ปัญหาเศรษฐกิจโลกกำลังคลี่คลายจริงหรือ? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ปัญหาเศรษฐกิจโลกกำลังคลี่คลายจริงหรือ? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมา 12-13% จากกลางเดือน ต.ค. เพราะนักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นว่าปัญหาหลักที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญอยู่ 3 ปัญหาอาจกำลังคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ปัญหาที่ว่านี้คือ

1. การค่อยๆ ปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อที่สหรัฐและประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญๆ เช่น ยุโรป ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็ววันนี้

2. การประกาศมาตรการผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน พร้อมกับการนำเสนอมาตรการทางด้านการเงินเพื่อช่วยกอบกู้ความตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์

3. ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปปรับลดลงมาแล้ว 2/3 จากจุดสูงสุดในเดือน ส.ค. ทำให้เชื่อได้ว่าการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรปจะไม่รุนแรงมากนักในปลายปีนี้และต้นปีหน้า ส่วนหนึ่งเพราะช่วงที่ผ่านมาอากาศในยุโรปอุ่นผิดขึ้นปกติ ทำให้ยุโรปสามารถสำรองพลังงานได้เพียงพอสำหรับการใช้ในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

นอกจากการปรับขึ้นของราคาหุ้น ราคาพันธบัตรก็ยังปรับตัวขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากการปรับตัวลดลงของดอกเบี้ยระยะยาว นอกจากนั้นเงินเหรียญสหรัฐก็ยังอ่อนค่าลงไปอย่างมากใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

คำถามในใจของคนหลายคน วันนี้คือการคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีดังกล่าวข้างต้นนั้นจะต่อเนื่องไปอีกนานเพียงใด และจุดอันตราย ตลอดจนความตกต่ำที่เผชิญอยู่ในปีนี้นั้นได้ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้วใช่หรือไม่ 

เป็นคำถามที่ผมคิดว่าตอบยาก แต่ผมจะขอมองภาพในแง่ระมัดระวังว่า ยังไม่ควรมั่นใจมากนักว่าสภาวการณ์จะพัฒนาในทางบวกอย่างต่อเนื่องไปในปี 2566 เพราะปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้น 3 ข้อนั้น ผมเชื่อว่ายังไม่ได้คลี่คลายไปแต่อย่างใด

ในส่วนของเงินเฟ้อที่ตัวเลขดัชนีผู้บริโภคในสหรัฐในเดือน ต.ค.ลดลงจากเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์นั้น เป็นเพียงตัวเลขเดือนเดียว

วารสาร The Economist ตีพิมพ์บทความวิเคราะห์เชิงลึกสรุปว่า “Even a global recession may not crush inflation” (วันที่ 15 พ.ย.2565) เพราะเมื่อสำรวจข้อมูลเงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจหลักแล้วก็พบว่า เงินเฟ้อไม่ได้มีแนวโน้มลดลง แถมยังมีหลักฐานว่ากำลังแพร่ขยายออกไป ( broadening out)

 จริงอยู่ ราคาพลังงานและราคาอาหารเริ่มปรับตัวลดลงบ้าง แต่จากข้อมูลดัชนีผู้บริโภคใน 36 ประเทศ พบว่า สินค้าประมาณ 60% มีราคาปรับขึ้นเกินกว่า 4% ต่อปีในเดือน มิ.ย.2564 ต่อมาในเดือน ต.ค.2565 สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 67% เป็นต้น

ปัญหาเศรษฐกิจโลกกำลังคลี่คลายจริงหรือ? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

อีกประเด็นสำคัญที่ขับเคลื่อนเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วคือ การปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องของค่าจ้างแรงงานที่สหรัฐ ตลาดแรงงานที่สหรัฐยังตึงตัวอย่างมาก โดยยังมีตำแหน่งว่างเกือบ 2 ตำแหน่งต่อคนว่างงาน 1 คนและค่าจ้างแรงงานก็ยังเพิ่มขึ้นกว่า 5% ต่อปี

