ค่าครองชีพกระโดดรับปี ’กระต่าย’ ขนส่งสาธารณะพร้อมใจขึ้นราคา

ค่าครองชีพกระโดดรับปี ’กระต่าย’ ขนส่งสาธารณะพร้อมใจขึ้นราคา

เปิดศักราชใหม่รับปีกระต่าย 2566 ประชาชนเตรียมแบกรับค่าครองชีพพุ่ง ระบบขนส่งสาธารณะพร้อมใจปรับขึ้นราคาเริ่ม 1 ม.ค.นี้ เป็นต้นไป

1 ม.ค.2566 นับเป็นวันแรกของการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายในกรุงเทพมหานคร ประเดิมด้วยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT ผู้บริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง จะปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน) จากราคา 15 บาทตลอดสาย ปรับเป็น 16 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารโครงการ

ในส่วนของอัตราค่าโดยสารลดหย่อนยังเป็นอัตราเดิม 8 บาทตลอดสาย สำหรับผู้สูงอายุสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้โดยสารทหารผ่านศึกตามกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โดยยกเว้นค่าโดยสารสำหรับเด็กที่มีความสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร และคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 บริษัทฯ จะปรับราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร 24 สถานี ได้แก่

- สายสุขุมวิท  สถานีหมอชิต –สถานีอ่อนนุช

- สายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน

- ส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่

จากราคา 16 - 44 บาท ปรับเป็น 17 - 47 บาท  ทั้งนี้ การปรับราคา ค่าโดยสารใหม่นั้น ยังต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุดตามสัญญาสัมปทานซึ่งอยู่ในอัตรา 21.52 - 64.53 บาท

ค่าครองชีพกระโดดรับปี ’กระต่าย’ ขนส่งสาธารณะพร้อมใจขึ้นราคา

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสมาตั้งแต่ปี 2542 เป็นเวลา 23 ปี มีการปรับราคาเพียง 3 ครั้ง เท่านั้น โดยการปรับราคาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2560 ปรับจาก 15 - 42 บาท เป็น 16 - 44 บาท จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผ่านมากว่า 5 ปีแล้วที่บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการปรับราคาค่าโดยสารพื้นฐานที่เรียกเก็บโดยสัญญาสัมปทานกำหนดให้บริษัทฯ สามารถปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ทุกๆ 18 เดือน โดยไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุด แต่เนื่องจากบริษัทฯ ได้คำนึงถึงผลกระทบของประชาชนจึงได้มีการชะลอการปรับอัตราค่าโดยสารอย่างต่อเนื่อง

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ ผลกระทบจากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ราคาต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงาน อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่สูงขึ้น อัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกทั้งบริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น ค่าซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ที่มีจำนวนรถไฟฟ้าให้บริการสูงสุดถึง 98 ขบวน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้พยายามตรึงราคาค่าโดยสารมาโดยตลอด

ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ออกประกาศเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2566 รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน จะมีการปรับอัตราค่าโดยสารขึ้น 1 บาท สำหรับการเดินทางสถานีที่ 6, 9, 11 และ 12 จากปัจจุบันอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 สูงสุด 42 บาท ปรับเป็นค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 43 บาท ซึ่งเป็นการปรับตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ได้มีมติเห็นชอบแล้ว โดยตามสัญญาสัมปทาน อัตราค่าโดยสารใหม่ ผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2565 ที่ผ่านมาแล้ว

แต่เนื่องจาก กระทรวงคมนาคม ได้หารือกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ในฐานะผู้รับสัมปทาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะค่าครองชีพสูง จึงยังคงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ในราคาเดิม ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 ทั้งนี้  ราคาที่ปรับขึ้นจะมีผลสำหรับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน มีทั้งสิ้น 38 สถานี โดยช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ มี 18 สถานี ช่วงหัวลำโพง – บางแค มีสถานี 11 สถานี และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ มี 9 สถานี

ส่วนบริการรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI - METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร ล่าสุดกระทรวงคมนาคมออกประกาศอนุญาตให้มีการปรับขึ้นราคาค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนของผู้ประกอบการในปัจจุบัน และอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอัตราค่าจ้างใหม่นั้น กำหนดกรณีรถยนต์รับจ้าง ที่มีลักษณะเป็นรถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน และรถยนต์นั่งสามตอนแวน ดังต่อไปนี้

  • ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 40.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท

ส่วนกรณีรถยนต์รับจ้าง นอกจากข้อ 1 ให้กำหนด ดังต่อไปนี้

  • ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท