สำรวจตลาดเครื่องดื่ม “แสนล้าน” หมวดไหนฟื้นตัว-ติดลบ!

สำรวจตลาดเครื่องดื่ม “แสนล้าน”  หมวดไหนฟื้นตัว-ติดลบ!

ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ละหมวดหมู่ยังขยายตัว หดตัวแตกต่างกันด้วย ผ่านครึ่งปีแรก สัญญาบวกมาแล้ว แต่หมวดไหนได้อานิสงส์กลับมาเติบโต ติดตาม

วิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ตลาดเครื่องดื่มเริ่มฟื้นตัว หากเทียบกับไตรมาสแรก ยังเห็นภาพรวมอยู่ใน “แดนลบ” แล้วหมวดไหนเติบโตแรง หมวดไหน ยังซึมๆ กรุงเทพธุรกิจ ชวนสำรวจทิศทางตลาด

ธนพันธุ์ คงนันทะ รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าถึงภาพรวมตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เดือนมิถุนายน กลับมาเติบโตเล็กน้อย 0.4% ในเชิงมูลค่า ส่วนเชิงปริมาณเติบโต 2.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ ตลาดที่มีการเติบโตและถือว่า “เซอร์ไพรส์” ยกให้หมวด “น้ำผลไม้” เชิงมูลค่าเติบโต 4.3% และเชิงปริมาณเติบโต 1% จากหลายปีที่ผ่านมา “ติดลบ”

ขณะที่หมวด “ชาเขียวพร้อมดื่ม” ถือว่ามีการเติบโตสูงสุด ในเชิงมูลค่าเพิ่ม 20.5% เชิงปริมาณเติบโต 16.3% ตามด้วยหมวดน้ำดื่มบรรจุขวดเชิงมูลค่าเติบโต 9.1% และเชิงปริมาณเติบโต 6.9% และกาแฟพร้อมดื่มเชิงมูลค่าเติบโต 6.4% ส่วนเชิงปริมาณเติบโต 6.5% และชาเชิงมูลค่าเติบโต 8.5% เชิงปริมาณเติบโต 2.6%

เครื่องดื่มเกลือแร่เชิงมูลค่าเติบโต 5.8% เชิงปริมาณเติบโต 1.4% เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ(ฟังก์ชันนอลดริ้งค์)เชิงมูลค่าเติบโต 1.6% เชิงปริมาณเติบโต 1.4% และเครื่องดื่มชูกำลังเชิงมูลค่าเติบโต 0.9% แต่เชิงปริมาณ “ติดลบ” 3.2% โดยมูลค่าที่ขยับเกิดจาก “ราคาสินค้า” ที่บางแบรนด์มีการปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนหมวดที่ยังอยู่ใน “แดนลบ” มีดังนี้

-นมพร้อมดื่ม เชิงมูลค่า -4.1% เชิงปริมาณ -6.6%

-น้ำอัดลมเชิงมูลค่า -1.4% เชิงปริมาณ -2.1%

-มิกเซอร์เชิงมูลค่า -10.9% เชิงปริมาณ -12.8%

-เครื่องดื่มผงชงดื่ม(Tonic Food Drink:TFD) เชิงมูลค่า -7.9% เชิงปริมาณ -11%

-กาแฟสำเร็จรูปเชิงมูลค่า -7.4% เชิงปริมาณ -11.6%

“ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มมีการเติบโตสูงสุด เพราะผู้เล่นทำตลาดอย่างต่อเนื่องทำให้การฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว ทำให้มีผลประกอบการที่ดี ส่วนกาแฟพร้อมดื่มกลับมาเติบโต เพราะผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน หลังจากทำงานที่บ้านมานาน ที่น่าสนใจคือน้ำผลไม้ เดิมอยู่ในแดนลบมา 3-4 ปี มาปีนี้ฟื้นตัว ขณะที่ฟังก์ชันนอลดริ้งค์เติบโตเล็กน้อย เพราะผู้บริโภคลดความกังวลด้านสุขภาพ เทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนดื่มเพื่อสร้างภูมิต้านทาน”