ฝนถล่มหนัก-น้ำท่วมฉุดตลาด “ไทยเที่ยวไทย” หวั่นทัวริสต์ยกเลิกเดินทาง

ฝนถล่มหนัก-น้ำท่วมฉุดตลาด “ไทยเที่ยวไทย” หวั่นทัวริสต์ยกเลิกเดินทาง

ฝนตกหนัก-น้ำท่วมฉุดตลาดไทยเที่ยวไทย “ททท.” ชี้หากฝนตกลากยาวตลอดเดือน ก.ย. หลายจังหวัดเจอนักท่องเที่ยวเลื่อน-ยกเลิกการเดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าองค์กร อบรมสัมมนา-ท่องเที่ยวเป็นรางวัล ยันเดินหน้ากระตุ้นยอดตลาดเที่ยวในประเทศตลอดปี 65 ไม่น้อยกว่า 160 ล้านคน-ครั้ง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2565 ได้ส่งผลกระทบไปยังหลายพื้นที่ในประเทศไทย ทั้งในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรมรวม 21 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน สุโขทัย ลพบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และฉะเชิงเทรา โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในแต่ละสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจยังคงเพิ่มต่อเนื่องทุกสัปดาห์ อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือน รวมถึงฝนที่ตกมาเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน อาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย ในช่วงไตรมาส 3 นี้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการตัดสินใจเลื่อนการเดินทางไปยังไตรมาส 4 ของปี 2565 ทำให้เกิดปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวกระจุกตัวในแหล่งท่องเที่ยว ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ในช่วงปลายปี 2565 ได้

ททท.คาดว่าตลาดในประเทศจะมีการเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 656,000 ล้านบาท แต่ด้วยปรากฏการณ์ฝนตกต่อเนื่องเป็น ระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ และหากยังคงมีฝนตกต่อเนื่องเป็นอีกระยะเวลาหนึ่งจนถึงปลายเดือน ก.ย.2565 ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปีเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซัน) แต่เป็นช่วงเวลาที่มีอัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มลูกค้าองค์กร (Corporate) กลุ่มจัดกิจกรรมซีเอสอาร์และเอาท์ติ้ง (CSR-Outing) รวมถึงกลุ่มเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) และกลุ่มอบรม ประชุม สัมมนา เนื่องจากอัตราค่าบริหารห้องพักที่ต่ำกว่าการให้บริการในช่วงฤดูกาลอื่น ประกอบกับการบริหารจัดการงบประมาณในช่วงสิ้นปีงบประมาณ

“คาดว่าแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก อาทิ กาญจนบุรี-สุพรรณบุรี นครนายก-ปราจีนบุรี ชลบุรี-จันทบุรี สมุทรสงคราม-ราชบุรี และหัวหิน-ชะอำ อาจจะได้รับผลกระทบจากการเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้บ้าง”

ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ยังไม่พบสัญญาณการยกเลิกการเดินทาง เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมยังคงจำกัดอยู่ในพื้นที่ภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยยังไม่กระทบต่อพื้นที่ท่องเที่ยว รวมถึงการทำโปรโมชั่นในช่วงโลว์ซีซั่นของผู้ประกอบการทั้งภาคโรงแรมที่พักและสายการบิน ประกอบกับค่าน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ยังคงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT ด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ฝนตกเกิดขึ้นสะสมเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม จากการลดลงของรายได้ภาคประชาชนที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคประชาชน การลดลงของรายได้ผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและอัตราการว่างงานของกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ นอกจากนั้นแล้วความมั่นคงด้านพลังงาน ภาวะดอกเบี้ย รวมถึงปัญหาสินค้าอุปโภค-บริโภคปรับตัวสูงขึ้น ล้วนแต่จะส่งผลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยในระยะยาวตลอดครึ่งปี 2565 จนถึงปี 2566 ได้ด้วยกันทั้งสิ้น

จากการติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ ททท. พบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค.2565 มีอัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยสะสม จำนวน 102,968,348 คน-ครั้ง สร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยแล้วจำนวนกว่า 566,506 ล้านบาท

“ทั้งนี้ ททท. คาดว่า สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 จะเกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยสะสม จำนวนไม่น้อยกว่า 117 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 642,660 ล้านบาท ขณะที่ตลอดปี 2565 นี้ ททท.จะสามารถส่งเสริมตลาดในประเทศจะมีการเดินทางท่องเที่ยวได้ ไม่น้อยกว่าจำนวน 160 ล้านคน-ครั้ง และสามารถสร้างรายได้กว่า 656,000 ล้านบาท ได้ตามเป้าหมาย”

นายยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเฝ้าระวังภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พบข้อมูลดังนี้

-ภาคเหนือ สถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมาทั้งในพื้นที่ริมน้ำแม่วางและน้ำแม่ขาน ยังไม่กระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวในภาพรวม แต่ในบางพื้นที่อาจจะพบกับภาวะน้ำท่วม และดินโคลนที่ไหลมากับน้ำซึ่งตกค้างอยู่ในพื้นที่บ้าง เช่น ตลาดสายลมจอย แม่สาย จ.เชียงราย โดยที่หน่วยงานท้องถิ่นได้ให้ความช่วยเหลือและเร่งระดมล้างทำความสะอาดจนสามารถกลับมาให้บริการนักท่องเที่ยวได้ตามปกติแล้ว ส่วนกิจกรรมการเดินป่า กิจกรรม แคมป์ปิ้งอาจจะได้รับคำแนะนำให้ใช้ความระมัดระวัง

-ภาคกลางและภาคตะวันออก ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การเดินทางสัญจรระหว่างแหล่งท่องเที่ยวประสบกับปัญหาด้านการเดินทาง ตลอดทั้งมีภาวะน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง รวมถึงรูปแบบการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก เช่น การสัมผัสประสบการณ์สวนผลไม้ กิจกรรมเดินป่า และจัดกางเต็นท์ในแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.จันทบุรี ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มบริษัทเอกชน กลุ่มทำกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และกลุ่มอบรม ประชุม สัมมนา พบการยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางบ้าง

-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ 16 จังหวัดแถบลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ยโสธร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี นครราชสีมา หนองคาย สกลนคร นครพนม บึงกาฬ และอำนาจเจริญ มีน้ำท่วมขังกินพื้นที่กว่า 412,462 ไร่ ล้วนแต่เป็นพื้นที่เกษตร โดยรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคอีสาน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยวช่วงฤดูฝน เพื่อมุ่งให้เกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยว

-ภาคใต้ ยังไม่มีสถานการณ์น้ำท่วม และยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม แต่ในบางพื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคใต้และอ่าวไทย ส่งผลให้มีฝนตกบ้างในบ้างพื้นที่ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติในเดือน ก.ค.-ต.ค.ของภาคใต้ในทุกๆ ปี โดยในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงการจัดกิจกรรมและงานประเพณีหลักที่สำคัญ ได้แก่ เทศกาลทำบุญเดือนสิบ (สารทเดือนสิบ) ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และประเพณีถือศีลกินผัก ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จ.ตรัง และ จ.สงขลา จึงมีการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือนนี้เพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มศรัทธาและความเชื่อ