สศช. คาดจีดีพีโต 2.7-3.2% แรงหนุนจากการส่งออก

สภาพัฒน์คาดปีนี้เศรษฐกิจไทยโต 2.7-3.2% ห่วงความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งมาตรการการคว่ำบาตรต่อเนื่องกระทบเศรษฐกิจ ขณะที่ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยโตได้ 2.5% โดยได้รับแรงหนุนจากการอุปโภคบริโภค และการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ดนุชา พิชยนันท์ ระบุ สศช.ปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.5 - 3.5% เป็น 2.7 - 3.2% 
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์จะเพิ่มขึ้น 7.9%

โดยการปรับลดประมาณการตัวบนจาก 3.5% เป็น 3.2% เนื่องจากผลจากความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังโดยคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 6.6% 

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งของสงครามรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ จีนและไต้หวัน รวมทั้งมาตรการการคว่ำบาตรต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องที่อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคฝีดาษลิง

สำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2565 ขยายตัวอยู่ที่ 2.5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวกว่า 6.9% และปริมาณการส่งออกบริการ ขยายตัวกว่า 54.3% ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.4% ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2564 ชัดเจนว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการอุปโภคบริโภค และการส่งออกสินค้า แม้การใช้จ่ายภาครัฐชะลอลง

โดยในปีนี้ สศช.ได้ปรับคาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวไปอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท จากเดิมคาดการณ์ว่าไว้ที่ 5.7 แสนล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยประมาณ 9.5 ล้านคน

โดยในปีนี้ สศช.ได้ปรับคาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวไปอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท จากเดิมคาดการณ์ว่าไว้ที่ 5.7 แสนล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยประมาณ 9.5 ล้านคน 

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีนี้ควรให้ความสําคัญกับ 1.การติดตามและดูแลกลไกตลาด 2. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร 3. การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 4. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า 5. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง 6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 7. การขับเคลื่อนการใช้ จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ 8. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของ เศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์