โหมโรงประชุมเอเปค งานใหญ่วัดฝีมือเจ้าภาพ

โหมโรงประชุมเอเปค งานใหญ่วัดฝีมือเจ้าภาพ

สำหรับประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ต้องการเป็นนายกฯ เพื่อเป็นเจ้าภาพเอเปค บัดนี้ใกล้ความเป็นจริงเข้าไปทุกที แต่ก็อยากตั้งคำถามว่าท่านผู้นำได้เตรียมความพร้อมรับเรื่องเซอร์ไพรส์ที่ต้องใช้ฝีมือด้านการทูตไว้บ้างหรือยัง

เหมือนจะดูเหงาๆ แต่พอใกล้ถึงเวลาจริงการประชุมผู้นำความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพก็คึกคักเข้ามาทุกที

วันก่อน เพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย หนึ่งในสมาชิกเอเปค เดินสายเยือนบรูไน และไทย ปิดรายการที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ด้วยการแสดงปาฐกถาที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศถึงสถานการณ์โลกที่กำลังเผชิญความท้าทายมากมาย และกล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถัดมาหนึ่งวัน ณ สถานที่เดียวกัน ธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แสดงปาฐกถาเปิดม่านสัปดาห์ผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ถือเป็นการโหมโรงการประชุมครั้งสำคัญ ที่เหล่าผู้นำจะได้ประชุมแบบเจอหน้าค่าตากันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2561

เมื่อผู้นำจะมาทั้งทีบรรดาสถานทูตประเทศเอเปคก็ต้องเตรียมตัวต้อนรับอย่างเต็มที่ ส่วนใหญ่อยากให้เบอร์ 1 ของตนมาร่วมประชุมกันทั้งนั้น เพราะนั่นคือการได้แสดงแสนยานุภาพของตน

เช็กโปรแกรม ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ วันที่ 11 พ.ย. ไปประชุม COP27 ที่อียิปต์ จากนั้นมาประชุมผู้นำสหรัฐ-อาเซียนที่กัมพูชา แล้วไปประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย ก่อนกลับไปงานแต่งงานหลานสาวที่ทำเนียบขาว ให้รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส มาประชุมผู้นำเอเปค ที่กรุงเทพฯ แทน

ส่วน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน กระชับอำนาจในประเทศเรียบร้อยไม่มีอะไรให้น่ากังวล มาร่วมประชุมเอเปค2022 แน่นอนส่งทีมงานมาดูสถานที่แล้ว ที่รอลุ้นคือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบทั้งการประชุม G20 และเอเปค ต้องรอให้ใกล้ถึงวันจึงจะทราบได้ 

ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานบวช งานแต่งงาน หรือจัดประชุมเอเปค สิ่งที่เหมือนกันคือ แขกเลือกเจ้าภาพได้ แต่เจ้าภาพเลือกแขกไม่ได้ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ ถึงเวลานี้ประเด็นใครมา/ไม่มา ไม่สำคัญอีกต่อไปการรับแขกและจัดการสถานการณ์ไม่คาดคิดต่างหากที่สำคัญกว่า

อย่าลืมว่า ท่ามกลางความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะการรุกรานยูเครนของรัสเซียเคยทำให้เกิดการวอล์คเอาท์กันมาแล้ว ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคเมื่อหลายเดือนก่อน การประชุมระดับผู้นำจึงต้องลุ้นว่าถ้าผู้นำรัสเซียมาจะมีอะไรเซอร์ไพรส์อีก

สถานการณ์ร้อนแบบนี้ถือเป็นบททดสอบฝีมือผู้นำด้วย อย่าลืมว่าอินโดนีเซีย เจ้าภาพ G20 ที่มีรัสเซียเป็นสมาชิกอยู่ด้วยถูกตะวันตกกดดันไม่ให้เชิญรัสเซีย แต่อินโดนีเซียใช้วิธีเชิญยูเครนคู่กรณีมาเป็นผู้สังเกตการณ์ แถมประธานาธิบดีโจโก วิโดโดไปเชิญผู้นำทั้งสองประเทศด้วยตนเอง ถือเป็นการเดินเกมการทูตอย่างสมศักดิ์ศรี 

สำหรับประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ต้องการเป็นนายกฯ เพื่อเป็น เจ้าภาพเอเปค บัดนี้ใกล้ความเป็นจริงเข้าไปทุกที แต่ก็อยากตั้งคำถามว่าท่านผู้นำได้เตรียมความพร้อมรับเรื่องเซอร์ไพรส์ที่ต้องใช้ฝีมือด้านการทูตไว้บ้างหรือยัง เช่น การเผชิญหน้ากันของแขกที่มีเรื่องกินแหนงแคลงใจกันอยู่ การวอล์คเอาท์จนอาจออกแถลงการณ์ร่วมไม่ได้

ในเมื่อรัฐบาลทุ่มเทงบประมาณจัดงานได้อย่างที่ใจปรารถนาแล้ว ก็ต้องเตรียมการจบงานให้สวยด้วย เพราะการเป็นผู้นำประเทศไม่ว่ายื้อไว้นานแค่ไหนต้องมีวันสิ้นสุด แต่ชื่อเสียงของประเทศไทยนั้นจะดำรงอยู่ และการเป็น เจ้าภาพการประชุมเอเปค จะเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือ พล.อ.ประยุทธ์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ที่ไทยเคยจัดงานแบบเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อ 19 ปีก่อน งานครั้งนั้นยิ่งใหญ่แค่ไหนลองไปย้อนดูได้