“นวัตกรรม” ลดปล่อยคาร์บอน ทางรอด “บิ๊กคอร์ป” ไทย

“นวัตกรรม” ลดปล่อยคาร์บอน ทางรอด “บิ๊กคอร์ป” ไทย

บิ๊กคอร์ป เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมลดคาร์บอน “ปตท.-เอสซีจี-ดาว-ซีพีเอฟ” ต่อยอดเทคโนโลยี สร้างต้นแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญของการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยการสร้างต้นแบบโมเดลธุรกิจและกลไกความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างครบวงจร จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งถ้าดูสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์พบว่ามาจากการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด 31% รองลงมาเป็นภาคการขนส่ง 31% ภาคอุตสาหกรรม 32% และอื่นๆ 2.4%

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการลดคาร์บอน โดยยึดแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลดและหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร และเพิ่มมูลค่าของเสีย 

รวมถึงส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุชนิดเดียว การใช้วัสดุรอบสอง การอัพไซคลิงมาใช้ในการผลิตและใช้ประโยชน์ให้ได้มากกว่าเดิม

สำหรับเทคโนโลยีที่มีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำมาใช้ ประกอบด้วย การส่งเสริมเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) รวมถึงการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม 

รวมทั้งการสนับสนุนเงินลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา เพิ่มมาตรการจูงใจทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการขนส่งกักเก็บคาร์บอน ซึ่งทั้งหมดถูกบรรจุใน ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่จะเป็นหนึ่งใน 13 หมุนหมายในการขับเคลื่อนประเทศในช่วงปี 2566-2570

ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งที่ลงทุนสร้างนวัตกรรมให้ตอบโจทย์การผลิตสินค้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน อาทิ

เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ พัฒนาโซลูชันที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงรณรงค์การจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง

กลุ่ม ปตท.มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ลดการปล่อยคาร์บอนทางตรง เช่น การพัฒนาพลังานหมุนเวียน การพัฒนาอาคารหรือบริการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากกระบวนการผลิตที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและปล่อยคาร์บอนต่ำกว่า

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยหลักการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์การบริหารจัดการสู่ความยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมดูแล ชุมชนสังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างสมดุลในการตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

อีกทั้ง ยังเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อสังคมในระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติครอบคลุมใน 2 มิติ ได้แก่

1. มิติด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม

2. มิติด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น การร่วมเป็นสมาชิกสถาบัน และสมาคมต่างๆ ทั้งระดับสากลและในระดับประเทศ เพื่อเป็นพลังร่วมผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายและเป้าหมายของประเทศสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืน โดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ จะเห็นได้จากความสำเร็จการพัฒนาพื้นที่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ณ พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ เป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขั้นสูงของประเทศที่สามารถต่อยอดสู่การใช้งาน ประกอบด้วย

1.โครงการวิจัยงานด้าน BIOPOLIS

2.โครงการวิจัยงานด้าน ARIPOLIS

3.โครงการวิจัยงานด้าน SPACE INNOPOLIS และ

4.โครงการวิจัยงานด้าน FOOD INNOPOLIS

นอกจากนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ได้ตั้ง PTTEP Technology & Innovation Center (PTIC) สำหรับงานวิจัยนวัตกรรม พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการสนับสนุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงเทคโนโลยี AI และ Robotic และเป็นสถานที่ฝึกอบรมบุคลากรและการเรียนรู้ของ กลุ่มปตท. เป็นต้น

ในขณะที่กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย ได้ประกาศผลงานด้านวิศวกรรมทางเคมี Net-zero carbon cracker ที่จะช่วยลดคาร์บอนเป็นศูนย์ สิ่งนี้เป็นตัวอย่างทางเทคโนโลยี ที่จะสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Carbon

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวว่า ดาว จะเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลสำคัญของการลดคาร์บอน เพื่อก้าวไปถึง Net Zero ดังนั้น สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของโลกจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อมีการบริโภคที่ยั่งยืน มีธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมจะเป็นตัวนำพาให้ถึงเป้าหมาย

ทั้งนี้ หลายองค์กรและหลายประเทศเริ่มกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว โดยไทยตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero ปี 2065 ที่ดูเหมือนอีกนาน แต่มาตรการที่เกี่ยวข้องกำลังเกิดขึ้น ดังนั้น ทุกคนมีส่วนร่วมได้ 2 ส่วน คือ

1.รอให้มาตรการเกิดก่อนแล้วมาปรับปรุงแก้ไข

2.การลุกขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขธุรกิจหรือหาวิธีพัฒนาการลดคาร์บอนเพื่อให้ถึงเป้าหมายได้เร็ว 

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้พัฒนาวัตกรรมอาหารสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การพัฒนาโปรตีนทางเลือก Plant- Based Protein ที่ผลิตจากพืช 100% รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน

ปัจัยสำคัญอีกส่วนที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ คือ การปรับรูปแบบธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ที่มีการออกแบบสินค้าและบริการที่มีอายุการใช้งานยาวนาน โดยเลือกใช้วัสดุที่สามารถใช้รีไซเคิลได้ รวมทั้งสร้างธุรกิจบริการในรูปแบบเช่าหรือจ่าย ซึ่งเป็นการจัดหาอุปกรณ์มาใช้งานแทนการซื้อขาด เพื่อใช้และแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน

ทั้งนี้ การพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวถือเป็นโอกาสรอดของสินค้าไทยในตลาดคาร์บอน โดยเฉพาะตลาดสินค้าส่งออกที่เริ่มมีการใช้มาตรการควบคุมการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่ สหภาพยุโรป (EU) นำเข้า ซึ่งทำให้เห็นความสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนต่ำเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero