"สุพันธุ์” เบรก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ-กระทบฐานราก

"สุพันธุ์” เบรก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ-กระทบฐานราก

“สุพันธุ์” เบรก “กนง.” ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ระบุ จะซ้ำเติมเศรษฐกิจ สร้างภาระประชาชน ธุรกิจ ดันต้นทุนพุ่ง ส่วนกลุ่มฐานรากโดนผลกระทบหนัก แนะ รัฐบาล เลิกคิดแต่การแจกเงินอย่างเดียว ควรหาวิธีให้คนไทยสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.) ส่วนตัวมองว่า กนง. ไม่ควรขึ้น และควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว หากเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเวลานี้ อาจทำให้ทุกอย่างชะลอตัวลง และอาจเป็นการซ้ำเติมหรือสร้างภาระให้กับประชาชน ภาคธุรกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบันหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ผลกระทบจะเกิดวงใหญ่ ทั้งคนกู้บ้าน กู้รถ รวมถึงคนที่กำลังทำธุรกิจทั้งหมด จะเจออัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้น คนที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่ม ก็จะต้องเจอต้นทุนที่แพงและอาจทำให้ชะลอการลงทุนออกไปอีก โดยปัจจัยทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมแย่ลงไปด้วย อีกทั้ง กลุ่มคนตัวเล็กที่เป็นฐานรากทั้งหลายจะแย่ไปอีก ดังนั้น จึงไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยอย่างยิ่ง เพราะการไม่ขึ้นจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงการขึ้นดอกเบี้ยด้วยปัจจัยต่าง ๆ อาทิ

1. ปรับขึ้นเพราะกลัวเงินทุนไหลออก

2.อัตราแลกเปลี่ยนจะอ่อนตัวมากไป

3. ห่วงเงินเฟ้อสูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้วขณะนี้ ทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะวันนี้เงินทุนไม่ได้ไหลออกนอกประเทศ ดัชนีหุ้นเริ่มปรับตัวสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อที่น่าห่วงก็ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา และอัตราแลกเปลี่ยนกลับมาปรับตัวแข็งค่าขึ้นจาก 36 บาทต่อดอลลาร์  มาอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ สะท้อนว่าเงินทุนไม่ได้ไหลออก

อย่างไรก็ตาม จากการที่หลายประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้านี้นั้น เป็นผลจากเงินเฟ้อสูงค่อนข้างมาก จากดีมานด์ หรือความต้องการสูง การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยเกิดจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากความต้องการใช้จ่ายที่สูง และวันนี้ราคาน้ำมันเริ่มชะลอตัวลงด้วย และมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะทรงตัวได้ หากราคาน้ำมันชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป

“ในวันนี้ยังมีเหตุการณ์ข้างหน้าที่ยังต้องติดตาม โดยเฉพาะสถานการณ์จีนและสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน ภายหลังจากที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ไปเยือนไต้หวัน ส่งผลให้เกิดการคว่ำบาตร และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าว อาจทำให้เราไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเชื่อว่าหลายประเทศอาจทบทวนการพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือชะลอการขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะเศรษฐกิจเริ่มถดถอยลง” นายสุพันธุ์ กล่าว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยนั้น หากจะขึ้นจริงๆ จะต้องพิจารณา 3 ปัจจัย คือ

1. เมื่อเงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้น

2. ค่าเงินเริ่มกลับไปอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์

3.เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน จีดีพีกลับมาขยายตัวได้ 3-5% รวมถึงเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวชัดเจน เป็นต้น

นอกจากนี้ การบูทเศรษฐกิจจะต้องทำตั้งแต่ข้างล่าง รัฐบาลต้องดูว่า เวลานี้สภาพคล่องข้างล่างแย่มาก จึงต้องหาทางมาช่วย นอกจากการเปิดการท่องเที่ยว การเปิดการค้าชายแดนทุกด่านให้กลับมาปกติที่สุด รวมถึงการดูหนี้เงินกู้ทั้งหลายของภาคธุรกิจ นอกจากการพักชำระหนี้ ควรที่จะเข้าไปเติมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ด้วย เพื่อให้เปิดธุรกิจได้ ปรับโครงสร้างให้กลับมาแข็งแรง จะช่วยให้เศรษฐกิจระดับรากหญ้ากลับมาแข็งแรง และเกิดการกลับมาจับจ่ายอีกครั้ง แทนการแจกเงิน และต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มรากหญ้าหาเงินได้เพิ่มขึ้น คือสิ่งที่ดีที่สุด