คลังชงครม.ต่ออายุมาตรการภาษีดีเซล5บาทถึงสิ้นปี

คลังชงครม.ต่ออายุมาตรการภาษีดีเซล5บาทถึงสิ้นปี

คลังชงครม.อังคารหน้าต่ออายุมาตรการภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตรถึงสิ้นปี ยอมสูญรายได้ 3 หมื่นล้าน ขณะที่ ห่วงผลกระทบต่อยอดจัดเก็บรายได้ในปีงบ 66

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอังคารที่ 13 ก.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปจนถึงสิ้นปี หลังจากที่มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ วานนี้ (8ก.ย.)​ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ได้หารือถึงการขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน โดยรัฐบาลได้ขอให้กระทรวงการคลังขอลดภาษีชงอีกลิตรละ 5 บาท ขณะที่ กระทรวงการคลังเห็นว่า การปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งจะเริ่มต้นปีงบประมาณตั้งแต่เดือนต.ค.นี้

“กระทรวงการคลังยังเป็นห่วงเรื่องของการการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2566 เพราะมีเป้าหมายจัดเก็บสูงตามรายจ่ายที่ตั้งเป้าหมายไว้ ดังนั้น จึงไม่ต้องการลดอัตราภาษีถึง 5 บาทต่อลิตร แต่อยากให้ลดเพียง 1 บาทต่อลิตรเท่านั้น”

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้มาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกช่วงวันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.65 ลดภาษีลิตร 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รัฐสูญรายได้ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ครั้งที่2 ช่วงวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. เป็นเวลา 3 เดือน ครั้งนี้ลดภาษีดีเซลงลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 3 หมื่นล้านบาท ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย. เป็นเวลา 2 เดือน ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท โดยมาตรการลดภาษีดีเซลทั้ง 3 ครั้ง ทำให้รัฐสูญรายได้ 6.8 หมื่นล้านบาท  

 

“หากขยายมาตรการลดภาษีดีเซลลงลิตรละ 5 บาทไปจนถึงสิ้นปี จะทำให้รัฐสูญรายได้เพิ่มอีก 3 หมื่นล้านบาท  รวมมาตรการลดภาษีดีเซลเพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนถึง 9.8 หมื่นล้านบาท”

 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิตเผยว่า กรมฯ ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นระบบสำแดงอัตโนมัติผ่านดาวเทียม ติดตั้งที่เรือแทงก์เกอร์ หรือ เรือจำหน่ายน้ำมันดีเซล (น้ำมันเขียว) กลางทะเลสำหรับจำหน่ายให้เรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น 

 

ทั้งนี้ น้ำมันเขียวดังกล่าว กรมสรรพสามิตได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเพื่อช่วยเหลือเรือประมงชายฝั่ง ทำให้ราคาน้ำมันเขียวถูกกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบก ประมาณ 10 บาท/ลิตร  โดยแต่ละปีกรมฯจะสูญเสียรายได้จากเว้นภาษีดังกล่าวประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี จากน้ำมันเขียวที่ใช้ที่ประมาณ 600 ล้านลิตรต่อปี 

 

"ที่ผ่านมาแม้จะมีการควบคุมการจำหน่ายน้ำมันเขียวโดย 3 หน่วยงาน คือ สรรพสามิต สรรพากร และตำรวจน้ำ แต่เนื่องจากการทำบัญชีซื้อขายจะทำโดยผู้ควบคุมเรือแทงก์เกอร์ ซึ่งเสี่ยงต่อการรั่วไหล เพราะกรมตรวจสอบพบว่า ปริมาณความต้องการน้ำมันของเรือประมงที่มีใบอนุญาตให้ซื้อได้นั้น น้อยกว่าปริมาณที่เรือแทงก์เกอร์ขายได้ถึง 20%-30% ซึ่งส่วนต่างที่หายไป เนื่องจากขายให้เรือประมงที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำไปขายต่อบนบก" 

 

สำหรับระบบที่กรมฯ นำมาใช้ จะมีการติดตั้งที่เรือแทงก์เกอร์ โดยใช้สัญญาณควบคุมดาวเทียม และส่งข้อมูลมายังศูนย์ควบคุมที่กรุงเทพ โดยศูนย์จะสามารถรู้ได้แบบเรียลไทม์ ว่ามีเรือประมงเข้าใกล้เรือแทงก์เกอร์จำนวนกี่ลำ เวลาไหน รวมถึงปริมาณน้ำมันเขียวที่ถูกถ่ายออกจากเรือแทงก์เกอร์ ซึ่งหากปริมาณผิดปกติ กรมฯจะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการลงโทษทันที