เช็คสุขภาพ ‘3 หุ้นโรงพยาบาล’ หลังโควิดคลี่คลาย

เช็คสุขภาพ ‘3 หุ้นโรงพยาบาล’ หลังโควิดคลี่คลาย

“โรงพยาบาล” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

แม้ว่าในช่วงแรกที่เกิดโควิด-19 จำนวนผู้ป่วยทั่วไปจะลดลง เนื่องจากประชาชนตื่นกลัวกับโรคระบาดที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ไม่กล้าออกไปไหนหากไม่มีความจำเป็น ยิ่งโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยผู้ป่วยหลายโรค เลยยิ่งทำให้วิตกว่าจะกลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค

แต่ขณะเดียวกันมีรายได้จากบริการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เข้ามาชดเชย ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อ การพักรักษาตัวจนจำนวนเตียงไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ติดเชื้อ การฉีดวัคซีน และบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งการตรวจเช็คสุขภาพ ไปจนถึงการรักษาอาการ Long COVID ที่เกิดขึ้นแม้จะหายจากโควิดแล้ว

จึงทำให้กลุ่มโรงพยาบาลเป็นเพียงไม่กี่ธุรกิจที่สามารถประคับประคองตัวไปได้ตั้งแต่เกิดโรคระบาด สะท้อนจากตัวเลขผลประกอบการ ซึ่งในภาพรวมถือว่าดูดีกว่าหลายๆ ธุรกิจ

แต่ขณะนี้เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย ประชาชนสามารถใช้ชีวิตตามปกติ มีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และล่าสุด 

ศบค. ปรับให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังจากโรคติดต่อร้ายแรง เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. นี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่โรคประจำถิ่นในลำดับต่อไป

ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ จำนวนผู้ป่วยโควิดค่อยๆ ลดลง และผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวกับโควิดของแต่ละโรงพยาบาลค่อยๆ ลดลง ขณะที่รายได้จากผู้ป่วยทั่วไปเร่งตัวขึ้น

ซึ่งหากลองมาตรวจเช็คสุขภาพของ 3 กลุ่มโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น

 

  1. บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS 

จะเห็นว่าปัจจุบันรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติฟื้นตัวขึ้นอย่างโดดเด่นตั้งแต่เปิดประเทศ เช่นเดียวกับกลุ่มคนไข้ทั่วไป

โดยในไตรมาส 2 ปี 2565 มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 21,981 ล้านบาท เติบโต 26% YoY สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ผู้ป่วยชาวไทย 18% และชาวต่างชาติ 69% ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยได้รับอานิสงส์จากการกลับมารักษาพยาบาลของผู้ป่วยที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19

ส่วนผู้ป่วยต่างชาติ การเติบโตหลักมาจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Fly-in Patient) ส่งผลให้อัตราการครองเตียงโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 60% ในไตรมาส 2 ปี 2564 เป็น 69% ในไตรมาส 2 ปี 2565 และมีกำไรสุทธิ 2,664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83% YoY

สำหรับงวด 6 เดือน ปี 2565 ทำรายได้จากการดำเนินงานไปแล้ว 45,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% YoY กำไรสุทธิ 6,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119% YoY ขณะที่อัตราครองเตียงสูงขึ้นเป็น 75% จาก 53% ในครึ่งปีแรกปี 2564

 

  1. บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH 

ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักเป็นคนไข้ต่างชาติ พบว่าไตรมาส 2 ปี 2565 มีรายได้จากกิจการโรงพยาบาล 4,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.5% YoY โดยรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติและผู้ป่วยชาวไทยเพิ่มขึ้น 120.8% และ 15.8% ตามลำดับ กําไรสุทธิ 1,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 438.6% YoY

ส่งผลให้ครึ่งปีแรกปี 2565 มีรายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลรวม 9,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.2% YoY และกําไรสุทธิ 1,891 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 514.8% YoY โดยสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยไทยคิดเป็น 40.8% และผู้ป่วยต่างชาติ 59.2%

 

  1. บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH

 ซึ่งที่ผ่านมามีสัดส่วนรายได้จากโควิด-19 มากที่สุดในกลุ่มโรงพยาบาล ล่าสุดผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 2565 มีรายได้รวม 5,541.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.98% YoY กำไรสุทธิ 1,143.96 ล้านบาท ลดลง 0.15% YoY สำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2565 มีรายได้รวม 12,659.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.58% YoY และมีกำไรสุทธิ 3,172.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.88% YoY

เช็คสุขภาพ ‘3 หุ้นโรงพยาบาล’ หลังโควิดคลี่คลาย

  1. บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) 

ประเมินว่า กำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2565 ของ BCH จะลดลงทั้ง YoY และ QoQ จากฐานที่สูงในปีก่อน และรายได้โควิดปรับตัวลดลงหลังรัฐบาลลดงบประมาณสนับสนุน ประกอบกับการเจ็บป่วยโควิดในปัจจุบันอาการไม่รุนแรงมาก

ทั้งนี้ ยังมีความเสี่ยงที่โรงพยาบาลอาจต้องตั้งสำรองผลขาดทุนจากการสั่งซื้อวัคซีนโควิดเข้ามามาก แล้วยังขายไม่หมดหรืออาจต้องขายในราคาต่ำกว่าทุน

ส่วน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า BH เป็นโรงพยาบาลที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากผู้ป่วยต่างชาติที่บินเข้ามารักษา โดยขณะนี้รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดแล้ว คาดกำไรไตรมาส 3 ปี 2565 ยังสูงใกล้เคียง QoQ และโตแรง YoY ส่วนกำไรทั้งปี 2565 โตเด่นกว่ากลุ่ม 175% แตะ 3.5 พันล้านบาท

ด้าน บล.กรุงศรี ระบุว่า รายได้ BDMS ฟื้นตัวเร็วกว่าคาดมาก จึงได้ปรับประมาณการกำไรปี 2565 ขึ้น 25% เป็น 1.1 หมื่นล้านบาท, ปี 2566 ขึ้น 13% เป็น 1.3 หมื่นล้านบาท และปี 2567 ขึ้น 14% เป็น 1.4 หมื่นล้านบาท หลังปรับประมาณการรายได้ขึ้นจากผู้ป่วยต่างชาติและผู้ป่วยไทยที่ไม่เกี่ยวกับโควิด คาดรายได้โรงพยาบาลปีนี้จะกลับไประดับก่อนโควิดระบาด