วิศวะ จุฬาฯ ผนึก AIS หนุน 'เศรษฐกิจดิจิทัล'

วิศวะจุฬาฯ ผนึก AIS ร่วมเปิดตัวศูนย์ 5G R&D แห่งแรกของไทย เตรียมความพร้อมนิสิต นักพัฒนา สร้าง 5G Use case หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล เสริมแกร่งประเทศ

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล ระบุ วิศว จุฬาฯ เป็น 1 ในสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่เข้าไปร่วมทำงานกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น กสทช. ,กระทรวง DE หรือ ภาคเอกชน เพื่อทดลองทดสอบ use cases ต่างๆที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ sector หลักของประเทศให้ได้มากที่สุด 

ดังนั้น การมีสถานที่ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเสมือนจริงอย่าง AIS 5G Playground และ 5G Garage ที่มีความครอบคลุมของคลื่นความถี่ของ 5G แบบ LIVE Network จึงถือว่าตอบโจทย์และสามารถส่งเสริมให้นิสิต และ คณาจารย์ได้ใช้เป็นแหล่งทำงานวิจัย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมบน Sandbox ได้อย่างดี ที่สำคัญถือเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานจริงของ AIS ที่จะมาช่วยเสริมทักษะให้แก่นิสิตและคณาจารย์ ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประเทศไทยผ่าน 5G ได้อย่างตอบโจทย์ที่สุด

หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ ระบุ จากความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ต่อยอดการนำ 5G มาเสริมแกร่งภาคการศึกษา ร่วมเปิดตัวศูนย์ 5G R&D  “AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE” ณ อาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬา ซึ่งความโดดเด่นของศูนย์ดังกล่าวได้มีการติดตั้งสถานีฐาน 5G ที่เลือกเอาคลื่น 2600 MHz และ คลื่น 26 GHz ที่เหมาะกับการพัฒนายูสเคสในหลากหลายรูปแบบมาไว้ ถือเป็นแห่งแรกในสถานศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่ในการพัฒนาความพร้อมและขีดความสามารถให้กับนิสิต นักพัฒนา คณาจารย์รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงของเทคโนโลยีให้ได้มีโอกาสลงมือทดลอง ทดสอบ เพื่อค้นคว้า วิจัย นวัตกรรมใหม่ๆ 

อย่างไรก็ดี ศูนย์นี้ยังมีอุปกรณ์ส่งสัญญาณอย่าง 5Gซีพีอี , องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของเทคโนโลยีห้าจี, พร้อมทั้งการสัมมนา เวิร์คช็อปจากวิทยากรหลากหลายวงการที่หมุนเวียนกันเข้ามาให้ความรู้ แชร์เทคนิคที่สำคัญ เสมือนเป็นฮาร์ดสกิล และซอฟท์สกิล ที่จะเติมเต็มให้น้องๆนักศึกษาเสริมแกร่งในด้านการพัฒนาบริการต้นแบบบน 5G ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ การที่ภาคการศึกษาให้ความสำคัญกับการฝึกฝน สร้างทักษะเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยี 5G ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะ 5G คือเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากคุณสมบัติ 3 ส่วน คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขยายขีดความสามารถการเชื่อมต่อของ IoT และ ทำให้เครือข่ายตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด ดังนั้น การศึกษาให้มากที่สุดจะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแนวคิดจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว