้าจำเป็นเหนื่อย-ฟุ่มเฟือยมาแรง

จับเทรนด์ปี66 โฆษณาใช้เงินคุ้มค่า!  สินค้าจำเป็นเหนื่อย-ฟุ่มเฟือยมาแรง

พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด พร้อมเปย์เงินซื้อสินค้าหรู เพื่อความสุข ปลดปล่อยไลฟ์สไตล์เต็มที่ ย้อนภาพ High Earner Not Rich Yet กลับมาอีกครั้ง อีกด้านกระเทือนสินค้าจำเป็น การขายแผ่ว ด้านโฆษณาแบรนด์เลือกใช้เงินคุ้มค่ายิ่งขึ้น จ่ายทุกบาทต้องเห็นผลลัพธ์ยอดขาย

สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังเติบโตในระดับต่ำ ทำให้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปี 2566 คาดการณ์เติบโตเพียง 4.2% เท่านั้น

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ เอ็มไอ กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโต ขณะที่ปัจจัยบวกการเลือกตั้งปีหน้า และแม้การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแต่ยังไม่ปลุกตลาดเท่าที่ควร

สำหรับอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปี 2566 คาดการณ์เงินสะพัด 85,790 ล้านบาท โดย 3 สื่อที่มีบทบาทได้แก่ ทีวี อินเตอร์เน็ต และสื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ ด้านหมวดหมู่สินค้าจะใช้จ่ายงบโฆษณาได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์เนื่องจากมีแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาด โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวี ทำให้ต้องทุ่มเงิน โปรโมทแบรนด์และสินค้า

อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อะแด็ปเตอร์ ดิจิตอล จำกัด กล่าวว่า การทำแคมเปญสื่อสารการตลาดผ่านสื่อดิจิทัลในปี 2566 ลูกค้าจะมองการใช้เม็ดเงินทุกบาทอย่างคุ้มค่ามากขึ้น โดยเฉพาะผลลัพธ์ของการสร้างยอดขายกลับมา ภายใต้ตัวแปรสำคัญ คือกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง และภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง

ภาพรวมปีหน้า แบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ กลับมาทบทวนกลยุทธ์ โฟกัสสิ่งที่ต้องทำ การใช้ทรัพยากรที่มี ตลอดจนร่วมงานกับพันธมิตรหรือเอเยนซี เพื่อหาช่องทางสร้างผลตอบแทนด้านยอดขายในเชิงรุกมากขึ้นด้วย

สำหรับลูกค้าที่ยังใช้จ่ายทำแคมเปญสื่อสารการตลาดบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเชิงรุก ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากเป็นปัจจัยสี่สำคัญต่อการดำรงชีพ รวมถึงวิถีชีวิตของผู้บริโภคเริ่มกลับมาปลดปล่อยไลฟ์สไตล์นอกบ้านมากขึ้น และหมวดยานยนต์ที่รถอีวีมาแรงมาก ความต้องการตลาดมีสูง และอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มกลับมารุกตลาดขานรับการฟื้นตัวทั้งนักท่องเที่ยวจีนกลับมา หลังเงียบไป 2 ปี เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ กลายเป็นกลุ่มที่ลดความร้อนแรงในการใช้จ่ายเงิน

“มีสินค้าจำเป็นบางกลุ่มที่ผู้บริโภคมองว่าตัดการใช้จ่ายออกได้ แต่ของกินหรืออาหารและเครื่องดื่มลูกค้ายังต้องใส่เงิน ทำการตลาด เพราะผู้บริโภคต้องกินดื่ม แต่ยอมรับว่าการสื่อสารตลาดดิจิทัลปีหน้า ลูกค้าจะใช้งบเจาะเป็นจุดเชิงลึก เพื่อเข้าถึงเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ หรือเงินจ่ายซื้อสินค้าจริงๆ”

ทางด้าน  พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กล่าวว่า แนวโน้มปี 2566 ค่อนข้างมองไม่เห็นปัจจัยบวกในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัว แม้การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้น จีนเปิดประเทศ แต่ยังไม่เต็มที่นัก ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เกิดในบางเซกเตอร์เท่านั้น

สำหรับทิศทางสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะนี้เห็นสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นกระทบตลาดซึ่งค่อนข้างเหนื่อย เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายกับสินค้าจำเป็นลง แต่พร้อมเปย์ให้กับสินค้าฟุ่มเฟือย และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชีวิตที่มีความหรูหรามากขึ้น หรือกลุ่มที่ถูกนิยามว่า High Earner Not Rich Yet เช่น ยอมใช้เงินที่มีเพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ตราคาแพง บ้างมีช่องทางหาเงินด้วยการขอสินเชื่อหรือกู้เงิน เพื่อนำมาใช้จ่ายดังกล่าว

“สิ่งที่เห็นคือสินค้าจำเป็นเหนื่อย แต่การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยให้กับสินค้าราคาแพง บัตรคอนเสิร์ตแพงๆ หรือรับประทานอาหารร้าน 4-5 ดาว มีให้เห็นมากขึ้น สะท้อนภาพผู้บริโภคต้องการใช้เงินเพื่อสร้างความสุข แต่ประหยัดใช้จ่ายสินค้าจำเป็น ซึ่งวิถีดังกล่าวต้องจับตาดูว่าจะเกิดขึ้นนานแค่ไหน”

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2566 ไม่สามารถพึ่งพากำลังซื้อ หรือการบริโภคภายในประเทศเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เนื่องจากเงินในกระเป๋าประชาชนไม่เพิ่มขึ้น ส่วนการพึ่งพาอำนาจซื้อในภาคท่องเที่ยวก็ค่อนข้างกระจุกตัวบางพื้นที่ หรือจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเท่านั้น ในฐานะผู้ประกอบการจึงต้องมองโอกาสจากการส่งออกมากขึ้น