“ธรรมศาสตร์” เร่ง EECmd ดึงเอกชนพัฒนาพื้นที่ 300 ไร่

“ธรรมศาสตร์” เร่ง EECmd ดึงเอกชนพัฒนาพื้นที่ 300 ไร่

ความคืบหน้าของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์พัทยา หรือ EECmd กำลังเข้าสู่ระยะการศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนของภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมกิจการการแพทย์ครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

สำหรับโครงการ EECmd มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ตั้งอยู่ที่ ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่ 585 ไร่ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมการแพทย์และวิศวกรรมด้านเฮลธ์เทค (Health Tech) เดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น “Medical Valley” แห่งแรกของประเทศไทย สอดรับกับแผนการพัฒนาศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) สมาร์ตซิตี้ (Smart City) และสมาร์ตแคมปัส (Smart Campus) เพื่อการผลิตบุคลากร การศึกษาวิจัย การรักษาและการส่งเสริมสุขภาพ

รวมทั้งมีการก่อสร้างโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital) ซึ่งจะรองรับการให้บริการชุมชนโดยรอบพื้นที่ที่จะเติบโตขึ้นอีกมากในอนาคต โดยภาพรวมโครงการคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดในโครงการราว 8-9 พันล้านบาท

ทั้งนี้ การออกแบบโครงการมีการแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ ด้านบริการ และด้านที่พักอาศัย ทั้งนี้ ภายในพื้นที่มีแผนการพัฒนาโครงสร้างต่างๆอาทิ สถาบันวิจัยการแพทย์ชั้นสูง, โรงพยาบาลดิจิทัล, ศูนย์ดูแลสุขภาพ (Wellness Health Resort), ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Senior Living) และศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ (Sport Complex) เชื่อมต่อการลงทุนกลุ่ม Health Tech ชั้นนำระดับโลก

รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา (มธ.) เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ EECmd ว่า ปัจจุบัน มีเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนแล้วรวมพื้นที่กว่า 300 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) ประกอบด้วย 

บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) พื้นที่ 50 ไร่ พัฒนาโซนสมาร์ตลิฟวิ่ง รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ 

บริษัท สยามกลการ จำกัด พื้นที่ 31 ไร่ พัฒนาสปอร์ตคอมเพล็กซ์ 

บริษัท วันจีโนม เอเชีย, บริษัท ฮอริบา (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ทีม กรุ๊ป จำกัด สนใจลงทุนด้าน Health Tech และสตาร์ตอัพ 

บริษัท ภูฟ้าเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด พื้นที่ 20 ไร่ ทำศูนย์บำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บริษัท บีกริมพื้นที่ 10 ไร่ วางระบบสาธารณูปโภคในโครงการ

“ส่วนพื้นที่ที่เหลืออยู่ เราตั้งใจว่าจะไปชักจูงนักลงทุนจากอิสราเอลและจีน ในกลุ่มเฮลธ์เทค จีโนม และดิจิทัลเฮลธ์แคร์ ซึ่งมีพื้นที่เหลืออยู่ 10,000 ตารางเมตร ซึ่งนอกจากจะสร้างเม็ดเงินลงทุนแล้วจะมีการเชื่อมโยงให้เกิดการถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยีผ่านหลักสูตรการฝึกงานของนักศึกษา” 

“ธรรมศาสตร์” เร่ง EECmd ดึงเอกชนพัฒนาพื้นที่ 300 ไร่ การดำเนินงาน EECmd จะโฟกัสที่การแก้ความเหลื่อมล้ำของประเทศเป็นหลักและคุณภาพชีวิตของประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นเป็น Digital Hospital และอนาคตการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ 5 ด้าน ได้แก่

1.พัฒนาโรงพยาบาลที่ทันสมัยเพื่อให้บริการชุมชนในท้องถิ่น 2.วางแผนผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขพยาบาล และการดูแลผู้สูงวัย 3.ศึกษาวิจัยและสร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์

4.ตั้งศูนย์สุขภาพสำหรับพัฒนาและรองรับการเติบโตด้านการดูแลกลุ่มผู้สูงวัยในพื้นที่และชาวต่างชาติ 5.เป็นฐานความร่วมมือกับต่างประเทศและเอกชนเสริมความแข็งแกร่งด้านการแพทย์ครบวงจร

“โดยโรงพยาบาลดิจิทัลคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 และภายใน 2 เดือนนี้จะมีการประกาศทีโออาร์ให้เอกชนเช่าพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันเราได้มีการทดสอบและพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะใช้ในโครงการแล้ว โดยบริษัท Easyhms ซึ่งจะเป็นระบบดิจิทัลเริ่มตั้งแต่การทำเวชระเบียนจากที่บ้าน จองคิวผ่านสมาร์ทโฟน มีหุ่นยนต์นำทางให้คนพิการหรือพาผู้ป่วยไปสถานที่ตรวจ การรับยาที่บ้าน การปรึกษาโรคด้วยระบบเทคโนโลยีทางไกลและมีทีมดูแลสุขภาพชุมชนคู่ขนาน”

ทั้งนี้ พื้นที่ EECmd เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนเป็นเวลา 11-13 ปี รวมถึงการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพักอาศัยในประเทศไทยร้อมครอบครัว และสิทธิซื้อคอนโดมิเนียมในสัดส่วนที่เกินกว่า 50%

นอกจากนี้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษาและภาคธุรกิจที่มีเป้าหมายให้ไทยเป็น Medical Hub โดยเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2565 มีงานTHAMMASAT EECmd Vision “Now and Next” แสดงศักยภาพของนวัตกรรมทางการแพทย์และวิศวกรรมด้าน Health Tech ของ EECmd พิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) กับภาคี 25 หน่วยงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “4F” ได้แก่

F1 Future Workforce สร้างพลังการทำงานแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาการศึกษาและการวิจัย

F2 Future Workplace พัฒนาที่ทำงานแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้าน Digital Health

F3 Future Life and Society สร้างคุณภาพชีวิตและสังคมแห่งอนาคต ด้านความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานUtility

F4 Future Collaboration พัฒนารูปแบบความร่วมมือแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้านนวัตกรรมการศึกษา การพัฒนาที่ดิน ศูนย์ความเป็นเลิศ และสตาร์ทอัพ

รวมทั้งจะเห็นสถาบันการศึกษาสถาบันวิจัยการแพทย์ชั้นสูงโรงพยาบาลดิจิทัลศูนย์ดูแลสุขภาพศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและศูนย์กีฬาขนาดใหญ่พร้อมเชื่อมการลงทุนกลุ่ม Health Tech ระดับโลกภายใต้แนวคิด Better Future Beyond Boundaries มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม