คนไทยชอบกิน "บุฟเฟ่ต์" มากแค่ไหน? เปิดพฤติกรรม "Buffet Market Overview 2022"

คนไทยชอบกิน "บุฟเฟ่ต์" มากแค่ไหน? เปิดพฤติกรรม "Buffet Market Overview 2022"

เจาะลึกผลสำรวจจาก Buffet Market Overview 2022 จาก CEO Hungry Hub เผย ผู้บริโภคไทยนิยมกิน "บุฟเฟ่ต์" อย่างต่อเนื่อง และในอนาคตก็ต้องการบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเจาะลึกอื่นๆ ที่คนทำ "ธุรกิจบุฟเฟ่ต์" ต้องรู้!

ใครๆ ก็ชอบทาน “บุฟเฟ่ต์”ไม่ว่าจะเป็นวันธรรมดา วันพิเศษ วันสุข วันเหงา วันเลี้ยงส่ง ฯลฯ เอาเป็นว่าในปี 2022 นี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ และคงไม่ผิดถ้าจะบอกว่าธุรกิจ All You Can Eat ได้ครองตลาดอาหารชาวไทยมาอย่างยาวนานและเหนียวแน่น

  • All You Can Eat มีที่มาจากไหน?

การทานอาหารแบบบุฟเฟต์เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศสวีเดน โดยเริ่มต้นจากพฤติกรรมของชาวไวกิ้ง ชนพื้นเมืองท้องถิ่นที่ต้องออกเรือในระยะเวลานาน เมื่อเดินทางกลับเข้าฝั่งในแต่ละครั้งชาวบ้านที่รออยู่ต้องจัดโต๊ะอาหารในปริมาณที่เยอะ เพื่อต้อนรับเหล่าไวกิ้งผู้หิวโหย

ยุคแรกๆ  อาหารประเภท All You Can Eat ยังถูกจำกัดในพื้นที่ของแถวยุโรปเท่านั้น แต่ต่อมาในปี 1939 การรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ถูกนำมาเสิร์ฟในงานแสดงสินค้าโลก และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงสต็อกโฮล์ม โดยมีชาวอเมริกันที่ไปร่วมในโอลิมปิกได้นำวัฒนธรรมการกินอาหารประเภทนี้กลับมาด้วย จากนั้นบุฟเฟ่ต์จึงได้กลายเป็นรู้จักของคนอเมริกันในวงกว้าง และได้รับความสนใจอย่างมาก

ส่งผลให้เกิด "ธุรกิจบุฟเฟ่ต์" แห่งแรกในอเมริกา ชื่อว่า Herb McDonald ที่เปิดขายในลาสเวกัส ช่วงกลางทศวรรษที่ 1940 โดยมีแนวคิดว่าต้องการให้นักพนันทั้งหลายอยู่ในกาสิโนให้ได้นานที่สุด (ล่อด้วยอาหารบุฟเฟ่ต์ ทานได้ไม่อั้น) หลังจากนั้นเป็นต้นมา บุฟเฟ่ต์ ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และนิยมไปทั่วโลกในที่สุด

  • คนไทยรักการรับประทาน "บุฟเฟต์" แค่ไหน?

เมื่อเราเข้าใจถึงต้นตอวัฒนธรรมการรับประทานบุฟเฟต์แล้ว สิ่งต่อมาที่น่าสนใจลึกลงไปก็คือ คนไทยรักการทานบุฟเฟต์จริงไหม? และจากอดีตจนถึงปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการทานบุฟเฟต์เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

เรื่องนี้มีคำตอบจากงาน “Thailand Buffet Network 2022” ที่มีข้อมูลเจาะลึกถึงพฤติกรรมการทานบุฟเฟ่ต์ของคนไทย รวมถึงเผยเคล็ดลับการบริหารธุรกิจบุฟเฟ่ต์ จากแบรนด์ระดับเเถวหน้าของเมืองไทยโดยมีการเปิดผลสำรวจและเทรนด์จาก “Buffet Market Overview 2022” โดย สุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ CEO Hungry Hub ได้บอกเล่ากับ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ถึงประเด็นที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งเราสรุปมาให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

คนไทยชอบกิน \"บุฟเฟ่ต์\" มากแค่ไหน? เปิดพฤติกรรม \"Buffet Market Overview 2022\"

 

  • คนไทยโหยหา "บุฟเฟ่ต์" แบบไม่รู้จบ

แม้ว่าเทรนด์การทานอาหารสำหรับคนไทยยุคนี้จะมีหลากหลายขึ้น เช่น เทรนด์อาหารสุขภาพ เทรนด์อาหารวีแกน แต่เทรนด์การบริโภคบุฟเฟ่ต์ของคนไทยไม่เคยลดลง และมีแต่จะเพิ่มขึ้น ยืนยันจากข้อมูลที่สำรวจคำค้นบนเสิร์ชเอ็นจิ้น พบว่า คนไทยค้นหาคำว่า "บุฟเฟ่ต์" มากกว่า 10 ล้านครั้งใน 1 ปี

โดยเฉพาะช่วงหลังจากประกาศคลายล็อกดาวน์คนไทยยิ่งโหยหาบุฟเฟ่ต์เพิ่มมากขึ้น เกิดการค้นหาร้านบุฟเฟ่ต์บน Google Search ในช่วงนั้นเพิ่มขึ้นถึง 430% ดังนั้นแล้วเทรนด์อาหารบุฟเฟ่ต์สำหรับคนไทยจึงไม่เคยตกกระแส และจะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต สวนทางกับเทรนด์อาหารบางประเภทที่ได้รับความนิยมแค่ชั่วคราว หรือบางช่วงเวลาเท่านั้น

  • International Buffet ขึ้นอันดับ 1 การค้นหา

อันดับอาหารบุฟเฟ่ต์ในแอปพลิเคชัน Hungry Hub ที่มีอัตราการค้นหาสูงสุดคือ

อันดับ 1 : International Buffet (23.7%)

อันดับ 2 : Korean BBQ Buffet (20.2%)

อันดับ 3 : Shabu Buffet (15.4%)

International Buffet คือคำคีย์เวิร์ดที่ถูกค้นหามากที่สุด รองลงมาคือปิ้งย่างเกาหลี และชาบู ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงจากช่วงก่อนหน้านี้ที่มีคำค้นหาเกี่ยวกับปิ้งย่างเกาหลีมากกว่า โดยเป็นผลมาจากการที่ตลาดร้านอาหารบุฟเฟ่ต์เติบโตขึ้น และมีประเภทให้เลือกหลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจโรงแรมยังหันมาโปรโมทบุฟเฟต์นานาชาติเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการตลาดที่สอดคล้องไปกับเทรนด์ Staycation จากพฤติกรรมที่ผู้คนไม่สามารถไปเที่ยวได้ จึงหันมานอนโรงแรม พร้อมโปรโมชันอาหารบุฟเฟ่ต์นานาชาติ

  • ไม่เน้นอิ่มจนจุก แต่เน้นความหลากหลาย

พฤติกรรมการทานบุฟเฟ่ต์ของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไปบ้างในระดับปานกลาง ที่เห็นได้ชัดคือ ผู้บริโภคสมัยนี้ไม่เน้นความอิ่มจุกแบบเอาคุ้มเหมือนช่วง 10 ปีก่อนแล้ว แต่เลือกทานบุฟเฟ่ต์เพราะต้องการความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้น ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ที่มีเมนูเยอะๆ ทำจานเล็กๆ จึงได้รับการรีวิวที่ดีจากลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากลูกค้าได้ความหลากหลายเข้ามาตอบโจทย์

นอกจากนี้พฤติกรรมการทานแบบเน้นหลากหลายมากกว่าเน้นทานอิ่มก็เป็นการตอกย้ำว่าทำไมผู้คนถึงค้นหาคำว่า International Buffet เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ นั่นก็เนื่องจากว่าอาหารบุฟเฟ่ต์แบบนานาชาติให้ความหลากหลายทางอาหารมากกว่าร้านบุฟเฟ่ต์ที่เป็นอาหารประเภทเดียว

  • กลุ่มใหญ่หันมาทานบุฟเฟต์ในโอกาสสำคัญ มากกว่าปิดห้องจัดเลี้ยง

ในอดีตช่วงโอกาสสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเปิดงานวันเกิด งานเลี้ยงของบริษัท งานพบปะเพื่อนฝูง ฯลฯ ผู้บริโภคมักจะนัดเจอกันที่ร้านอาหารในลักษณะ "ห้องอาหาร" เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันกลับเกิดเทรนด์ใหม่ขึ้นมาคือการปาร์ตี้ในโอกาสสำคัญๆ ที่ร้านบุฟเฟ่ต์เพิ่มมากขึ้น เหตุผลหลักๆ มาจากการที่สามารถควบคุมงบประมาณและคาดเดาต้นทุนได้ทันที นอกจากนี้ยังมีอาหารให้เลือกหลากหลาย ไม่ต้องกังวลว่าใครจะสั่งอะไรเพิ่ม หรือมีค่าใช้จ่ายที่เกินควบคุม

  • Personal Touch ยังสำคัญ

ไม่ว่าร้านอาหารประเภทไหนก็แล้วแต่ การบริการก็ยังคงเป็นจุดตัดสินใจและดึงดูดลูกค้าได้วันยังค่ำ หากร้านไหนมีพื้นที่รองรับความต้องการของลูกค้าหลากหลายแบบ เช่น พื้นที่เงียบสงบไม่ต้องการคนรบกวน, พื้นที่สำหรับเสียงดังได้, การบริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเดินเสิร์ฟ, แบบเดินตักเอง หรือ ทั้งสั่งกับพนักงานและเดินตักเองก็ได้ควบคู่กันไป สิ่งเหล่านี้สามารถกลายเป็น Personal Touch ที่ลูกค้าจดจำและกลับไปใช้บริการบ่อยๆ 

  • อิ่ม สนุก ถ่ายรูปสวย คือเทรนด์ใหม่การทานบุฟเฟต์

นอกจากอาหารให้ความหลากหลาย บริการดี คนไทยกลุ่มหนึ่งก่อให้เกิดเทรนด์การรับประทานบุฟเฟต์ที่เน้นการได้รับ Experience มากกว่าแค่กินอิ่ม เช่น การสร้างประสบการณ์ในอาหารหายาก จานสวย การตกแต่งดูดี ทำให้ได้ถ่ายรูปอวดบนสื่อโซเชียล ด้วยพฤติกรรมเฉพาะแบบนี้นี่เองจึงทำให้เหล่านักชิมหันไปทานบุฟเฟ่ต์พรีเมียมมากขึ้น และก่อให้เกิดร้านบุฟเฟ่ต์แบบ Fine Dining ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกหลากหลายแบรนด์

  • จองโต๊ะง่าย มีพื้นที่จอดรถ

พฤติกรรมการทานบุฟเฟ่ต์ที่เห็นได้ชัดมากขึ้นในปี 2022 คือ คนไทยนับเอาปัจจัยของการจองโต๊ะและการเดินทาง เข้ามาเป็นส่วนในการตัดสินใจว่าจะไปหรือไม่ไปเพิ่มมากขึ้น หากมีการจองโต๊ะที่ยุ่งยาก หรือระบบการจองที่หลายขั้นตอนก็ทำให้บางคนเลือกที่จะเปลี่ยนไปกินร้านอื่นที่เดินทางไปได้ง่ายกว่า ซึ่งผลสำรวจพบว่าลูกค้าร้านบุฟเฟ่ต์ประมาณ 40% จองโต๊ะก่อนไป เพื่อหลีกเลี่ยงการรออาหารที่นานเกินไป นอกจากนี้ร้านที่มีพื้นที่จอดรถ หรือเดินทางง่ายติดรถไฟฟ้าก็ได้ใจลูกค้าเช่นกัน