“รัฐ”เร่งสร้างอีโคซิสเต็ม ปิดจุดอ่อนธุรกิจสตาร์ทอัพ

“รัฐ”เร่งสร้างอีโคซิสเต็ม ปิดจุดอ่อนธุรกิจสตาร์ทอัพ

การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก รวมทั้งปัจจัยความผันผวนและความไม่แน่นอน เป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาศักยภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) มีแนวทางการส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย ตั้งแต่ช่วงบ่มเพาะถึงการต่อยอดโมเดลธุรกิจเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มมูลค่า 

เจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการเร่งสร้างศักยภาพภาคธุรกิจและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในการก้าวข้ามวิกฤติที่มีต่อเนื่อง โดยเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในอดีตไม่สามารถเดินหน้าต่อในรูปแบบเดิม ต้องปรับใช้นวัตกรรมเพื่อต่อยอดโมเดลธุรกิจเดิม โดยอาศัยความร่วมมือกับกลุ่มสตาร์ทอัพ หรือ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อนำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาใช้เพิ่มมูลค่า

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพตั้งแต่ระยะเริ่มต้นถึงระยะเติบโตผ่านโครงการ ดังนี้ โครงการแองเจิลฟันด์ โดยร่วมมือกับเอกชนมอบทุนให้เปล่ามูลค่า 4 ล้านบาทกับสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2559-2565 โดยสนับสนุนทุนให้เปล่าแล้ว183 ทีม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 650 ล้านบาท

โครงการดังกล่าวมีจุดอ่อนเพราะสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไม่สามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจที่แข็งแรงสำหรับการต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ จึงมีโอกาสน้อยที่จะได้รับเงินทุนจากธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) และเติบโตได้ยาก (Scale Up) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงขยายผลสู่ โครงการ Startup Connect ปีที่ 3 โดยใช้จุดแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศเชื่อม 4 เครือข่ายสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเทศโนโลยีเชิงลึกหรือ ดีพเทค (Deep Technology) ได้แก่ 

1.เครือข่ายธุรกิจและสตาร์ทอัพ สร้างการเข้าถึงการจับคู่ธุรกิจ และการรับจ้างผลิตเพื่อลดต้นทุนในการเริ่มธุรกิจ 

2.เครือข่ายเงินทุน แบ่งเป็นแหล่งเงินทุนแบบสินเชื่อ อาทิ กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐและเงินทุนหมุนเวียนของดีพร้อม ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2566 จะปรับเงื่อนไขกองทุนเพื่อเติมเงินทุนให้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพ ส่วนเงินทุนแบบไม่ใช่สินเชื่อ จะเชื่อมเอกชนรายใหญ่ที่ต้องการลงทุนในสตาร์ทอัพ

3.เครือข่ายตลาด ช่วยหาตลาดและช่องทางการขายให้กับสตาร์ทอัพจากเครือข่ายตลาดที่เป็นพันธมิตรกับภาครัฐ 

4.เครือข่ายวิชาการนานาชาติ สร้างความร่วมมือกับทีมวิจัย ด้วยการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เทคโนโลยีกับต่างชาติ เพิ่มศักยภาพพัฒนานวัตกรรม

“รัฐ”เร่งสร้างอีโคซิสเต็ม ปิดจุดอ่อนธุรกิจสตาร์ทอัพ สำหรับการดำเนินโครงการปีที่ 3 เน้นเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับพันธมิตรภาคเอกชนในการสร้าง Co-creation โดยปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์สตาร์ทอัพให้ตรงโจทย์ผู้ซื้อ ซึ่งสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการปีนี้ 17 บริษัท เป็นสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับ BCG อาทิ เครื่องตรวจวัดกลิ่นแบบดิจิทัล(Electronic Nose) เครื่องปรับคุณภาพน้ำสำหรับการเกษตร และเครื่องแยกเศษคอนกรีตจากบ่อคายกาก ลดของเสียจากการก่อสร้าง ซึ่งสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้กว่า 350 ล้านบาท

นอกจากนี้ โครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพระยะต่อไปจะเริ่มเชื่อมสตาร์ทอัพกับหน่วยงานรัฐ ผ่านโครงการ Startup Playground โดยนำร่องที่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดการพัฒนาGovernment 4.0 และขยายผลสู่ระบบจัดจ้างภาครัฐ