“KSL” ชี้ปี 66 ปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่ม ยอดขายโตตาม ‘ราคาน้ำตาล’

“KSL” ชี้ปี 66 ปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่ม  ยอดขายโตตาม ‘ราคาน้ำตาล’

เงินเฟ้อ และสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ - จีนกรณีไต้หวัน สารพัด! ปัจจัยลบที่มีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก แต่กลับเป็นผลบวกต่อ “ราคาน้ำตาล” และหนึ่งในนั้นคือ ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลอย่าง บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL

       “ชลัช ชินธรรมมิตร์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSLเล่าให้ฟังว่า คาดแนวโน้มราคาน้ำตาลในปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ (บวก-ลบ) จากปัจจัยหนุนจากราคาพลังงานเงินเฟ้อสูง และสงครามระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” รวมถึงความตึงเครียดระหว่าง “สหรัฐ และจีน” กรณีไต้หวัน

        ขณะเดียวกันผู้ผลิต และส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก อย่าง ประเทศอินเดีย ก็ยังไม่มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะมีการส่งออกของรัฐบาลอินเดีย และความต้องการ (ดีมานด์) ของประเทศเวียดนาม ก็กลับเข้ามาในตลาดอีกครั้งสะท้อนผ่านมีการนำเข้าน้ำตาลราว 1-2 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาน้ำตาลดังนั้น คาดการณ์ปริมาณการขายในปี 66 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากราคาขายน้ำตาลที่ปรับตัวขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

       ทั้งนี้ บริษัทคาดปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 66 ที่จะเริ่มฤดูกาลหีบอ้อยในช่วงเดือนพ.ย. 2565 ไปจนถึงเดือน มี.ค.2566 จะเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 8.20 ล้านตันอ้อย และมีปริมาณการผลิตน้ำตาลราว 9 แสนตัน จากปี 2565 ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 6.56 ล้านตันอ้อย คิดเป็นปริมาณการผลิตน้ำตาลประมาณ 6.9-7 แสนตัน เป็นผลจากสภาวะอากาศที่เอื้อต่ออ้อย

         ปัจจัยลบที่ต้องติดตามเนื่องจากมีผลกระทบ “กดดัน” ต่อราคาน้ำตาล นั่นคือ สถานการณ์คาดการณ์เกินดุลในปี 66, การปรับภาษีพลังงานในประเทศบราซิล โดยเฉพาะิ “เอทานอล” จะส่งผลให้ราคาปรับตัวลงมา และดึงราคาน้ำตาลลงมาอยู่ใกล้ราคาเอทานอล, การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเทรนด์การบริโภคน้ำตาลที่ “ลดลง” รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ Sugar Currency ที่เป็นผู้ผลิตอ่อนค่า อีกทั้งปัจจุบันกองทุนยังคงถือสถานะ “ขายสุทธิ”

อย่างไรก็ตามบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) (TCSC) ได้มีการทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในปี 66 ไปแล้วถึง 50% เป็นราคาน้ำตาลที่ประมาณ 20.20 เซ็นต์ต่อปอนด์ มีค่าเฉลี่ยของค่าเงินบาทอยู่ที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยราคาน้ำตาลใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ค่าเงินบาทดีขึ้นประมาณ 2 บาท ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำตาลหรือโรงงานน้ำตาลมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

        สำหรับปริมาณการขายในครึ่งปีหลังของปี 65 คาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก จากอ้อยที่เพิ่มขึ้น และราคาขายที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัท ขณะที่ธุรกิจเอทานอล ยอมรับว่าครึ่งปีแรกยังไม่ค่อยดี จากวัตถุดิบปรับตัวขึ้นสูง และสถานการณ์ก็ไม่ได้ทำให้ราคาเอทานอลปรับตัวขึ้นไปตามต้นทุน แต่ครึ่งปีหลังคาดว่าราคาจะค่อยๆ ขยับขึ้น ส่งผลดีต่อผลประกอบการของเอทานอลดีกว่าครึ่งปีแรก หรือกลับมามีกำไรที่ดีขึ้นพอสมควร ทำให้ผลการดำเนินงานในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วง

        ด้านงบลงทุนปี 2565 ที่จะสิ้นสุดเดือนต.ค.2565 วางไว้ที่ 300 ล้านบาท แต่อาจจะใช้ไม่ถึง ส่วนในปี 2566 วางไว้ที่ 400 ล้านบาท เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก หากมีโครงการใดที่มี     “ผลตอบแทน” (รีเทิร์น)ได้เร็วก็อาจจะมีการลงทุนเพิ่มเติม

       ท้ายสุด “ชลัช”บอกไว้ว่า คาดทิศทางธุรกิจน้ำตาลได้ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปแล้วหลังจากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ขณะที่แนวโน้มในปัจจุบันมีหลากหลายปัจจัยที่หนุนราคาน้ำตาล ดังนั้น คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตตามทิศทางราคาน้ำตาลที่ทรงตัวในระดับสูง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์