กนง.จับตา แรงกดดัน ‘เงินเฟ้อพื้นฐาน’พุ่ง ราคาสินค้าแพงขยับวงกว้างเพิ่ม

กนง.จับตา แรงกดดัน ‘เงินเฟ้อพื้นฐาน’พุ่ง ราคาสินค้าแพงขยับวงกว้างเพิ่ม

.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงขึ้นดอกเบี้ย 0.25 % เป็น 0.75% ชี้การดำเนินนโยบายการเงินแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” เหมาะสมบริบทเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ส่งสัญญาณไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงหากไม่มีช็อค เชื่อแบงก์พาณิชย์ส่งผ่านดอกเบี้ยสู่ลูกค้าไม่หมด

         ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (10 ส.ค.) ออกมา 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75%

     ขณะที่คณะกรรมการ 1 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เป็น 1.00% เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต

        นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การดูแลกลุ่มลูกค้าของธนาคารพาณิชย์กรณี กนง.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกจะร่วมกันดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ โดยการปรับดอกเบี้ยจะชะลอแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนที่เหลือเราจะพยายามชะลอแต่ต้องดูกลไกตลาดว่าจะมีรีแอคชันจากการที่ดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับตัวอย่างไร

       ทั้งนี้ ต้องเรียนว่าแต่ละธนาคารพาณิชย์ก็มีโครงสร้างพอร์ตของลูกหนี้ที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ต้องสมดุลกันระหว่างลูกค้าเงินฝากกับลูกค้าเงินกู้ ก็จะพยายามดูแลสามารถให้ประคองและชะลอไปได้ แต่จะต้องไม่กระทบต่อโครงสร้างของเงินฝากเช่นเดียวกัน

       รวมนี้ ความช่วยเหลือลูกค้ารายใหญ่ มีความยืดหยุ่น สามารถสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงได้ก่อน ส่วนลูกค้ารายย่อย ส่วนใหญ่ได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ ทั้งสินเชื่อ เช่าซื้อ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย แม้จะใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว แต่ค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนคงที่ จึงได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก
 

ห่วงผลกระทบกลุ่มเปราะบาง

     “การขึ้นดอกเบี้ยต่อกลุ่มเปราะบางจะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนทางการเงินในการทำธุรกิจหรือดูแลสถานะครัวเรือน ฉะนั้น ไม่เพียงการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ย แต่เราต้องเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนต่อเนื่องด้วย จะเห็นว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะเกิดขึ้นอีกระลอก เป็นการประคองลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว”

      ทั้งนี้ กลุ่มเปราะบาง คือ เอสเอ็มอีและภาคครัวเรือน ซึ่งการฟื้นตัวยังช้า โดยภาพรวมที่ยังจำเป็นต้องใช้มาตรการ ณ สิ้น พ.ค.ประมาณ 1.6 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ มีการเสริมสภาพคล่องไป 3.2 แสนล้านบาท

      ขณะที่ประเด็นดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบอย่างไรต่อภาพรวมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ต้องดูความสมดุลงบดุลที่มาจากต้นทุนและการปล่อยกู้ แต่ต้องยอมรับว่า ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น เป็นการปรับขึ้นเข้าสู่สภาวะปกติ เพราะที่ผ่านมาต่ำผิดปกติ เนื่องจาก ต้องการทำให้ระบบประคองวิกฤตโควิดไปได้ แต่ตอนนี้ ธปท.ก็อยู่ระหว่างการถอนคันเร่งเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ

     “ถ้าจะชี้ให้เห็นง่ายๆคือตอนวิกฤตต้มยำกุ้งดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% ขณะที่ ของเราลดไปเหลือต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ 0.25% ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์เองก็มีภาระต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน FIDF ซึ่งที่ผ่านมา จาก 0.47% ก็ลดลง 0.23% ตรงนี้ ก็ต่ำกว่าปกติ ฉะนั้น ช่วงนี้ ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า”

สภาพคล่องไหลไปตราสารหนี้

    นอกจากนี้ ต้องดูเรื่องของสภาพคล่องที่อาจจะไหลออกจากระบบจากธนาคารพาณิชย์ไปยังตลาดตราสารหนี้ ซึ่งทยอยปรับขึ้นสะท้อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าไม่กระทบก็สามารถประคองไปได้ ถ้าเกิดกระทบก็ต้องมีการปรับตัว โดยขึ้นกับพอร์ตของแต่ละธนาคารพาณิชย์

      ทั้งนี้ การตอบรับของตลาดหลังกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย จะเห็นว่า ดอกเบี้ยพันธบัตรกับดอกเบี้ย IRS ช่วง 2-5 ปี มีการปรับลดลงประมาณ 5 Basis Point ฉะนั้น สิ่งที่ขับเคลื่อน

     โดย กนง.กับตลาดค่อนข้างสอดคล้องกัน ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยแข็งแกร่ง แต่เมื่อเทียบธนาคารในภูมิภาค ธนาคารพาณิชย์ไทยยังเผชิญความท้าทายด้านการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับต่ำกว่า และฟื้นตัวช้ากว่าในภูมิภาค

     ดังนั้น การรักษาระดับความแข็งแกร่ง และสร้างความเชื่อมั่นในระบบธนาคารพาณิชย์ จึงมีความสำคัญ

แจงเหตุผลขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

      นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง.กล่าวว่า มติ 6 ต่อ 1 เสียงครั้งนี้ให้ขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ไปสู่ 0.75% โดยปัจจัยหลักที่ปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมี 5 ประการ คือ 1.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้สิ้นปี 2565

