ผงะ!! 90 % หมูกระทะ คือ “หมูเถื่อนหมดอายุ” จี้รัฐแก้ปัญหา ก่อนเสียหายทั้งระบบ

ผงะ!! 90 % หมูกระทะ คือ “หมูเถื่อนหมดอายุ” จี้รัฐแก้ปัญหา ก่อนเสียหายทั้งระบบ

สมาคมผู้เลี้ยงสุกร ร่วมปศุสัตว์ รุกแก้ไขปัญหาลักลอบนำเข้าเนื้อหมูปนเปื้อนเชื้อโรค หมดอายุ โฆษณาขายถูกโจงครึ่มทุกช่องออนไลน์ หวั่นล้นตลาดกระทบผลผลิตหมูขุนในไตรมาส 4 ปีนี้ เสียหายทั้งระบบ

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ  เปิดเผยร่วมกับกรมปศุสัตว์ และ 5 สมาคมผู้เลี้ยงสุกร ว่า ปัจจุบันการลักลอบนำเข้าเนื้อและชิ้นส่วนหมูเข้ามาจำหน่ายในประเทศ มีจำนวนมากขึ้น   และมีการทำตลาดกันอย่างเปิดเผยผ่านระบบออนลไน์ทุกช่องทาง  แม้กรมปศุสัตว์ออกมากวาดล้างอย่างจริงจัง แต่จำนวนที่จับได้ยังคงเป็นส่วนน้อย  ทางสมาคมฯจึงผลักดันในเรื่องนี้และต้องการให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมมือ เพื่อยับยั้งการนำเข้าเนื้อหมูดังกล่าว

ผงะ!! 90 % หมูกระทะ คือ “หมูเถื่อนหมดอายุ” จี้รัฐแก้ปัญหา ก่อนเสียหายทั้งระบบ ผงะ!! 90 % หมูกระทะ คือ “หมูเถื่อนหมดอายุ” จี้รัฐแก้ปัญหา ก่อนเสียหายทั้งระบบ ผงะ!! 90 % หมูกระทะ คือ “หมูเถื่อนหมดอายุ” จี้รัฐแก้ปัญหา ก่อนเสียหายทั้งระบบ

ทั้งนี้เพราะปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่เสียหายจากปัญหาโรคระบาดโดยเฉพาะอหิวาต์แอฟริกันในสุกร( ASF) เริ่มกลับมาเข้าขุนใหม่แล้วกว่า 1 ล้านตัว ซึ่งก่อนผลผลิตจะออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 4 ในปีนี้ ไม่ควรปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าหมูไม่ถูกต้องอีกต่อไป

“ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดโรค ASF ในสุกรเริ่มคลี่คลาย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภูมิภาคโดยเฉพาะสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดสัมมนาสัญจร “หลังเว้นวรรค จะกลับมาเลี้ยงใหม่อย่างไร? ให้ปลอดภัย ASF” เป็นจำนวน 10 ครั้ง 10 จังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนจากฟาร์มสุกร ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ฟาร์ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “เราจะให้ฟาร์มที่กลับมาใหม่ ต้องมาแข่งกับการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูไม่ได้”

ภาวะต้นทุนการผลิตสุกรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มี Supply น้อยกว่าความต้องการ และถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุน ในไตรมาสที่ 2-3/2565 อยู่ในช่วง 98-102 บาทต่อกิโลกรัม

โดยแบกรับภาระต้นทุนดูแลทั้งกลุ่มพืชไร่-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และชาวนา-ข้าว ในขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มต้องให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ ดังนั้น ปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่มีราคาต่ำมาจำหน่ายในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่เอารัดเอาเปรียบผู้เลี้ยงสุกรไทย จนถึงขั้นสามารถทำลายการเลี้ยงสุกรไทยเลยก็ว่าได้

“  หมูกระทะ 90 % เป็นหมูลักลอบนำเข้าทั้งหมด  เพราะตั้งราคาขายไว้ที่ 189 บาทต่อคน เป็นราคาที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับราคาเนื้อหมูในประเทศที่ควรจะเป็น  ซึ่งภาครัฐต้องเข้มงวดกับปัญหาที่เกิดขึ้น  เนื่องจากเนื้อมหูเหล่านี้ เสี่ยงที่จะนำโรคเข้ามาแพร่กระจายในประเทศซึ่งจะกระทบกับเกษตรกรที่กลับมาเลี้ยงใหม่ในต้นทุนที่สูงขึ้น “ 

