‘สมคิด’ หวั่น ‘อีอีซี’สะดุด ทุนนอกเบนเข็มลงทุนเวียดนาม - อินโดฯ

‘สมคิด’ หวั่น ‘อีอีซี’สะดุด  ทุนนอกเบนเข็มลงทุนเวียดนาม - อินโดฯ

นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)เป็นนโยบายที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน เป็นนโยบายเศรษฐที่คิดและผลักดันโดยอดีตทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม

ปัจจุบันโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉะบังเฟส 3 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3ได้เอกชนที่จะมาดำเนินโครงการแล้ว แต่ยังคงมีคำถามของความสนใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เลือกไปลงทุนที่เวียดนามและอินโดนิเซียมากกว่าไทย

วานนี้ (8 ก.ย.)ที่ ร.ร.รามาการ์เดนท์ ถ.วิภาวดี พรรคสร้างอนาคตไทย จัดงานสัมมนาผู้แสดงเจตจำนงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในนามพรรคฯ ทั่วประเทศ

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานพรรคสร้างอนาคตไทยกล่าวในเวทีสัมมนาผู้แสดงเจตจำนงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในนามพรรคฯ ทั่วประเทศ วานนี้ (8 ก.ย.) ว่าโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะยาว ซึ่งขณะนี้มีความล่าช้า และมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะเดินต่อไปอย่างไรให้สำเร็จ

ในช่วงที่ตนยังดูแลนโยบายอีอีซีได้มีการทำงานร่วมกับประเทศขนาดใหญ่ในเอเชียคือจีน กับ ญี่ปุ่น และมีการตั้งกลไกทำงานระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงการทำงาน เช่น มีการเอาอีอีซีไปเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนในเขตปากแม่น้ำ 11 มณฑล หรือ “greater bay area” ส่วนญี่ปุ่นก็มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีการเดินทางไปเยือนและจัดตั้งคณะทำงาน

จนทำให้อีอีซีอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมากจนจีนกับญี่ปุ่นได้ประกาศความร่วมมือร่วมกันในการเลือกให้อีอีซีเป็นพื้นที่ที่จะมาลงทุนร่วมกันในการตั้งฐานการผลิตนอกประเทศ นอกจากนั้นยังมีนักลงทุนทั้งจากจีนและญี่ปุ่นที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซีทั้งสองประเทศไม่น้อยกว่าประเทศละ 500 คน

สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาคือความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเรื่องปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นภายในประเทศ การเมืองที่เป็นอยู่ในแบบทุกวันนี้ ไม่สามารถพาเราไปถึงจุดหมายได้เนื่องจากไม่เอื้อหรือสนับสนุนให้เกิดการลงทุน

ขณะที่กลไกต่างๆที่เคยเชื่อมโยงไว้ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศก็ไม่ได้เดินต่อทำให้นักลงทุนที่เคยจะเข้ามาลงทุนในไทยไปลงทุนที่เวียดนาม และอินโดนิเซียแทน ขณะที่การลงทุนที่มายังไทยส่วนใหญ่เป็นภาคบริการไม่ใช่อุตสาหกรรมที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเราจะตกเทรนด์โลก การลงทุนจากต่างประเทศก็จะมีน้อยลงๆเรื่่อยๆ

 

นอกจากนี้หากโครงการอีอีซีไม่สามารถที่จะเดินหน้าให้สำเร็จไม่ได้โครงที่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลพยายมผลักดัน เช่น โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิิเศษภาคใต้ (SEC) หรือโครงการพัฒนาอื่นๆที่ใช้งบประมาณในการลงทุนมากนักลงทุนต่างชาติก็จะไม่เข้ามาลงทุนเช่นกันเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้่เงินลงทุนจำนวนมากได้ซึ่งหมายความว่าถ้าอีอีซีไม่เกิดโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องการเงินลงทุนจากต่างชาติก็อาจจะไม่เกิดขึ้นในไทย

‘สมคิด’ หวั่น ‘อีอีซี’สะดุด  ทุนนอกเบนเข็มลงทุนเวียดนาม - อินโดฯ

“ตอนที่ผมและ 4 กุมารทำเรื่องอีอีซี ถนนทุกสายมุ่งมายังอีอีซี แต่ตอนนี้ถามว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ตอนนี้ถนนทุกสายเลี้ยวไปที่เวียดนาม และอินโดนิเซีย ที่กลายมาเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุน สินค้าอิเล็กทรอกนิกส์บริษัทต่างๆ ทั้งซัมซุง ฟอกซ์คอน และแอปเปิ้ลไปลงทุนที่เวียดนาม ขณะที่เรื่องการเมืองระหว่างประเทศก็จะไปที่อินโดนิเซีย ถามว่าทุกวันนี้บทบาทของประเทศไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในภาวะเช่นนี้”นายสมคิดกล่าว

นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวลก็คือเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดต่ำลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ภายใน 1 ปีขีดความสามารถแข่งขันของไทยลดลง 5 – 6 อันดับ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจลดลงรวดเดียว 13 อันดับ ขณะที่ขีดความสามารถของระบบราชการไทยลดต่ำลงไปกว่า 13 อันดับ ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่ากังวลว่าความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสาตตานักลงทุนจะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ

นายสมคิด กล่าวต่อว่าในเรื่องภาพรวมของเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นห่วงมากขณะนี้คือประเทศไทยกำลังเผชิญกับมรสุมขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจ จากเรื่องของเงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่สูง ราคาปุ๋ยก็เพิ่มสูงขึ้นมากจนเป็นต้นทุนของเกษตรกร ขณะที่ภาคการผลิตก็ประสบปัญหาติดขัด ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศก็ยังอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ GDP หดตัวถึง 6.2% หรือกว่า 5 แสนล้านบาท

ซึ่งภาวะแบบนี้เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ลงลึกจริง ๆ ขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศก็กำลังอ่อนแรงทุกด้าน และบางตัวก็ดับสนิทก่อนที่ 4 กุมารจะเจอพิษของการเมือง ที่คอยแต่แสวงหาอำนาจ แต่กลับไม่แสวงหาปัญญา ซึ่งตอนนั้นก็เห็นใจนายกรัฐมนตรี ที่ต้องทำงานแบบรัฐบาลผสม และไม่รู้ว่าใครเป็นนายกฯตัวจริงกันแน่

ขณะที่เศรษฐกิจโลกทุกวันนี้มีปัญหาจริง ๆ และไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นับเป็นมรสุมใหญ่หลายลูกที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศถดถอยพร้อม ๆ กัน ทำให้ราคาสินค้าพุ่งตามราคาน้ำมัน และราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

“ภารกิจของพรรคสร้างอนาคตไทย คือต้องเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจ เพื่อสร้างอนาคตให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป เพราะตอนนี้ประเทศไทยเจอมรสุมหลายอย่างทั้งภายในและภายนอก เรื่องนี้ต้องเร่งหาทางแก้ให้ตรงจุด และจะช้าแบบนี้ไม่ได้

ตอนนี้ไปที่ไหนก็มีแต่คนบอกว่าชีวิตตอนนี้ลำบากจริง ๆ คนจนรายได้ไม่เพิ่ม แต่รายจ่ายสูงขึ้น เกษตรกรรายได้น้อย แต่ปุ๋ยกลับราคาแพง เงินทองไม่มี ความหวังไม่มี แล้วเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อได้ยังไง แรงงานก็ค่าแรงไม่เพิ่ม เศรษฐกิจก็ซ้ำร้ายเข้าไปอีก ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ต้องไปกอบกู้ และไม่เข้าใจทำไมต้องปล่อยให้ประเทศไทยเป็นอย่างนั้น"นายสมคิด กล่าว