     ทั้งนี้หากดูสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทั้งการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาส พบว่ายังมีการเร่งขึ้นทั้งไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ดังนั้นการฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งปีนี้ ธปท.อาจปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นบ้างจาก 3.3% แต่ภาพปีหน้ายังไม่เปลี่ยนแปลง

      อีกทั้งมองว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ค่อนข้างมั่นคงมีปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกหรือปัจจัยโลกมากนัก

       2.อัตราผู้ว่างงาน เสมือนว่างงาน มีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ก็ปรับเพิ่มขึ้นทุกระดับทั้งระดับต่ำ กลางสูง

      3.สิ่งที่ กนง.ให้ความสำคัญและจับตาใกล้ชิด คือ แนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเพราะปัจจุบันเงินเฟ้อพื้นฐานระดับ 3% ถือเป็นระดับสูง และหากดูตระกร้าเงินเฟ้อพบว่าจำนวนสินค้าสูงขึ้นกว่าปกติ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นพอสมควร

      4.การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เพื่อยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตามแม้เงินเฟ้อระยะสั้น 1 ปียังปรับเพิ่มขึ้น แต่ระยะ 5-10 ปี เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ

      5.การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำมานาน ขณะที่เงินเฟ้อสูงขึ้นทำให้อัตราผลตอบแทนปัจจุบันติดลบ ดังนั้นเพื่อดูแลภาวะการเงินในประเทศ ไม่ให้ผ่อนคลายจนเกินไป จนกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคา และระบบการเงินในอนาคต การขึ้นดอกเบี้ยจึงจำเป็น

      ส่วนแนวโน้มในระยะข้างหน้าสิ่งที่ กนง.เห็นร่วมกันคือ ควรขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทยอยลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ซึ่งสะท้อนระดับกิจกรรมของเศรษฐกิจที่ยังอยู่ระดับต่ำกว่าโควิด-19 และหากเทียบกับประเทศอื่นที่ปรับนโยบายการเงินไปแล้ว เช่นธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ หรือธนาคารกลางในเอเชีย ที่เศรษฐกิจขยายตัวระดับก่อนโควิด-19 เกือบทุกประเทศ 

ชี้ถึงเวลาถอนคันเร่ง

      รวมทั้งมองว่านโยบายการเงินที่ดำเนินมา2ปี ถึงเวลาที่ต้องถอนคันเร่งแล้ว กนง.จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ปรับขึ้นดอกเบี้บ และมองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อระยะข้างหน้า

     “กนง.มองว่าไม่จำเป็นต้องรีบกระชากเศรษฐกิจให้เงินเฟ้อลดลงปีหน้า เพราะส่วนใหญ่เงินฟ้อจะลดลงด้วยตัวของมันเองที่พลวัตลดลงอยู่แล้ว การดำเนินนโยบายการเงินจึงค่อยเป็นค่อยเป็นค่อยไปได้”

      อย่างไรก็ตาม ส่วนการที่ตลาดมีการจับตาว่า ข้างหน้ามีโอกาสที่จะเห็นกนง.ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปสู่ 0.50 % นั้น มองว่า หากดูภาพรวมเศรษฐกิจข้างหน้า มองว่า การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังสอดกับภาพที่อยากเห็นปีหน้า คือเงินเฟ้อกับมาอยู่ในกรอบ การขยายตัวเศรษฐกิจค่อนข้างดี กลับมาสู่ศักยภาพหรือเบทไลน์ที่มองไว้


ไม่จำเป็นขึ้นดอกเบี้ยแรง

    ดังนั้นไม่จำเป็นที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง แม้การประชุมแต่ละครั้งค่อนข้างห่าง และลดการประชุมลง เหลือ 6 ครั้งต่อปี จาก 8 ครั้งต่อไป ดังนั้นการประชุมครั้งหน้า จะปรับขึ้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เข้ามานับตั้งแต่นี้ ว่าเป็นไปตามคาดการณ์ไว้หรือไม่

     ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นไปตามที่ส่งสัญญาณไว้ ดังนั้นหากมองไปข้างหน้า หากไม่มีอะไรแปลกไปจากการคาดการณ์ ไม่มีช็อคเข้ามา ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเหล่านี้คณะกรรมการกนง.คงดูความเหมาะสม ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อข้างหน้า

คาดแบงก์ไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย

    ส่วนประเด็นการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ระบบธนาคารพาณิชย์ กนง.อยากเห็นการส่งผ่านค่อยเป็นค่อยไป เพราะการฟื้นตัวมีความแตกต่างกันในแต่ละสาขาเศรษฐกิจ และกลุ่มต่างๆมีความเปราะบาง มีความอ่อนไหวต่อต้นทุนการทางการเงินที่เพิ่มขึ้นแตกต่างกัน

     ดังนั้นการค่อยๆขึ้นๆ หรือแบบค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยทำให้การฟื้นตัวของกลุ่มเปราะบางได้มากกว่า

      ทั้งนี้มองการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่น่าส่งผ่านไปหมด 100% หรือขึ้นดอกเบี้ย 1 ต่อ 1 เพราะจากการหารือร่วมกับแบงก์ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ยังมีความเป็นห่วงกลุ่มเปราะบาง ทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดเล็กที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว ที่ธนาคารยังห่วงกลุ่มนี้ และพยายามลดผลกระทบ และไม่ส่งผ่านต้นทุนทางการเงินไปเต็มๆ

      ดังนั้นธนาคารพาณิชย์คงไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย M Rate ทันที ทั้งดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) และดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) โดยอาจปรับขึ้นแค่บางส่วนหรือรอเวลาไปอีก 3-4 เดือนไปแล้ว