ร้านไม่ "จดทะเบียนVAT" เรียกเก็บ VAT 7% ไม่ได้ ชวนรู้กฎหมาย "ภาษีมูลค่าเพิ่ม"

ร้านไม่ "จดทะเบียนVAT" เรียกเก็บ VAT 7% ไม่ได้ ชวนรู้กฎหมาย "ภาษีมูลค่าเพิ่ม"

จากดราม่าร้านอาหารเรียกเก็บ VAT 7% ทั้งๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนVAT นำมาสู่ข้อสงสัยด้านการเรียกเก็บ "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" รวมถึงการจดทะเบียนตามกฎหมาย และ VAT เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอย่างไร ทำไมจึงต้องจ่ายเพิ่ม?

ประเด็นเกี่ยวกับ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” (VAT) มีกรณีศึกษามาให้เห็นบ่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคเท่าทันและเข้าใจเรื่อง “ภาษี” มากขึ้น อย่างล่าสุด เกิดกรณีร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านกำแพงแสน จ.นครปฐม เรียกเก็บค่าอาหารพร้อมค่า VAT 7% ทั้งที่ทางร้านไม่ได้จดทะเบียน VAT ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นเคสตัวอย่างที่ย้ำเตือนว่า เมื่อไปใช้บริการร้านอาหารใดๆ ก็ตาม หากมีการเรียกเก็บ VAT 7% ผู้บริโภคควรขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปด้วยทุกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

แล้ว VAT 7%คืออะไร? ทำไมผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มนอกเหนือจากค่าสินค้าและบริการ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือ ภาษีที่เก็บจากมูลค่าการซื้อขายและการให้บริการภายในประเทศ รวมถึงสินค้านำเข้า ซึ่งปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยอยู่ที่ 7% โดยกฎหมายมีการบังคับให้ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดย “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” เป็นภาษีทางอ้อม ที่ทางผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถเลือกที่จะผลักภาระให้กับผู้บริโภคได้ จึงทำให้ผู้บริโภคมีหน้าที่ที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกเหนือค่าสินค้าหรือบริการด้วย ด้านผู้ประกอบการ มีหน้าที่เก็บรวบรวมเงินในส่วนของภาษีดังกล่าว แล้วนำไปส่งให้กับกรมสรรพากร เพื่อเข้าสู่คลังของประเทศ (ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้เข้าร้านแต่อย่างใด) 

ร้านไม่ \"จดทะเบียนVAT\" เรียกเก็บ VAT 7% ไม่ได้ ชวนรู้กฎหมาย \"ภาษีมูลค่าเพิ่ม\"

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่น “จดทะเบียน VAT” ไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท พร้อมกับนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป แต่ถ้าหากมีรายได้ตลอดทั้งปีเท่ากับ 1.8 ล้านบาทพอดี ยังถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ก็จะได้รับการยกเว้นยังไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

*หมายเหตุ: การไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์นั้นมีความผิดตามกฎหมาย หากถูกตรวจสอบพบ ผู้ประกอบการจะต้องชำระภาษีย้อนหลัง และต้องจ่ายเบี้ยปรับ (มากที่สุดคือ 2 เท่าของภาษีที่ชำระ) และเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระด้วย

นอกจากนี้ มีธุรกิจบางประเภทอาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ยกเว้น VAT หากอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด หรือบางธุรกิจที่กฎหมายบังคับให้ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากเป็นไปตามเงื่อนไขก็จะได้รับยกเว้นเช่นกัน

ดังนั้น เจ้าของธุรกิจที่ดำเนินกิจการจนมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีไปแล้ว ก็ต้องจดทะเบียน VAT ตามกฎหมาย และควรเช็กให้แน่ใจก่อนว่าตนเองอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับยกเว้นหรือไม่ 

ร้านไม่ \"จดทะเบียนVAT\" เรียกเก็บ VAT 7% ไม่ได้ ชวนรู้กฎหมาย \"ภาษีมูลค่าเพิ่ม\"

สำหรับประเภทธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจด VAT จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

กลุ่มที่1. ธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม

คือ ธุรกิจที่กฎหมายกำหนดว่า หากประกอบธุรกิจตามประเภทที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบด้วย

  • ผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือบริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
  • ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
  • ผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
  • ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาขายสินค้าหรือบริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 43)
  • ผู้ประกอบการอื่นตามที่อธิบดีจะประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุอันสมควร

กลุ่มที่ 2. ธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีสิทธิ์แจ้งขอจดได้

โดยมีธุรกิจบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่นำมานับรวมเป็นรายได้ที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีสิทธิแจ้งขอจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบด้วย

  • ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่น อาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
  • ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย และมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
  • การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยท่าอากาศยาน
  • การส่งออกของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร

ร้านไม่ \"จดทะเบียนVAT\" เรียกเก็บ VAT 7% ไม่ได้ ชวนรู้กฎหมาย \"ภาษีมูลค่าเพิ่ม\"

โดยสรุปคือ ผู้ประกอบการร้านอาหารที่รายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีก็ไม่ต้อง “จดทะเบียน VAT” และไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่สรรพากร แต่ก็ไม่สามารถเรียกเก็บ VAT 7% จากผู้บริโภคได้เช่นกัน เพราะเข้าข่ายผิดกฎหมายตามประมวลรัษฎากรมาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดเป็นหลักไว้ว่า “ผู้ที่จะออกใบกำกับภาษี” ได้นั้น ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

หาก ‘ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม’ กับกรมสรรพากร เมื่อมีการขายสินค้าหรือให้บริการ ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างเด็ดขาด ถ้ามีการออกใบกำกับภาษีโดยที่ผู้ออกยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ออกจะต้องมีความรับผิดทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา

แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการทำลงไปโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจด้วยความเข้าใจผิด หรือเหตุอื่นใดก็ตาม แนวทางแก้ปัญหา คือ ให้ผู้ประกอบการยื่นคำร้องขอต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนVATย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ได้ปฏิบัติตนเป็นเสมือนผู้ประกอบการจดทะเบียน

ซึ่งถ้าได้รับการอนุมัติตามมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง  ก็จะทำให้การออกใบกำกับภาษีตั้งแต่ต้นไม่เป็นความผิด

-----------------------------------------

อ้างอิง : กฎหมายเรียกเก็บ VATธุรกิจที่ไม่ต้องจดทะเบียน VAT