“เทคโนโลยี”รับClimate Change ต้นเหตุสัดส่วนGDPเกษตรขาลง

“เทคโนโลยี”รับClimate Change    ต้นเหตุสัดส่วนGDPเกษตรขาลง

Climate Change ทำให้อุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าปกติ ฝนตกล่าช้า ฤดูกาลแปรปรวน การเพาะปลูก การเจริญเติบโตของพืชและสัตว์มีปัญหา อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน สร้างความเสียหายต่อผลผลิต เหล่านี้ คือต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องจ่ายเพื่อชดใช้ให้กับสถานการณ์“โลกร้อน”

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรจากหลายด้าน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง พันธุ์พืชและสัตว์ที่มีอยู่ไม่สามารถปรับตัวต่อสภาวะอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียผลผลิตและมีต้นทุนการผลิตและดูแลรักษาเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจทางการเกษตร(GDPภาคการเกษตร)มีแนวโน้มลดลงและผันผวนมากขึ้น

 

“เทคโนโลยี”รับClimate Change    ต้นเหตุสัดส่วนGDPเกษตรขาลง

“เทคโนโลยี”รับClimate Change    ต้นเหตุสัดส่วนGDPเกษตรขาลง

โดยจะเห็นได้จาก ในช่วงปี 2550-2564 หรือ 15 ปีที่ผ่านมา มูลค่าGDPภาคเกษตรของไทยในบางช่วงเวลามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลับมาลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาวะภัยแล้งเป็นสำคัญ เช่น ปี 2552 ช่วงปี 2557-2558 และปี 2563 หลายพื้นที่ของประเทศประสบภาวะภัยแล้ง อากาศร้อนจัดต่อเนื่องยาวนาน และสภาพอากาศมีความแปรปรวนในบางพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ตามปกติ ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และผลไม้ ได้รับความเสียหายและลดลง

“มูลค่าGDPณ ราคาประจำปี พบว่าGDPภาคเกษตรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 8.48แสนล้านบาท ในปี2550 เป็น 1.38 ล้านล้านบาท ในปี 2564 หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 4.1% ต่อปี”

สำหรับสัดส่วนของGDPภาคเกษตร ในปี 2564 ภาคเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 8.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 32.1% และภาคบริการมีสัดส่วน 59.4%

โดยสัดส่วนของGDPภาคเกษตรมีทิศทางลดลงจากที่มีสัดส่วน 11.6% ในปี 2554 เป็นผลมาจากการที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีกิจกรรม การผลิตและบริการในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน และการต่อยอดไปสู่กิจกรรมการบริการใหม่ ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และรูปแบบการค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้มากขึ้น

ในขณะที่GDPภาคเกษตร จะพิจารณาจากกิจกรรมการผลิตสินค้าเกษตรในขอบเขตฟาร์มของเกษตรกร โดยเป็นไปตามนิยามของระบบบัญชีประชาชาติที่เป็นระบบสากล หากพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า สัดส่วนGDPภาคเกษตรมีทิศทางลดลงทุกประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เนื่องจากการเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ และเมื่อพิจารณาสัดส่วนGDPภาคเกษตรของประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น พบว่า สัดส่วนGDPภาคเกษตรของประเทศดังกล่าวอยู่ในช่วง 1 – 2% เท่านั้น

 ทางออกคือ การสร้างความสามารถในการปรับตัวของภาคเกษตร ด้วยการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยี (Adaptation Technology) เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชให้ต้านทานต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทนต่อโรคและแมลงศัตรูพืช และการพัฒนาระบบเตือนภัยเพื่อลดความเสี่ยงหรือลดการสูญเสียผลผลิต

โลกร้อนคือความท้าทายใหม่ที่ทุกภาคส่วนแม้แต่ภาคการเกษตรต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือ เพราะไม่เพียงแค่GDPเกษตรที่ได้รับผลกระทบแต่นั่นคือสัญญาณการเข้าถึงอาหารของมนุษยชาติที่มีแนวโน้มลดลงด้วย