“กรวัฒน์ เจียรวนนท์” หลานเจ้าสัวธนินทร์ ดัน “Amity” สู่ ‘เทค คอมพานีโลก’

“กรวัฒน์ เจียรวนนท์” หลานเจ้าสัวธนินทร์ ดัน “Amity” สู่ ‘เทค คอมพานีโลก’

"กรวัฒน์ เจียรวนนท์" บุตรชาย "ศุภชัย เจียรวนนท์" และ หลานเจ้าสัวมหาเศรษฐีเมืองไทย ลุยปั้นธุรกิจที่มาจากแพชชั่นของตัวเอง และวางเดิมพันด้วยเป้าหมายที่ไกลในระดับโลก ปัจจุบันบริษัท Amity ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม โซเชียลคลาวด์ ก้าวไปสู่ระดับโลกเรียบร้อยแล้ว

กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ลูกไม้ใกล้ต้นวัย 26 ปี ของ ศุภชัย เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักรซีพี กรุ๊ป และหลานปู่ ธนินท์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีของไทย “กรวัฒน์” คือ นักธุรกิจ เจนใหม่ที่น่าจับตา ที่มีฝีไม้ลายมือโดดเด่น วันนี้เขานั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอมิตี (Amity) โซเชียล คลาวด์ คอมพานี ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เทคสตาร์ทอัพ” ไทยในระดับโลกที่ “แหกกฏ” ไม่เน้นทำตลาดไทย แต่เน้นพัฒนาบริการ ก้าวสู่ตลาดระดับโลก

“กรวัฒน์” ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ โอกาสที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นทั้งในที่ที่เราคาดหวัง และในที่ที่เราคาดไม่ถึงแนวคิดสำคัญ คือ การไม่ทำให้วิกฤติเสียเปล่า และทำในสิ่งที่ทำได้เพื่อให้แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งด้วยการปฏิรูปตัวเองและการพยายามเสาะหาโอกาสใหม่ ๆ
 

เขามักพูดอยู่เสมอว่า การสร้างทีมระดับโลก (เวิลด์คลาส ทีม) คือ กุญแจสำคัญที่จะหล่อหลอมให้บริษัทเติบโตไปพร้อมกับ “ทีม” ที่แข็งแกร่ง ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกว่า "ทุกคนในทีมต้องเก่งและเติบโตได้ถ้าไม่มีผม นี่คือบททดสอบที่แท้จริงของการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง ทีมต้องไม่เพียงแต่เก่งที่สุดในสิ่งที่พวกเขาทำเท่านั้น พวกเขายังต้องปรับตัว มีความยืดหยุ่น และพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและมีวิวัฒนาการให้มากที่สุด”

ขณะที่ เป้าหมายใหญ่ของธุรกิจ คือ การรักษาการเติบโตให้ได้ 100% โดยไม่ต้องใช้เงินสดจำนวนมหาศาล นั่นคือ การรักษาอัตราการเติบโตที่จำเป็น เพื่อการก้าวขึ้นสู่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก
 

ธุรกิจต้องดีและเก่งสู้ได้ทั้งภูมิภาค-โลก

"ผมเชื่อว่า เราต้องโฟกัสการเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำ ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก การจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง บริษัทต้องมองธุรกิจแบบขยายสเกลไปต่างประเทศให้ได้ บางสิ่งเราจะไม่สามารถทำได้ถ้าเราไม่เก่งที่สุดทั้งในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ดังนั้นทีมต้องเก่งมาก ถ้าเรามองแค่ระดับประเทศมันเล็กเกินไป ต้องวางตำแหน่งเป็นธุรกิจระดับภูมิภาค หรือ โกลบอล พยายามวางโฟกัสให้ชัดเจน และก้าวขึ้นไปเป็นที่หนึ่งในธุรกิจนั้นๆ ให้ได้”

เมื่อถามถึงธุรกิจครอบครัว อาณาจักรซีพี มีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจของเขาหรือไม่ “กรวัฒน์” ตอบสั้นๆ ว่า “ลักษณะของธุรกิจของ Amity นั้นแตกต่างจากธุรกิจครอบครัวมากดังนั้นอิทธิพลและบทเรียนอาจไม่ตรงเท่า”

หากด้วยความเป็นลูกชายคนโตของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” และหลานปู่เจ้าสัว “ธนินทร์” กรวัฒน์ ยอมรับว่า ได้เรียนรู้บทเรียนมากมายแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้อย่างมาก คือ ความเพียรพยายามและการทำความดี

“ความพากเพียร เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจว่า ธุรกิจจะต้องเผชิญกับความท้าทาย และความยากลำบากที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะมีช่วงเวลามากมายที่เราอยากจะยอมแพ้ แต่เราไม่สามารถทำได้ทุกคนเข้าใจความเพียรพยายาม แต่การเข้าใจอย่างแท้จริง และการฝึกฝนอย่างแท้จริงนั้นแตกต่างออกไปการทำความดีเป็นเรื่องของการเข้าใจว่า เราต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เราต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างดีเช่นเดียวกับที่เราปฏิบัติต่อเพื่อนเรา ต้องตอบแทนสังคมในจุดที่เราทำได้ และการจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เราต้องมีจริยธรรมและความดี” กรวัฒน์ ทิ้งท้าย

เปิดโปรไฟล์  Amity ดังไกลระดับโลก

เอมิตี (Amity) เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลคลาวด์ ที่ล่าสุดเพิ่งประกาศเป็นพันธมิตรกับ AWS Marketplace ของค่ายยักษ์ อเมซอน (AMAZON) กลายเป็นเทคโนโลยีไทยรายแรกที่บุกตลาดโลก

การพา Amity ไปอยู่ บนAWS Marketplace ดันให้บริษัทเขาเติบโต และขยายขอบเขตการให้บริการลูกค้าได้อีกอย่างก้าวกระโดด คอร์บิสสิเนส หลักของ Amity คือ การพัฒนาชุดแพ็คเกจซอฟต์แวร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน เพื่อเปิดฟีเจอร์ใหม่ได้ บริการที่ติดตลาด และเป็นที่ยอมรับไปแล้วในระดับโลก คือ Amity Social Cloud (ASC) ที่มีจุดเด่นให้ผู้พัฒนาแอปทั่วโลกสามารถสร้างเครือข่ายสังคมบนแอปพลิเคชันให้ลูกค้ามีส่วนร่วมได้มากแบบเฉพาะบุคคล มีฟีเจอร์ฮอตตอบโจทย์  เช่น แชต วิดีโอสตอรี กลุ่มสนทนา โซเชียลฟีด ไลฟ์สตรีมมิง และแชตบอทซึ่งเอื้อให้องค์กรสามารถสร้างชุมชนโดยที่เป็นเจ้าของข้อมูลเองทั้งหมด 

กรวัฒน์ บอกว่า อัตราการเติบโตในตลาดต่างประเทศของ Amity เกิน 800% ครองส่วนแบ่งมากกว่า 80% ปัจจุบัน มีทีมเซล 30-40 คนสำหรับทำตลาดสหรัฐอเมริกา และกำลังมองเป้าใหญ่ไปที่ จีน รวมถึงกลับมาโฟกัสที่อาเซียนด้วย 

Amity มีฐานผู้ใช้ในระบบที่เป็นลูกค้า 20 ล้านราย เติบโตก้าวกระโดดหลังจากเริ่มให้บริการที่สหรัฐฯ ในช่วงไม่ถึงปี โดยการเติบโตในไตรมาส 1 คิดเป็น 10% ก่อนจะเพิ่มเป็น 22% ในไตรมาส 2 และเข้าใกล้ 30% ในไตรมาสปัจจุบัน และมีความเป็นไปได้ว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะมีการเติบโต 3 เท่าตัว