รัฐโหมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ช้อปดีมีคืน

คลังเผย รัฐบาลเตรียมออกแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี พร้อมรับข้อเสนอนำมาตรการช้อปดีมีคืนมาใช้ ส่วนคนละครึ่งเฟส 6 ยังไม่ได้หารือ ยันจีดีพีโตตามเป้า 3-3.5%

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ แต่ละกระทรวงได้เตรียมมาตรการเพื่อเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคงจะเรียกทางปลัดกระทรวงการคลังและสศค.เข้าหารือในประเด็นดังกล่าวในเร็วๆนี้
ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอให้มีการนำมาตรการช้อปดีมีคืนมาใช้อีกครั้ง เขากล่าวว่าทางกระทรวงการคลังพร้อมรับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งคงจะมีการหารือว่า จะนำมาตรการอะไรมาใช้บ้าง
ส่วนการต่ออายุมาตรการคนละครึ่งเฟสที่ 6 นั้น ทางกระทรวงการคลังยังไม่ได้รับทราบในเรื่องดังกล่าว โดยขณะนี้ ยังเป็นช่วงการดำเนินมาตรการคนละครึ่งเฟสที่ 5 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยฟื้นฟูและลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน
ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา คนละครึ่งเฟส 5 มียอดใช้จ่ายรวม 3.4 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้ใช้จ่าย 24.02 ล้านคน

“ในจำนวนนี้ มีคนใช้จ่ายเต็ม 800 บาทแล้ว 8.75 ล้านคน หรือ 36% ของผู้มีสิทธิ์ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ต.ค.นี้”
เขายังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า คาดว่า จะขยายตัวตามเป้าหมายที่ 3-3.5% โดยการท่องเที่ยวที่เข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน จะช่วยให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้ เป็นไปตามเป้าหมายที่ 8-10 ล้านคน ส่วนปีหน้า ก็คาดว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จากการเปิดประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และทำให้มีเงินตราต่างประเทศเข้ามามากขึ้น
“นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น จะเข้ามาช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ สำหรับปีหน้านั้น เมื่อเราเปิดประเทศและมีมาตรการด้านความปลอดภัยสาธารณสุขที่มากขึ้น ก็เชื่อว่า จะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นและทำให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยปีหน้าเราคาดว่า จีดีพีจะสามารถขยายตัวได้กว่า 4%”
อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะมีการทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าอีกครั้ง ทั้งนี้ ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า จะขยายตัวได้ 2.8% ส่วนปีหน้ามองไว้ที่ 3.7%
เขายังประเมินยอดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีง 2565 จะทรงตัวที่กว่า 20 ล้านคน เพราะยอดลงทะเบียนเริ่มชะลอตัวแล้วในระยะที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 ต.ค.นี้ ยอดลงทะเบียนดังกล่าวอยู่ที่ 21.52 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ตัวเลขยอดลงทะเบียนดังกล่าว จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติในภาพรวมอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ เรามีการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น โดยนำรายได้ของครอบครัวมาคำนวณด้วย
“เรายังบอกไม่ได้ว่า ตัวเลขผู้ที่จะได้รับสิทธินั้น มีจำนวนเท่าใด เพราะต้องนำมาตรวจสอบคุณสมบัติที่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดด้วย ส่วนที่มองว่า ตัวเลขผู้มีสิทธิอาจจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่กว่า 10 ล้านคนนั้น ก็มีความเป็นไปได้ เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามา โดยเฉพาะโควิด ซึ่งทำให้คนมีรายได้น้อยลงหรือไม่มีรายได้เลย”