sacit เผยได้ 25 ช่างฝีมืองานหัตถศิลป์ไทย พร้อมเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน

sacit  เผยได้ 25 ช่างฝีมืองานหัตถศิลป์ไทย  พร้อมเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เฟ้นหา 25 สุดยอดช่างฝีมืองานศิลปหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ พร้อมเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 65 พร้อมเชิญชวนเข้าชมงานอัตลักษณ์แห่งสยาม 8 – 11 ก.ย.2565 ไบเทค บางนา

นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยหรือ sacit เปิดเผยว่า sacit เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดเหล่านี้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ ในขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัยและสมัยนิยม อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ จึงได้มีการดำเนินกิจกรรมคัดสรรและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ใน 3 สถานะ ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน  ครูช่างศิลปหัตถกรรม และ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

สำหรับในปี 2565 นี้มีจำนวนผู้ที่เสนอชื่อเข้าร่วมการคัดสรรทั้ง 3 ประเภท จากทั่วประเทศ ในหลากหลายประเภทผลงานศิลปหัตถกรรม แต่ละคนล้วนแล้วมีผลงานที่น่าสนใจทั้งสิ้น ในการพิจารณาคัดสรรนั้น sacit มีการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งจะพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมหลากหลายแขนง และในแต่ละปีคณะกรรมการ จะทำงานกันอย่างหนักมาก เพื่อร่วมพิจารณาคัดสรรบุคคลผู้มีฝีมือ โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องของบุคคลผู้มีทักษะฝีมือ และผู้ที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สะท้อนผ่านผลงานอันทรงคุณค่า งดงาม น่าประทับใจ ที่เป็นที่สุดของงานแขนงนั้นๆ

sacit  เผยได้ 25 ช่างฝีมืองานหัตถศิลป์ไทย  พร้อมเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน

โดยปีนี้ sacit ได้ดำเนินการค้นหาผู้ที่มีทักษะเชิงช่างด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อนำมาเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งสิ้น   25 ราย เรียบร้อยแล้ว โดยให้ความสำคัญต่อหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ครอบคลุมทุกมิติ เช่น มิติด้านการอนุรักษ์ , มิติด้านทักษะฝีมือ,  มิติด้านเรื่องราวองค์ความรู้ , มิติด้านสังคม ในสาขางานศิลปหัตถกรรม 9 สาขา ได้แก่ 1. เครื่องไม้ 2. เครื่องจักสาน  3. เครื่องดิน  4. เครื่องทอ (เครื่องผ้า) 5. เครื่องรัก 6. เครื่องโลหะ 7. เครื่องหนัง 8. เครื่องกระดาษ 9. เครื่องหิน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย

โดยแบ่งเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 2 ราย , ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 13 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 10 ราย และเป็นที่น่ายินดีที่มีงานศิลปหัตถกรรมไทยที่หาดูยากหรือใกล้สูญหายและน่าสนใจ อาทิ เครื่องทองลงหิน , เครื่องสังคโลก , เครื่องประดับลงยาราชาวดี , งานปักสะดึงกรึงไหม , งานกระจกเกรียบโบราณ และเครื่องลงยาสีร้อน (แบบโบราณ) เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจะได้รับโอกาสการส่งเสริม สนับสนุน ในกิจกรรมที่จัดโดย sacit  เช่น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประวัติและผลงานผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน และช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ , การได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในหรือต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์การสาธิตแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การทำงานหัตถกรรม , การพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมในด้านต่างๆ เช่น    การพัฒนาตราสินค้า การขายออนไลน์ การพัฒนาด้านการตลาด เป็นต้น รวมถึงพัฒนาทักษะฝีมือ สร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป  

สำหรับใครที่ชื่นชอบและรักในงานศิลปหัตถกรรมไทยและอยากที่จะร่วมพูดคุยกับครูโดยตรง ซึ่งครูฯ-ทายาทฯ ทุกท่านจะมาสาธิตและถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย ที่งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ระหว่างวันที่   8 – 11 ก.ย.2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค