เลขาธิการ สศก. ขึ้นเวที FTI EXPO 2022 ปาฐกถาพิเศษ ชูแนวคิดพลิกโฉมเกษตรไทยด้วย BCG

เลขาธิการ สศก. ขึ้นเวที FTI EXPO 2022 ปาฐกถาพิเศษ ชูแนวคิดพลิกโฉมเกษตรไทยด้วย BCG

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. ขึ้นเวที FTI EXPO 2022 ปาฐกถาพิเศษ ชูแนวคิด พลิกโฉมเกษตรไทยด้วย BCG ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน

 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเวทีปฐกถา ในงาน “FTI EXPO 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES มหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมไทย”กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “พลิกโฉมเกษตรไทย (Disruptive Change) ด้วยแนวคิด BCG พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” โดยสรุปว่า การพัฒนาประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะหลังเริ่มชะลอตัวลง โดยในปี 2560 - 2564 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.43 ต่อปี ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวไม่เพียงพอในการนำพาประเทศให้ก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  

สำหรับภาคเกษตรไทย เกี่ยวข้องกับประชากรเกือบ  24 ล้านคน คิดเป็นพื้นที่การเกษตร 149.24 ล้านไร่ หรือพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศในการผลิตทางการเกษตร แต่พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ เราใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่ราคามีความผันผวนตามสภาพภูมิอากาศและอุปทานในตลาดโลก จึงส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำ การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรด้วยการเพิ่มปริมาณผลผลิตนั้น จำเป็นต้องแลกด้วยการใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า “ทำมาก แต่ได้น้อย”  

นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังต้องเผชิญบริบทต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร การขยายตัวของความเป็นเมือง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกระแสการเติบโตแบบสีเขียว (Green Growth) หรือการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งด้วยบริบทต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ประเทศไทย รวมถึงภาคเกษตร จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยในปี 2564 รัฐบาล ได้เห็นชอบให้ BCG Model หรือการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นวาระแห่งชาติ 


แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนำเอาความรู้และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร หรือที่เรียกว่า “ทำน้อย แต่ได้มาก” เพื่อสร้างรายได้  ให้แก่เกษตรกร ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ผลผลิตสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 


การพลิกโฉมเกษตรไทย (Disruptive Change) ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องวางเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาให้ชัดเจน โดยเน้นการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และ รายได้สูง ซึ่งประสิทธิภาพสูง คือการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับผลผลิตเกษตร  มาตรฐานสูง ด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพผลผลิต โภชนาการ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม  และ รายได้สูง ด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นความเป็นพรีเมียม มีความหลากหลาย และกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร เพื่อเป้าหมายให้การทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคง

 
หากจะมองแนวทางการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกโฉมภาคการเกษตร ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเริ่มจาก B คือ Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ด้วยแนวคิด “สร้างมูลค่า (Value Creation)” การจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรเหล่านี้ได้  ประการแรก ต้องพัฒนาและยกระดับการผลิตเกษตรมูลค่าสูง โดยปรับโครงสร้างการผลิตจากผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย (More for Less) ไปสู่การผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก (Less for More) ด้วยการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มูลค่าเพิ่มสูง  มีการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ โดยส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลสินค้าได้ตลอดกระบวนการ และการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น อาทิ สมุนไพรแปรรูป ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้โปรตีนทางเลือก อาหารทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน (Functional food) อุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ การผลิตสารสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ และสารออกฤทธิ์ (Active Ingredient) จากวัตถุดิบทางธรรมชาติ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป  


C คือ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำแนวคิด “ของเสีย/ขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste)” ซึ่งภาคเกษตรถือเป็นแหล่งผลิตขยะธรรมชาติที่มีปริมาณมาก และก่อให้เกิดปัญหาในการทำลาย ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพ (Zero Waste) โดยการบริหารจัดการของเสีย ขยะจากฟาร์ม แปลงเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อหยุดการเผาในพื้นที่เกษตรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้ซ้ำ ส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดการเผา  รวมทั้งการส่งเสริมการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์หรือพลังงานเชื้อเพลิง โดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ เช่น ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร บล็อคกันความร้อนหรือผนังดูดซับเสียงจากฟางข้าว รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ผลผลิตของเหลือ หรือผลพลอยได้ทางการเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปวัสดุทางการเกษตร เป็นต้น  


 G คือ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว โดยนำแนวคิด “สมดุลและยั่งยืน (Balance & Sustainability)” ซึ่งการทำการเกษตรที่ผ่านมา มีการนำทรัพยากรมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยและใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ กระบวนการผลิตที่นำสารเคมีและปุ๋ยมาใช้ในปริมาณมากเกินไป ซึ่งการจะทำให้ภาคเกษตรมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเกษตรสีเขียว และใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องสร้างความสมดุลและยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรทางการเกษตร สร้างกลไกการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ในระดับท้องถิ่น อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ทรัพยากรทางการเกษตรอย่างสมดุล ส่งเสริมการผลิตและบริโภคสินค้าเกษตรที่รักษาระบบนิเวศและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้เกิดการเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภค อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งการมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุนรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ  มีการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีความปลอดภัย โดยบริหารจัดการการใช้สารเคมีในภาคเกษตรทั้งระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล อาทิ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และประการสุดท้าย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยส่งเสริมการหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการตลาดสำหรับสินค้าคาร์บอนต่ำ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission  


“การจะร่วมกันพลิกโฉมเกษตรไทย ด้วยแนวคิด BCG พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน บูรณาการร่วมกันในระดับพื้นที่ การใช้ตลาดนำการผลิต รู้จักนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มผลิตภาพและศักยภาพการผลิต ที่สำคัญต้องร่วมกันใช้วิกฤตมาสร้างโอกาส จากกระแส Disruption  / Digital Transformation ให้เป็นความท้าทาย จุดประกายศักยภาพ พลิกโฉมภาคเกษตรไทย ผ่านแนวคิด BCG เพื่อนำพาประเทศก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรม เกษตรมูลค่าสูง และยกระดับเกษตรกรสู่อาชีพเกษตรกรรมแห่งอนาคตที่สมบูรณ์แบบไปพร้อมกัน” เลขาธิการ สศก. กล่าว