COP27: สรุปแนวโน้มสำคัญ และผลกระทบในบริบทของไทย

เป็นที่คาดหวังกันว่าการประชุม COP27 ณ ชาร์มเอลชีค จะมีความคืบหน้าด้านการพัฒนากลไกภายใต้ความตกลงปารีส และความคืบหน้าของประเทศที่ให้คำมั่นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่เหตุการณ์ภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก เช่น อุทกภัยครั้งใหญ่ในปากีสถาน และไฟป่าขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นแรงกดดันให้ที่ประชุม ฯ ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งกลไกในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนประเทศที่เปราะบาง ส่วนการหารือเพื่อตั้งปีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด (peak emissions) และแผนการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกลับยังไม่มีข้อสรุปแน่นอน สะท้อนถึงสถานการณ์พลังงานที่มีความแปรปรวนอันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โดยสรุปประเด็นที่เป็นข้อหารือที่สำคัญ COP27 มีดังนี้

1. ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) – มีการจัดตั้ง Loss and Damage Funds ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือประเทศเปราะบางที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรายละเอียดและกลไกของกองทุนฯ จะเริ่มการหารือในเดือนมีนาคมปีหน้า ส่วนไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ได้รับผลจากอุทกภัยสูงสุดนับเป็นประเทศเปราะบางสูง จึงน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายประเทศผู้รับเงินของกองทุน ฯ

ด้วยบริบทเช่นนี้ ไทยยังคงต้องการความช่วยเหลือกลไกระดับโลกอื่น ๆ เพื่อการลงทุนในโครงการด้านการบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในระดับประเทศ ระบบการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะชัดเจนขึ้นเมื่อ Green Taxonomy ของธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลเป็นการเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านความยั่งยืน เพื่อดำเนินการปรับตัวสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ

2. ด้านพลังงาน – ที่ประชุมฯ เน้นย้ำความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเร่งการหยุดใช้ถ่านหิน ในขณะที่กลุ่มประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้น ๆ ได้เริ่มให้คำมั่นเพื่อกำหนดกรอบเวลาการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังคงมีข้อท้าทายสำคัญในการพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้า (Grid) ที่มีความมั่นคงและเสถียร เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน

ไทยยังคงพึ่งพาการผลิตและนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อคงความมั่นคงทางพลังงาน แต่ในระยะถัดไปแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2022-2037 ได้ระบุแผนการเพิ่มศักยภาพในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โดยมุ่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 2037 ทำให้หลายบริษัทไทยซึ่งลงทุนในสาธารณูปโภคพลังงานมุ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ซึ่งนับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ

3. กลไกทางตลาด – เพื่อเร่งให้โลกเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน COP27 ได้หารือกลไกเพื่อสนับสนุนตลาดคาร์บอน ได้แก่ การกำกับดูแลและการใช้ Internationally Transferred Mitigation Outcomes (ITMOs) ภายใต้ Article 6.2 และการกำหนดกลไกที่ชัดเจนของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายใต้ Article 6.4 ของความตกลงปารีส ซึ่งไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้กลไกของ Article 6.2 ผ่านความร่วมมือกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์

นอกจากกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจขององค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก) ในปีนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยความร่วมมือกับ อบก. ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต โดยนอกจากจะมุ่งเป็นตลาดซื้อขาย เร่งการใช้คาร์บอนเครดิตในไทย และเป็นส่วนผลักดันนวัตกรรมที่ใช้ในโครงการลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว ยังมุ่งหวังว่าจะช่วยผลักดันการพัฒนาคุณภาพของคาร์บอนเครดิตไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

4. เทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก – เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การหารือเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการลดการปล่อยคาร์บอนจึงเป็นอีกหัวข้อสำคัญของ COP27 ในบริบทของไทย การลดคาร์บอนในอนาคตอาจต้องพึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Green hydrogen และ carbon capture, utilization, and storage (CCUS) ที่มีพัฒนาการสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เหล่านี้อาจต้องอาศัยความร่วมมือด้านนวัตกรรมและการลงทุนซึ่งเห็นพัฒนาการของภาคเอกชนที่สำคัญในปีนี้ เช่น การลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการใช้พลังงานสะอาดของ EGCO กับประเทศซาอุดีอาระเบีย และ ปตท.ได้ริเริ่มโครงการสผ. CCUSโครงการแรกของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะได้เริ่มดำเนินการจริงในปี 2026

ความก้าวหน้าและแรงกดดันเหล่านี้ สะท้อนว่าไทยยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการสนับสนุนด้านนโยบายและกรอบกฎหมายจากภาครัฐ เพื่อเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีให้ไทยสามารถบรรลุการเป็นเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งภาคเอกชนเป็นตัวแสดงสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ไทยบรรลุเป้าหมายเหล่านี้