นอกจากนั้นวารสาร The Economist ยังอ้างถึงงานวิจัยของธนาคารกลางไอร์แลนด์ พบว่า การประกาศจ้างงานในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรยังต้องเสนอเงินเดือนเพิ่มขึ้นกว่า 5% และยังขยับเพิ่มขึ้นไปได้อีก (แปลว่ายังขาดแคลนแรงงานอยู่มาก)

สำหรับมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการระบาดโควิด-9 ในประเทศจีนนั้น หนังสือพิมพ์ Financial Times ของอังกฤษได้ตีพิมพ์รายงานเชิงลึกเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565

สรุปสาระสำคัญคือ กลุ่มแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดของจีน ได้กล่าวตักเตือนผู้นำของจีนอย่างชัดเจนว่า ระบบสาธารณสุขของจีนจะไม่สามารถรองรับปัญหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากได้ หากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 

(China’s healthcare system is not prepared to deal with a huge nationwide coronavirus outbreak that would inevitably follow an easing of strict measures to contain COVID-19)

ประเทศส่วนใหญ่สามารถเปิดประเทศได้เพราะประชาชนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนครบ 3-4 เข็มแล้ว และติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันอย่างกว้างขวาง เช่น สหรัฐ ประชาชนติดเชื้อเป็นโควิด-19 ไปแล้ว 30% ของประเทศ เยอรมนี 43% เกาหลีใต้ 51% และสิงคโปร์ 38% เป็นต้น แต่ที่ประเทศจีนนั้นมีประชากรเคยติดเชื้อเป็นโควิด-19 เพียง 0.08% 

ปัญหาเศรษฐกิจโลกกำลังคลี่คลายจริงหรือ? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

นอกจากนั้นชาวจีนที่อายุ 80 ปีหรือมากกว่าที่ฉีดวัคซีน (เชื้อตาย) ครบ 3 เข็มมีเพียง 40% เท่านั้น เทียบกับ 92% ที่ญี่ปุ่น 85% ที่ไต้หวันและ 61% ที่ฮ่องกง เป็นต้น กล่าวคือคนจีนส่วนใหญ่น่าจะยังไม่มีภูมิคุ้มกันดีจากโควิด-19 ที่กำลังกลายพันธุ์ ทำให้ติดต่อได้ง่ายขึ้นไปอีก 

เชื่อไหมว่า ประเทศจีนมีประชากร 1,400 ล้านคน แต่มีคนจีนติดเชื้อเคยเป็นโควิด-19 เพียง 1.27 ล้านคน และเสียชีวิตเพราะโรคนี้เพียง 5,227 คน เทียบประเทศไทยที่มีประชากร 68 ล้านคน แต่เป็นโควิด-19 ไปแล้ว 4.7 ล้านคน และเสียชีวิตเพราะโรคนี้ไปแล้ว 33,037 คน

ในส่วนของยุโรปที่กำลังจะ “รอด” จากวิกฤติพลังงานในปลายปีนี้และต้นปีหน้านั้น ก็อาจเป็นเพียงการ “พักรบ” ไประยะหนึ่งเท่านั้น

หมายความว่าเมื่อพ้นฤดูหนาวปีนี้ไปแล้ว และหมดสต็อกก๊าซธรรมชาติตอนปลายเดือน ก.พ.2566 ไปแล้ว ก็จะต้องพยายามแสวงหาพลังงานมากักตุนเอาไว้อีกสำหรับฤดูหนาวตอนปลายปีหน้า เพราะสงครามในยูเครนนั้นมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อต่อไปอย่างไม่มีจุดจบได้โดยง่าย 

นักเศรษฐศาสตร์จึงกำลังปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจยุโรปให้มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้คือ ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3% (เพราะเศรษฐกิจในไตรมาส 4 จะหดตัวไม่มากดังที่คาดการณ์เอาไว้เดิม)

แต่นักเศรษฐศาสตร์กลับมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยุโรปในปีหน้า (2566) จะต้องหดตัว จากที่เดิมเคยคาดการณ์เมื่อกลางปีนี้ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 2% ในปี 2566

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร