รู้จักร้าน 'โดนใจ' โมเดลค้าปลีกใหม่ 'บีเจซี' ขอติดอาวุธโชห่วยเติบโตยั่งยืน

รู้จักร้าน 'โดนใจ' โมเดลค้าปลีกใหม่ 'บีเจซี' ขอติดอาวุธโชห่วยเติบโตยั่งยืน

"บีเจซี" ลุยโมเดล "ร้านโดนใจ" ดึงเทคโนโลยี POS เสริมแกร่งร้านค้าโชห่วย ยกระดับค้าปลีกไทย เดินหน้าผนึกพันธมิตร ผู้ผลิตสินค้า กลุ่มธนาคาร ร่วมพัฒนา วางเป้าหมายปี 2566 มีเครือข่ายร้านโดนใจ 8,000 ร้านค้า และจะเติบโตสู่หลัก 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2570

ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ของ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มีความมุ่งมั่นในการเข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ ในท้องถิ่นอย่างร้านโชห่วย เพื่อให้สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ จึงเป็นที่มาของการต่อยอดโครงการร้านเครือข่าย “โดนใจ” ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการร่วมพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้มีรูปแบบการบริหาร จัดการ ที่ทันสมัย ตลอดจนมีระบบข้อมูลที่ช่วยพัฒนาการขายแบบยั่งยืน

ทั้งนี้ บริษัทเริ่มทำโครงการแบบ “ซอฟต์ ล้อนช์” ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยที่เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายร้านโดนใจแล้วประมาณ 1,000 ราย หลังจากนี้ จะมีการเดินหน้า พร้อมเปิดตัวพันธมิตรทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเจ้าของสินค้าที่จะมีการเปิดตัวพันธมิตรอย่างเป็นทางการในต้นปี 2566 นี้

ขณะที่เป้าหมายในปี 2566 ต้องการดึงร้านโชห่วยเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายร้านโดนใจ ประมาณ 4,000 ร้านค้า ส่วนเป้าหมายระยะยาว มองถึงการมีเครือข่ายร้านโดนใจทั่วประเทศ 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2570 จากร้านค้าโชห่วยทั่วประเทศที่มีตัวเลขอยู่ราวกว่า 400,000 ร้านค้า โดยร้านค้าโชห่วยที่เหมาะสมกับการปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านโดนใจก็คือ ร้านค้าปลีกในชุมชนขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง ไม่รวมถึงร้านค้าส่งที่ขายสินค้ายกลังให้กับร้านค้าด้วยกัน

รู้จักร้าน 'โดนใจ' โมเดลค้าปลีกใหม่ 'บีเจซี' ขอติดอาวุธโชห่วยเติบโตยั่งยืน แม้จะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งที่เป็นค้าปลีก-ค้าส่งรวมถึงซัพพลายเออร์เจ้าของสินค้า เข้ามาทำโมเดลเครือข่ายร้านโชห่วยหลายราย แต่ในมุมมองของตัวเอง กลับมองว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการเข้ามาช่วยกันพัฒนาให้ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น และจะนำไปสู่การเติบโตแบบยั่งยืนในระยะยาว “เรามองว่า ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วย เป็นอีก 1 ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับ รากหญ้า

เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านั้น มีจุดอ่อนในเรื่องของการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารสต็อกสินค้าที่ถือเป็นต้นทุนสำคัญ ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนร้านค้าโชห่วยทั่วประเทศ ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก คือราวกว่า 500,000 ราย เพราะแม้จะมีหลายรายที่เข้ามาทำธุรกิจ แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องเลิกไป บีเจซี มองเห็นปัญหาดังกล่าว จึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลาง เพื่อช่วยพัฒนาร้านค้าให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ตลอดจนองค์ความรู้ในการบริหารร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยมีการพัฒนาระบบ POS ขึ้นมาเพื่อเข้าไปช่วยร้านค้าเหล่านั้น พร้อมกับการมีทีมงานเข้าไปช่วยพัฒนา และเพิ่มทักษะในการทำธุรกิจค้าปลีกให้กับผู้ประกอบการเหล่านั้น

สำหรับเครือข่าย "ร้านโดนใจ" มีจุดเด่นตรงที่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยสามารถเลือกการลงทุน และเลือกสินค้า ที่จำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งผลกำไรกับใคร ด้วยงบลงทุนไม่สูงนัก โดยแบ่งรูปแบบของร้านออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 บีเจซีที่จะใช้เครือข่ายของบิ๊กซี เป็นคนจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้าในชุมชน พร้อมจัดส่งให้ถึงหน้าร้าน เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านให้กับร้านค้า

รู้จักร้าน 'โดนใจ' โมเดลค้าปลีกใหม่ 'บีเจซี' ขอติดอาวุธโชห่วยเติบโตยั่งยืน

รูปแบบที่ 2 จะออกมาในลักษณะของการนำระบบ POS ที่พัฒนาขึ้นให้เหมาะสม และตอบโจทย์กับการทำธุรกิจของร้านโชห่วย อีกทั้งยังใช้งานง่าย บีเจซีจะเข้าไปปรับปรุงร้านค้าให้มีรูปแบบที่ทันสมัย และดึงดูดลูกค้ามากขึ้น โดย ที่เจ้าของร้านค้าโชห่วยสามารถเลือกขอบเขตการปรับปรุงหรือตกแต่งร้านค้าได้เองตามงบที่ตัวเองเห็นสมควร ทั้งนี้ จะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นค่าบริหารระบบประมาณ 4,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จะถูกคืนกลับไปให้ร้านค้าในกรณีที่มีการสั่งซื้อสินค้าตามเป้าที่กำหนดให้

ส่วนการกระจายสินค้าเข้าร้านโดนใจนั้นจะใช้เครือข่ายสาขาของบิ๊กซีที่มีสาขาขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 200 สาขา ซึ่งจะเข้ามาช่วยเป็นเครือข่ายในเรื่องของการจัดการสินค้าเข้าร้าน ทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีปัญหาในเรื่องของการจัดการเกี่ยวกับสินค้าที่จะนำมาวางขายในร้าน โดยระบบ POS ที่พัฒนาขึ้นนี้ จะทำให้รู้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่า สินค้าตัวไหนขายดี หรือสินค้าประเภทใดเป็นที่ต้องการของแต่ละชุมชน ทำให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังสามารถช่วยลดต้นทุน และแก้ปัญหาการบริหารจัดการสต็อกที่เป็นต้นทุนหลักที่ร้าน โชห่วยต้องแบกรับมาตลอด

“ร้านโดนใจ เกิดขึ้นบนความตั้งใจของเราที่ต้องการจะเข้ามาช่วยพัฒนาร้านโชห่วยให้มีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลต่อการเติบโตแบบยั่งยืนทั้งระบบ" 

นั้นหมายถึงไม่เพียงแค่ธุรกิจในเครือของบีเจซีอย่างบิ๊กซีที่มีลูกค้าส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าโชห่วยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วย และซัพพลายเออร์เจ้าของสินค้าที่เข้ามาร่วมอยู่ในอีโคซิสเท็มของโดนใจ ที่จะเติบโตไปพร้อมๆ กัน นอกจากในเมืองไทยแล้ว บริษัทยังมองถึงการพัฒนาโครงการ ร้านโดนใจ(Gia Toh)ในเวียดนามด้วยการใช้ต้นแบบจากประเทศไทยไปพัฒนาต่อยอดที่นั่น ซึ่งจะเป็นอีกการเปิดโอกาสให้กับสินค้าไทยให้สามารถขยายโอกาสในการขายสินค้าไปสู่คนเวียดนามได้อีกด้วย 

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์