 

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า  ยอมรับว่าการประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรไม่ง่ายเลย ต้องดูแลสุขภาพสุกรที่นับวันต้องเข้มงวดเพิ่มขึ้น จากโรคอุบัติใหม่และโรคประจำถิ่น  เป็นปัญหาและอุปสรรค สิ่งที่ต้องดูแลและฟื้นฟู ถ้ายังปล่อยให้มีการลักลอบนำหมูราคาถูกเข้ามา นอกจากจะทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยแล้ว ยังเป็นการนำโรค ASF กลับเข้ามาในระบบอีก เพราะไทยเราเริ่มคุม ASF ได้แล้ว เนื้อหมูนำเข้าเหล่านั้นมีวางจำหน่ายแพร่กระจายไปทุกภูมิภาค เป็นหมูแช่แข็งมาจากยุโรป

ตามรายงานข่าวเมื่อ 4 กรกฎาคม 2565 ว่ามีการระบาดของ ASF ที่เยอรมัน ยิ่งทำให้เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามาเสมือนเป็นขยะที่เขาต้องทำลาย แต่ลักลอบส่งมาขายแบบถูกๆ หากปล่อยให้อยู่ในระบบก็จะมีโอกาสที่คนงานในฟาร์มไปสัมผัสนำเชื้อเข้าฟาร์มได้ การกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่ ผู้เลี้ยงต้องเผชิญทั้ง Supply ส่วนเกิน และเชื้อไวรัสในระบบที่พร้อมต่อเชื้อได้ตลอดเวลา จึงต้องเร่งหาทางกำจัดการลักลอบนำเข้าอย่างด่วนที่สุด

 ปัจจุบันภาคตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี ได้ให้ความร่วมมือกับโครงการต่างๆ ของหน่วยงานราชการด้วยดี ทั้ง BCG สาขาเกษตรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ที่นำร่อง PIG SANDBOX มาฟื้นฟูฟาร์มสุกรที่ได้รับผลกระทบทั้ง FMD และ ASF 

 

 

นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา  กล่าวว่า   เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าในช่วงนี้มีราคาที่ต่ำกว่าราคาในไทย แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลกแพงพอๆ กัน ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ไทยยังแพง ราคาอยู่ที่ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม โดยข้าวโพดในต่างประเทศรวมต้นทุนค่าขนส่งแล้วต่ำกว่าไทยไม่มาก ในขณะที่ข้าวสาลีเริ่มย่อตัวเล็กน้อย

ดังนั้นเนื้อหมูที่ลักลอบหรือที่ตลาดเรียก “หมูกล่อง” มีราคาเสนอขายต่ำมากนั้น มั่นใจว่าเป็นหมูติดเชื้อ  ASF ทั้งหมด ถ้ายังจำกันได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดย ส.ส.ภาคเหนือท่านหนึ่ง ได้นำหลักฐานผลการตรวจพบเชื้อ ASF ในเนื้อหมู จากที่ขายลดราคาในตลาดกรุงเทพฯ และตรวจซ้ำถึง 2 ครั้ง มายืนยันในสภา จึงเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า เนื้อหมูลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย เป็นเนื้อที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ASF เกือบทั้งหมด

 

ดังนั้น “หมูกล่อง” ที่เก็บตามห้องเย็นต่างๆ เสมือนระเบิดเวลาของประเทศที่จะทำให้เกิดการระบาดไม่สิ้นสุด และเชื่อว่ากลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู กลุ่มแปรรูปถนอมอาหารก็น่าจะสำรองเนื้อหมูเหล่านี้ไว้เช่นกัน โดยใช้เหตุผลที่ว่า “ไวรัสไม่ติดต่อสู่คน” มาเป็นประโยชน์ในการรับซื้อของขบวนการลักลอบนำเข้าหมูกล่องเหล่านี้ วันนี้เราจึงต้องหาทางจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน”

 

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าตลอดเวลาตั้งแต่ต้นปี สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมจัดสัมมนาสัญจรใน 10 จังหวัด ตั้งแต่อีสานเหนือ จนถึงอีสานใต้ “หลังเว้นวรรค...เตรียมความพร้อมอย่างไร?.. ให้ปลอดภัย ASF” ที่มีผู้เลี้ยงที่กำลังจะกลับมาเลี้ยงใหม่ร่วมสัมมนาอย่างหนาแน่นในทุกครั้ง ซึ่งถึงตอนนี้สามารถประเมินได้ว่ามีเกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ประมาณ 10% ถึงแม้ภาระต่างๆ ยังหนักหนามาก เช่น ค่าลูกสุกรพันธุ์ที่สูง ค่าอาหารสัตว์ ค่าพลังงาน ฯลฯ

 

ภาคอีสานเป็นตลาดที่มีหมูลักลอบสูงเช่นกัน เนื่องจากมีตลาดการแปรรูปถนอมอาหารที่ใหญ่มาก ถ้าเนื้อหมูดังกล่าวปนเปื้อนไวรัส ASF ภาคอีสานก็จะมีการกระจายของเชื้อในเนื้อหมูนี้มากเช่นกัน สุดท้ายแล้วมันจะมาทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงในพื้นที่ระลอกใหม่

 

สำหรับแนวทางแก้ไขเคยชี้แนะให้กระทำในลักษณะ 3 ประสาน ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กับการจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกเกินจริงก็ถือว่าเป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเช่นกัน เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อผู้เลี้ยงและผู้ค้า ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานสามารถประสานงานกันได้ เพื่อไม่ให้ประเทศเสียหาย เพราะการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส หรือแม้แต่สารเร่งเนื้อแดงก็ตาม ถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น

 

นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่าสำหรับภาคใต้ยังมีจำนวนสุกรเพียงพอสำหรับการบริโภคในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาน่าสงสัยว่าจะมี “หมูกล่อง” มาแทรกผ่านช่องทางห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ที่ตั้งราคาจำหน่ายปลีกต่ำมาก โดยยอดจำหน่ายฟาร์มขนาดใหญ่ครบวงจรช่วงที่ผ่านมาลดลงไปประมาณ 30% แหล่งต้นตอของหมูกล่องที่มาจำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้น่าจะมาจากภาคกลาง โดยพื้นที่ที่มีการเข้ามาทำตลาดมากที่สุดจะเป็นจังหวัดนครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลา

 

ข้อกังวลผลกระทบก็คงเป็นในลักษณะเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ คือ การมาสร้าง Supply ส่วนเกินให้ตลาดภาคใต้ ที่ถือว่าได้รับผลกระทบจาก ASF น้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ มีผลผลิตไม่ขาดแคลน เพียงแต่ว่าช่วงหลังมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น โดยประเด็นเชื้อไวรัส ASF ที่อยู่ในหมูกล่องเหล่านี้มีโอกาสจะทำความเสียหายสูงให้กับผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดการระบาดในรอบใหม่ได้ 

 

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัว/วัน และมีการนำเข้าซากสุกรที่เชือดแล้วประมาณ 70-100 ตัน/วัน ตั้งแต่กรกฎาคมที่ผ่านมามีการนำเข้า "ซากสุกร" ขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 160-170 ตัน/วัน ส่งผลกระทบต่อยอดขายสุกรมีชีวิตในฟาร์มเริ่มออกช้าลง 30% ทำให้ต้องเลี้ยงต่อไปจนมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว

 

ถึงแม้การกลับเข้าขุนใหม่ของผู้เลี้ยงจะเพิ่มขึ้นแต่ผลผลิตยังไม่มากซึ่งคาดว่าจะพอเพียงในพื้นที่ภายในสิ้นปีนี้ แต่กลับมีปริมาณเนื้อหมูในตลาดเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งคาดว่าเป็นเนื้อหมูลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์  ภาครัฐต้องรีบกำจัดเนื้อหมูผิดกฎหมายโดยเร็วที่สุด