“แบรนด์เนมมือสอง” บูมในจีน มูลค่าพุ่งแรง สวนเศรษฐกิจชะลอตัว

“แบรนด์เนมมือสอง” บูมในจีน มูลค่าพุ่งแรง สวนเศรษฐกิจชะลอตัว

ตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองในจีนกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มออนไลน์ มูลค่าตลาดส่อทะลุ 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2568 สวนกระแสเศรษฐกิจชะลอตัว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนที่รัฐบาลใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ทำให้มีการล็อกดาวน์ และสั่งปิดภาคธุรกิจหลายแห่ง ทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก แต่ยังมีบางธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ในภาวะเช่นนี้ หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจขายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน

จู ไท่หนี่ฉี ผู้ก่อตั้ง ZZER ตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองในเซี่ยงไฮ้ เล็งเห็นว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดนั้น มีผู้คนต้องการขายสินค้าแบรนด์เนมสุดหรู เช่น กระเป๋าแอร์เมส หรือ นาฬิกาโรเล็กซ์ เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ความต้องการซื้อสินค้าแบรนด์เนมในราคาถูกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

“ตอนนี้หลายคนตระหนักดีว่า สามารถขายสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อเป็นรายได้ เช่นเดียวกับลูกค้าจะได้รับข้อเสนอจากผู้ขายที่หลากหลายยิ่งขึ้น” จู เปิดเผย

ในตอนนี้ ZZER มีสมาชิกราว 12 ล้านคน และสามารถขายสินค้าแบรนด์เนมเพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว โดยในปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถขายสินค้าได้ราว 5 ล้านชิ้น

แนวโน้มการเติบโตดังกล่าว บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภาคสินค้าฟุ่มเฟือยของจีนมูลค่ากว่า 74,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากเดิมทีสินค้าหรูหรามือสองเริ่มนั้นเติบโตช้า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐ เพราะว่าคนจีนนิยมสินค้ารุ่นใหม่มากกว่าจะซื้อสินค้าที่ตกรุ่นแล้ว อีกทั้งยังกลัวว่าจะถูกย้อมแมวขาย หรือได้สินค้าปลอม

 

 

ดังนั้นอาจส่งผลให้แบรนด์สินค้าลักซ์ชัวรีรายใหญ่ของโลกหันไป วางกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นยอดขายในจีนให้มากยิ่งขึ้น “ฉันคิดว่าเพราะความสนใจของจีนสามารถกระตุ้นให้แบรนด์หาวิธีจัดการกับตลาดมือสองนี้ได้อย่างไร รวมถึงจะวางบทบาทตนเองให้อยู่ส่วนไหนของกระบวนการทั้งหมด” ไอริช ชาน หุ้นส่วน และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาลูกค้าของ Digital Luxury Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์ กล่าว

ในปลายปีที่แล้ว iResearch บริษัทสำรวจ และให้คำปรึกษาด้านการตลาด คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.13 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 เพิ่มขึ้น 22,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มูลค่าเพียง 8,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.02 แสนล้านบาท)

พนักงานออฟฟิศรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ขณะที่เลือกซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมมือสองในโกดังสินค้าของ ZZER ว่า “ในปีนี้ ฉันต้องลดปริมาณการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลงอย่างแน่นอน แต่ทำอย่างไรได้ ในเมื่อฉันยังคงชอบสิ่งเหล่านี้ และฉันไม่สามารถหยุดความปรารถนาที่จะซื้อมันได้”

ZZER จึงเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นได้จากอารมณ์ และความต้องการของผู้บริโภค เช่น พนักงานออฟฟิศข้างต้น โดย ZZER ซึ่งเริ่มจากการเปิดเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ในปี 2559 ก่อนที่จะเปิดเป็นร้านค้าออฟไลน์ในนครเซี่ยงไฮ้ และเฉิงตูเมื่อปีที่แล้ว และตอนนี้กำลังมองหาพื้นที่สำหรับเปิดร้านค้าเพิ่มเติมในกรุงปักกิ่ง กวางโจว และเซินเจิ้น

นอกจาก ZZER แล้ว ยังมีแพลตฟอร์มชั้นนำอื่นๆ ยังมีชื่อในจีนอีกหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น Feiyu, Ponhu และ Plum โดยตั้งแต่ปี 2563 แต่ละแพลตฟอร์มสามารถนำเงินเข้ากองทุนธุรกิจเงินร่วมลงทุน ได้รายละหลายสิบล้านดอลลาร์ ซึ่งการระดมทุนดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการตรวจสอบ และรับรองคุณภาพสินค้า ตลอดจนการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ง่ายขึ้น และขยายจากช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า จากที่มีออนไลน์อย่างเดียว ให้มีทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ได้ประเมินสถานการณ์ของตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองในจีนว่า จะยังคงถูกครองตลาดโดยผู้เล่นในประเทศ เนื่องจากบริษัทต่างประเทศที่ทำธุรกิจด้านนี้ เช่น Vestiaire Collective และ The RealReal ยังไม่ได้เข้าสู่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ และยืนยันกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า พวกเขาไม่มีแผนที่จะให้บริการในจีนในเร็ววันนี้

แม้ว่ากระเป๋าถือจะยังคงเป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุดบนแพลตฟอร์ม ZZER แต่ จู กล่าวว่า นาฬิกาข้อมือและเครื่องประดับก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน 

ขณะที่กระเป๋าถือสุดฮิตอย่าง Prada Messenger และ Fendi Baguette มีราคาขายในช่องทางขายสินค้ามือสองต่ำกว่าราคาในช็อปถึง 30-40% และยังมีสินค้าหลายชนิดที่มีช่วงการตั้งราคาขายที่กว้าง เนื่องจากมีผู้ขายจำนวนมากต้องการขายสินค้า

อู๋ ฮุยมิน เจ้าของร้านขายสินค้าวินเทจในเมืองกวางโจว และขายสินค้าผ่านการสตรีมมิงออนไลน์ ระบุว่า นักเก็งกำไรทำให้ราคาสินค้าระดับไฮเอนด์พุ่งขึ้นสูงเกินไป โดยในช่วงปี 2563 ราคาของนาฬิกา Rolex Submariner เพิ่มขึ้นเกือบ 250% แต่ในปีนี้ ราคาเริ่มลดลงได้ราว 60% แล้ว 

“ตอนนี้การบริโภคสินค้าเหล่านี้ กลายเป็นเรื่องสมเหตุสมผลมากขึ้น” อู๋ กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา: ReutersSouth China Morning Post

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์